ReadyPlanet.com


เรื่องโฉนดที่ดินของยายมีชื่อแม่ผมห้อยอยู่ด้วย


ผมต้องการรู้ว่า โฉนดที่ดิน(ของคุณยาย)ที่คุณยาย ให้มีชือของคุณเเม่ผมห้อยอยู่ด้วย เเต่ตอนนี้เเม่ของผม รู้สึกว่าจะทะเลาะกับคุณยายเนื่องจากเเม่ติดการพนัน เเม่สามารถทำอะไรกับที่ดิน ที่มีชื่อเเม่ห้อยอยู่ได้หรือเปล่า (คุณยายยังมีชีวิตอยู่) เเละคุณยายจะสามารถถอนชื่อเเม่ออกจากใบโฉนดหรือเปล่า        

ถ้าข้อมูลน้อยเกินไปขอโทษทีนะคับผมไม่ค่อยรู้เรื่องผมพึ่งอายุ 14 ตอบด้วยคับ



ผู้ตั้งกระทู้ 111 :: วันที่ลงประกาศ 2013-04-24 22:51:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2358738)

โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชน โฉนดที่ดินมีชื่อคุณยานและแม่ร่วมกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมสันนิษฐานว่า ทั้งสองคนมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน คุณยายไม่มีสิทธิเอาชื่อแม่ออก เว้นแต่จะเป็นการถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2013-05-19 11:22:18


ความคิดเห็นที่ 2 (2358739)

โฉนดมีชื่อใครถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2115/2551

 
          โฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 เมื่อโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยกับพี่น้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยกับพี่น้องมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
 
________________________________
 
          โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมอบอำนาจให้นายอเนกฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4378 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยร่วมกันยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวเป็นของแต่ละคนโดยให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับที่ดินส่วนที่แบ่งแยกออกมาคนละส่วน ที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกตกเป็นของจำเลย ตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยร่วมกันนำชี้เขตให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขต เมื่อทำการรังวัดเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานนักให้โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยมารับรองการรังวัด แต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อรับรอง จึงไม่สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ ต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทำบันทึกขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเป็นขอรังวัดสอบเขตรอบแปลงเพื่อทราบเนื้อที่ดินที่แท้จริงก่อนที่จะขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อไปแต่จำเลยไม่มาติดต่อเพื่อทำการรังวัดให้เสร็จสิ้น โจทก์ทั้งเจ็ดพยายามติดต่อให้จำเลยไปดำเนินการรังวัดต่อให้เสร็จ แต่จำเลยเพิกเฉยทั้งยังร่วมกับบริวารพยายามรุกล้ำเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์เกินส่วนของตนขอให้บังคับจำเลยร่วมกับโจทก์ทั้งเจ็ดไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 4378 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ออกเป็น 7 แปลง โดยให้รังวัดสอบเนื้อที่ดินที่แท้จริงก่อน หากมีจำนวนเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจากเนื้อที่ดินตามโฉนดก็ให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเฉลี่ยไปตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกคนตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 19 ที่ยื่นเข้ามาใหม่ตามคำร้องขอแก้ไขฟ้องลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 โดยเสียค่าธรรมเนียมคนละเท่าๆ กัน ให้โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 1 โจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 3 โจทก์ที่ 3 รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 4 โจทก์ที่ 4 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 5 โจทก์ที่ 5 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 7 โจทก์ที่ 6 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 8 โจทก์ที่ 7 ได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 6 และจำเลยได้รับส่วนแบ่งแปลงหมายเลข 2 ที่เหลือ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การว่า เดิมจำเลย นางชุบ นายวัฒนา และนายอุดม เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาทโดยตกลงแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนตลอดมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นางชุบ และนายอุดมไม่เคยมายุ่งเกี่ยวกับที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครอง ต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดซื้อที่ดินพิพาทจากนางชุบ นายวัฒนา และนายอุดม โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมได้สิทธิในที่ดินตามที่นางชุบ นายวัฒนา และนายอุดมครอบครอง โจทก์ทั้งเจ็ดจะเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินที่จำเลยครอบครองไม่ได้ เหตุที่จำเลยไม่รับรองการรังวัดของเจ้าพนักงานเพราะรังวัดไม่ตรงกับแนวเขตที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองตามที่จำเลยนำชี้ จำเลยไม่เคยตกลงว่าจะทำการรังวัดต่อไปจนเสร็จแต่มีความประสงค์ขอให้รังวัดสอบแนวเขตใหม่ แต่เจ้าพนักงานไม่ยอมออกไปทำการรังวัด จำเลยจึงไม่ติดใจขอรังวัดสอบเขต จำเลยและบริวารไม่ได้รุกล้ำหรือพยายามรุกล้ำเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์เกินส่วนของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 6 ถึงแก่ความตาย นางนิดาทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 6 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 4378 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร กับโจทก์ทั้งเจ็ดให้เป็นไปตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 โดยให้โจทก์ที่ 1 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 1 และแปลงที่ 7 ส่วนที่ติดกับแปลงที่ 6 รวมเนื้อที่ 136  ตารางวา โจทก์ที่ 2 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 3 และที่ 4 โจทก์ที่ 3 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 5 โจทก์ที่ 4 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 6 โจทก์ที่ 5 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 8 โจทก์ที่ 6 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 9 โจทก์ที่ 7 ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 7 ส่วนที่ติดกับแปลงที่ 8 เนื้อที่ 36  ตารางวา และให้จำเลยได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 2 หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ที่ 1 และที่ 7 หากตกลงกันไม่ได้ ให้เอาที่ดินส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 7 ได้รับออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งเจ็ด โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์
          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่ความตายนางสาวบุญนำทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมอบอำนาจให้นายอเนกฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4378 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา แต่ภายหลังเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำแผนที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 สามารถรังวัดเนื้อที่ดินได้เพียง 3 ไร่ 50 ตารางวา โดยจำเลยมีกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 งาน 75  ตารางวา...

          พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินแปลงที่ 3 ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 เป็นของจำเลยด้วยหรือไม่ได้ความจากสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 4378 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2493 นางชุบ นายวัฒนา นางสาวสำอาง ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยในขณะนั้น และเด็กชายอุดม ได้รับโอนมรดกมาจากนางบาง โดยมิได้ระบุจำนวนสัดส่วนที่แต่ละคนได้รับจำเลยและผู้ได้รับมรดกดังกล่าวต่างเป็นบุตรของนางบาง จึงเป็นทายาทในลำดับเดียวกันย่อมต้องได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของนางบางเท่ากัน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1633 บัญญัติไว้ หากจำเลยได้รับมรดกที่ดินมากกว่าพี่น้องคนอื่นดังที่จำเลยกล่าวอ้างจริง ก็น่าจะแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดบันทึกไว้ในสารบัญจดทะเบียนด้วย แต่ก็หาได้มีการจดแจ้งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานไม่ โฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 4378 เป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 เมื่อโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อนางชุบนายวัฒนา และจำเลยเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยกับพี่น้องมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ 3 ด้วย โดยมีนางวนิดา และนางชุบมาเบิกความสนับสนุนนั้น แม้จะรับฟังว่าจำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ 3 จริง แต่คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยครอบครองที่ดินแปลงที่ 3 ด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ ดังนั้นแม้จำเลยจะครอบครองมานานเพียงใด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ นอกจากนี้ข้อนำสืบของจำเลยก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยได้รับมรดกที่ดินมาเป็นจำนวนเนื้อที่ดินเท่าไร พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียง 1 ใน 4 และได้ความว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4378 ที่มีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา สิทธิ 1 ใน 4 ของจำเลยย่อมเท่ากับ 340 ตารางวา ส่วนนางชุบ นายวัฒนา และนายอุดมมีสิทธิในที่ดินรวมกัน 1,020 ตารางวา หรือ 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา แต่นางชุบ นายวัฒนา และนายอุดม ได้ขายที่ดินในส่วนของตนและโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนเจ้าของต่อๆ มา จนกระทั่งโอนมายังโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวมกัน 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ตามสิทธิที่นางชุบ นายวัฒนา และนายอุดมมีอยู่นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2509 จำเลยยังโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของตนตามคำสั่งศาลให้แก่นายถาวร 40 ใน 300 ส่วนแล้วนายถาวรขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นและโอนขายต่อๆ มายังโจทก์ที่ 7 โจทก์ที่ 7 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของจำเลยที่ขายให้แก่นายถาวรด้วย แต่ไม่ปรากฏจากทางพิจารณาว่า 300 ส่วนนั้น มีความหมายอย่างไรแต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินที่จำเลยได้รับโอนมรดกจากนางบางมีเพียง 1 ใน 4 หรือ 340 ตารางวา คำว่า 300 ส่วนย่อมต้องหมายถึงที่ดิน 340 ตารางวาด้วย เมื่อจำเลยโอนให้นายถาวรไปแล้ว 40 ส่วน จำเลยจึงเหลือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียง 260 ส่วน หรือเท่ากับ 294  ตารางวา ส่วนนายถาวรได้รับกรรมสิทธิ์ 45  ตารางวา ภายหลังโจทก์ทั้งเจ็ดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เมื่อนำมารวมกับที่ดินจำนวน 2 ไร่ 2 งาน ตารางวา ที่โจทก์ทั้งเจ็ดถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4378 รวมกันทั้งสิ้น 2 ไร่ 2 งาน 65  ตารางวา แต่ปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อจัดทำแผนที่พิพาทสามารถรังวัดเนื้อที่ดินได้เพียง 3 ไร่ 50 ตารางวา มีเนื้อที่ดินหายไป 110 ตารางวา โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยย่อมต้องได้รับเนื้อที่ดินน้อยลงเฉลี่ยกันไปตามอัตราส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเมื่อคำนวณทางคณิตศาสตร์แล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้รับเนื้อที่ดินน้อยลง 86  ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ดินตามความเป็นจริง 2 ไร่ 1 งาน 79  ตารางวา ส่วนจำเลยจะได้รับเนื้อที่ดินน้อยลง 23  ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ดินตามความเป็นจริง 270  ตารางวา จำนวนเนื้อที่ดินจำเลยคงเหลืออยู่ใกล้เคียงกับจำนวนเนื้อที่ดินแปลงที่ 2 ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่ 3 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในประเด็นอื่นของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ - วิเชียร มงคล - เอกชัย ชินณพงศ์ )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-05-19 11:22:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล