
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1
-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE
ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินสอดสร้อยคอทองคำรวม 40,300 บาทแก่โจทก์ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 40,300 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบ แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2545
นาย คำตา มาลา กับพวก โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินสอดแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 5,300 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 40,300 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า เงินจำนวน 35,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นเพียงเงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 3 มิใช่เป็นค่าสินสอด โจทก์ทั้งสามไม่อาจเรียกคืนได้นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาให้ได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์ที่ 3 ไปสู่ขอจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 17 ปีเศษ และเป็นบุตรจำเลยที่ 2และที่ 3 เพื่อให้สมรสกับโจทก์ที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกสินสอดเป็นเงิน 35,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 5,300บาท กับเรียกของหมั้นเป็นเงิน 5,000 บาท และในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์ได้มอบของหมั้นเป็นเงิน 5,000 บาท ให้ฝ่ายจำเลยไปแล้ว ต่อมามีการจัดงานแต่งงานระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยที่ 3 ฝ่ายโจทก์ได้มอบเงินสินสอดจำนวน 30,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา5,300 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลย และฝ่ายโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานดังกล่าวไปรวมเป็นเงิน 30,000 บาท แต่หลังจากงานแต่งงาน จำเลยที่ 3ไม่ยอมร่วมหลับนอนและไม่ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ไปให้ความยินยอมในการจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นการผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายโจทก์จึงทวงถามให้คืนของหมั้นและสินสอด แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินสินสอด 30,000บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 5,300บาท แก่ฝ่ายโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดงานสมรสแก่ฝ่ายโจทก์ 30,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 คืนของหมั้นแก่โจทก์เป็นเงิน5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 3 คืนให้ไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระแทน
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในวันสู่ขอฝ่ายโจทก์ได้จ่ายเงิน 5,000 บาทให้เป็นเงินมัดจำสินสอดเท่านั้นโดยไม่มีการหมั้น และในวันแต่งงานฝ่ายโจทก์
ได้มอบสินสอดที่ค้างชำระให้อีก 30,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 5,300 บาท โจทก์ที่ 3 ไม่ได้กำหนดนัดจำเลยที่ 3 ให้ไปจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจให้ความยินยอมในการสมรส หลังจากแต่งงานแล้วจำเลยที่ 3 กับโจทก์ที่ 3 ไปพักอาศัยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาที่บ้านของฝ่ายโจทก์เป็นเวลาเดือนเศษ แต่โจทก์ที่ 3 มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจไม่อาจร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 3จึงกลั่นแกล้งหาเหตุขับไล่จำเลยที่ 3 ออกจากบ้านกลับไปอยู่กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามเดิม จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ต้องคืนสินสอดตามฟ้อง การสมรสไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องจัดงานเลี้ยงเพียงแต่จดทะเบียนสมรสก็สมบูรณ์แล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกี่ยวกับการสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสาม 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 5,300 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินสอดเป็นเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 5,300 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง40,300 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยตกลงสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีการหมั้น และเงินจำนวน 35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นสินสอดที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อไม่มีการสมรส โดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องรับผิดชอบจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนสินสอดดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าเงินจำนวน 35,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นเพียงเงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ที่ 3 มิใช่เป็นเงินค่าสินสอด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมิได้ประสงค์จะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกันแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกคืนได้ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาโจทก์ทั้งสามได้"
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้ยกฎีกาโจทก์ทั้งสาม คงให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
( ดวงมาลย์ ศิลปอาชา - อำนวย เต้พันธ์ - ประเสริฐ เขียนนิลศิริ )
ป.วิ.พ.
มาตรา 224 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง
มาตรา 242 เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนความและฟังคู่ความทั้งปวง หรือสืบพยานต่อไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา 240 เสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์โดยประการใดประการหนึ่งในสี่ประการนี้
(1) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์
(2) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง ไม่ว่าโดยเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น ก็ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น
(3) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำชี้ขาดของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย และพิพากษาในปัญหาเหล่านั้นใหม่
(4) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกแต่บางส่วน และผิดบางส่วน ก็ให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับนั้น
มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งจะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้น