สามีไม่จดทะเบียนสมรสขอถอนผู้จัดการมรดก มีกรรมสิทธิ์รวม
สามีไม่จดทะเบียนสมรสขอถอนผู้จัดการมรดก มีกรรมสิทธิ์รวม สามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสสามารถยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้หรือไม่?? ในเรื่องการถอนผู้จัดการมรดกนั้น สามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าสามีของผู้ตายเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่การที่จะยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกนั้นจะต้องมีเหตุตามกฎหมายด้วย กล่าวคือผู้จัดการมรดกไม่กระทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้จัดการมรดกได้ ส่วนการที่ผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินและเบิกถอนเงินฝากในธนาคารในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกนั้น สามีในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเงินและที่ดินดังกล่าวด้วย การกระทำของผู้จัดการมรดกจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของสามี สามีก็ชอบที่จะฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นอีกคดีอื่น เหตุผลและข้ออ้างของสามีจึงไม่ใช่เหตุที่ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกและถอนผู้จัดการมรดกได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2548 การที่โจทก์อ้างว่าเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. เจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. แล้ว การที่โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้นั้น กรณีจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร ข้ออ้างที่โจทก์ว่าจำเลยโอนที่ดินและเบิกถอนเงินฝากในธนาคารไปอย่างรีบร้อนและไม่จำเป็น ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโจทก์และเจ้ามรดกทำมาหาได้ร่วมกัน แม้เป็นจริงดังอ้างก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เท่านั้น โจทก์ชอบที่จะฟ้องเป็นคดีได้ต่างหากอยู่แล้ว ส่วนการที่อ้างว่าจำเลยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้นทรัพย์มรดกต่าง ๆ ก็มีระบุไว้ในพินัยกรรมแล้ว กรณีดังนี้หาใช่เหตุที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเหตุอื่นอันสมควรให้ศาลสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่. โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางสาวสุมาลัยและขอให้ถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุมาลัย ศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางสาวสุมาลัยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 144/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอบังคับที่ขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางสาวสุมาลัยจึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว และรับฟ้องเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอบังคับที่ให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุมาลัยเท่านั้น ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์กับนางสาวสุมาลัยอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นางสาวดาริณีและนางสาวกุลพรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วไม่ใช่บุตรของโจทก์หรือนางสาวสุมาลัย โจทก์และนางสาวสุมาลัยนำมาเลี้ยงดูและให้การศึกษา โดยไม่ได้จดทะเบียนรับบุคคลดังกล่าวเป็นบุตรบุญธรรม ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสุมาลัยเจ้ามรดก และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุมาลัยแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก กรณีจึงต้องมีเหตุตามกฎหมายคือผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยโอนที่ดินและเบิกถอนเงินฝากในธนาคารไปอย่างรีบร้อนและไม่จำเป็น ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโจทก์และเจ้ามรดกทำมาหาได้ร่วมกันนั้น แม้เป็นจริงดังอ้างก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เท่านั้น โจทก์ชอบที่จะฟ้องเป็นคดีได้ต่างหากอยู่แล้ว ส่วนการที่อ้างว่าจำเลยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้น ทรัพย์มรดกต่าง ๆ ก็มีระบุไว้ในพินัยกรรมแล้ว กรณีดังนี้หาใช่เหตุที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเหตุอื่นอันสมควรให้ศาลสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
|