อายุความฟ้องขอเลิกรับบุตรบุญธรรม อายุความฟ้องขอเลิกรับบุตรบุญธรรม-มิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี ปัญหาว่าอายุความจะเริ่มนับเมื่อใด คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่? เห็นว่าจำเลยซึ่งจงใจละทิ้งโจทก์ได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงหลายปีแล้วโดยไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลยการจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน ตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมก็ยังคงมีอยู่อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี แล้วโจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2552 มาตรา 1598/34 ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้นหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์ถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 จำเลยจงใจละทิ้งโจทก์ ขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์และนางอาภาภรณ์ ผู้รับบุตรบุญธรรมถูกจำเลยทิ้งร้างตั้งแต่แรกรับบุตรบุญธรรมเป็นระยะเวลา 9 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในความอุปการะของโจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์ช่วงระยะเวลาหนึ่งและจำเลยได้จงใจละทิ้งโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายคำฟ้องปรากฏว่าผู้รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมนั้น คือ โจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาของโจทก์ จำเลยไม่ได้โต้แย้งเรื่องความสมบูรณ์ถูกต้องของการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม โจทก์จึงเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของนางอาภาภรณ์ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมให้นางอาภาภรณ์รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้โจทก์และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้จงใจละทิ้งโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการใช้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้ตาม อุทธรณ์ของโจทก์ไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยซึ่งจงใจละทิ้งโจทก์ได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 โดยไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลยการจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน ตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมก็ยังคงมีอยู่อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี แล้วโจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/34 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน” พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นนี้ให้เป็นพับ ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8608/2557 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เผยแพร่เมื่อ: 28 พ.ค. 2558 16:01:00 คำพิพากษาย่อสั้น การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม คำพิพากษาย่อยาว คดีสืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เคยรับเลี้ยงดูเด็กชาย ต. ผู้เยาว์ยื่นคำฟ้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้เยาว์เลิกจากการเป็นบุตรบุญธรรมของจำเลยทั้งสอง และให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์อีกต่อไป ต่อมาโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีสาระสำคัญว่า จำเลยทั้งสองอนุญาตให้โจทก์รับผู้เยาว์ไปพักอาศัยที่บ้านโจทก์ได้โดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ต้องไม่ทำให้กระทบกระเทือนการเรียนของผู้เยาว์ หากฝ่ายใดผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายครั้งละ 10,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ยอมให้ผู้เยาว์ไปพักกับโจทก์และยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำขอของจำเลยทั้งสองที่ขอออกหมายบังคับคดี จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูผู้เยาว์มาตั้งแต่เกิดเนื่องจากมารดาผู้เยาว์ฝากโจทก์เลี้ยงดู ต่อมาบิดามารดาผู้เยาว์ทอดทิ้งผู้เยาว์ โจทก์และสามีจึงเลี้ยงดูผู้เยาว์จนถึงอายุ 4 ปี โจทก์เห็นว่าผู้เยาว์จะต้องเข้าโรงเรียน จึงปรึกษาจำเลยทั้งสองเพื่อให้ผู้เยาว์ได้เรียนหนังสือ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม และศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดา จำเลยทั้งสองจึงจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้ผู้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองขอออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับมาเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายบังคับคดีที่ออกมาก็ไม่สามารถใช้บังคับคดีได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
|