ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ

หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ

ข้อ 7. นายหนึ่ง นายสอง นายสามและนายสี่ ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย โดยนายหนึ่งและนายสองลงหุ้นคนละ 100,000 บาท ไม่จำกัดความรับผิด ส่วนนายสามและนายสี่ลงหุ้นคนละ 200,000 บาท จำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดมี นายหนึ่งและนายสอง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีรายการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ โดยได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วว่า "นายหนึ่งและนายสอง ลงลายมือชื่อร่วมกัน จึงจะมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วน" ต่อมา ในวันที่ 21 กันยายน 2546 นายหนึ่งและนายสอง ต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงได้มอบอำนาจให้นายสาม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เข้าจัดกิจการงานในห้างแทนตนเป็นเวลา 10 วันในวันที่ 25 กันยายน 2546 นายสามในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก นายหนึ่งและนายสอง ได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อซื้อขายสินค้าจากนายเอ จำนวน 1,000,000 บาท และในวันที่ 26 กันยายน 2546 นายสี่ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนเพื่อซื้อสินค้าจากนายบี จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อนายหนึ่งและนายสอง กลับมาจากต่างประเทศก็ได้รับเอาสัญญาที่นายสาม ทำไว้แทนห้างหุ้นส่วน แต่ไม่ยอมรับเอาสัญญาที่นายสี่ ทำไว้ เช่นนี้หาก นายเอและนายบี ได้เรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ให้วินิจฉัยว่า นายเอ และนายบีจะเรียกให้บุคคลใดรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

 การที่นายสาม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เขัาจัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 แม้ว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานดังกล่าวจะทำ โดยได้รับมอบอำนาจก็ตาม นายสาม จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯโดยไม่จำกัดจำนวน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 691/2524)

เมื่อนายสาม ได้รับมอบอำนาจ โดยถูกต้องให้เข้าทำสัญญา สัญญาซึ่งนายสาม ทำไว้กับนายเอ จึงมีผลผูกพันห้างฯ เมื่อห้างฯผิดนัด นายเอ จึงเรียกให้ห้างฯในฐานะคู่สัญญา รวมทั้ง นายหนึ่งและนายสอง ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และนายสามในฐานะหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ที่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ร่วมกันรับผิดได้ตามมาตรา 1070 ประกอบกับมาตรา 1080

นายสี่ เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ไม่มีอำนาจจัดการงานให้ผูกพันห้างฯ อีกทั้งนายบี ก็ทราบถึงรายการเกี่ยวกับอำนาจจัดการซึ่งได้จดทะเบียนไว้ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพราะรายการดังกล่าวได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าทุกคนทราบถึงข้อความดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1022 ดังนั้นสัญญาซึ่งนายสี่ ได้กระทำขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันห้างฯ นายบี ไม่สามารถเรียกให้ห้างฯรับผิด แต่เรียกให้นายสี่ รับผิดเป็นส่วนตัวได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1088 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้ เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับใน การตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วน นั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน นั้นไม่

มาตรา 1070 เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 1080 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิ ได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นวิธีบังคับในความ เกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็น หุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน

มาตรา 1022 เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดา เอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียน อันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วน หรือด้วยบริษัทนั้นหรือที่ไม่เกี่ยวข้อง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2524

จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งต่อมาได้เลิกกิจการ จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน89,248 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1ฎีกาว่าจำเลยลงชื่อในฐานะตัวแทนนิติบุคคล ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมหาดใหญ่และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ร่วมกันลงชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมหาดใหญ่ได้เลิกแล้ว โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี และปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมหาดใหญ่จะต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองลงชื่อสั่งจ่ายเช็คนั้นในฐานะตัวแทนก็ตามแต่จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วน แต่เข้าไปลงชื่อในเช็คอันเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมหาดใหญ่ จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ฉะนั้นโจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ได้"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2541

การเป็นนิติบุคคล และอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม แก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของ จำเลยที่ 2 หรือไม่ และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของ จำเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากร จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวกรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 89

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสำเนารายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.15 โดยมิได้กรอกข้อความเพื่อให้นายประพจน์ นุชวานิช หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมของจำเลยที่ 1ถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนและให้ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เลิกกันนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 เป็นหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1021 และ 1022 หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารมหาชนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างจากโจทก์ บันทึกการปิดหมายเรียกหน้าสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ชอบที่ศาลจะยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 บัญญัติว่า"เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่" คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจำเลยที่ 2 หรือไม่และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070และ 1077 กรณีไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2066/2545

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เป็นผู้ติดต่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศและได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้สั่งจ่ายเช็คได้ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1ด้วย โดยทำในนามของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2537 ถึงกลางเดือนมกราคม 2538จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งเครื่องสำอางไปยังประเทศสหพันธรัฐรัสเซียโดยสายการบินโซเวียตรวม 2 ครั้ง ครั้งหนึ่ง น้ำหนัก 1,271กิโลกรัม อัตรากิโลกรัมละ 61 บาท เป็นค่าระวางกับค่าบำเหน็จ 77,531 บาท และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 77,631 บาท โจทก์ดำเนินการตามข้อตกลงจนเสร็จและส่งใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว ครั้งที่สองน้ำหนัก3,203.50 กิโลกรัม อัตรากิโลกรัมละ 61 บาท เป็นค่าระวางกับค่าบำเหน็จ 195,414บาท และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 195,514 บาท โจทก์ดำเนินการตามข้อตกลงจนเสร็จและส่งใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 273,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2538 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบแจ้งหนี้ฉบับสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 101,924.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 375,069.24 บาท

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน273,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเป็นตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 เคยว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อโจทก์ส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปยังต่างประเทศ โจทก์จะต้องทดรองจ่ายเงินค่าระวาง ค่าบำเหน็จ และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน แล้วส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1ในภายหลัง ต่อมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2537 ถึงกลางเดือนมกราคม 2538จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งเครื่องสำอางไปยังประเทศสหพันธรัฐรัสเซียรวม 2 ครั้ง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนายชัยณรงค์ สนธิปรีชากุล เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า ก่อนส่งสินค้าพิพาทในคดีนี้ พยานซึ่งมีหน้าที่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งไปยังต่างประเทศได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1ไว้เรียบร้อยก็ตาม แต่นายชัยณรงค์ก็เบิกความตอบคำซักถามของทนายโจทก์ว่า ก่อนคดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ดำเนินธุรกิจดังกล่าวมา 3 ถึง 4 ปี แล้ว และเบิกความตอบคำถามติงว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินโจทก์จะนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นก่อน โดยโจทก์มีนางสาวดวงเดือน จรัสรุ่งนิภากุล พนักงานบัญชีของโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ในทางปฏิบัติของโจทก์หลังจากได้รับชำระหนี้แล้วโจทก์จะเอาจำนวนหนี้ที่นำมาชำระไปหักทอนกับหนี้ที่ค้างชำระก่อน เมื่อพยานตรวจสอบทางบัญชีแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้จำนวน 273,145 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นลูกหนี้พร้อมนำตราสำคัญของจำเลยที่ 1มาประทับด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะถูกหลอกลวงดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาทั้งจำเลยที่ 3 ก็มิได้มาเบิกความโต้แย้งให้เห็นเป็นเช่นนั้น เมื่อบันทึกดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่า จำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ค้างชำระมาก่อนจริง และมีข้อตกลงไว้ด้วยว่า ให้แยกหนี้ตามใบแจ้งหนี้ที่ 412 อี 01244 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2537เงินจำนวน 77,671 บาท และหนี้ตามใบแจ้งหนี้ที่ 501 อี 00510 ลงวันที่ 9มกราคม 2538 เงินจำนวน 195,514 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 273,145 บาทออกจากหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดก่อนเพื่อตรวจสอบเอกสารและหลักฐานทางบัญชีเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันภายหลัง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 273,145 บาทเพียงแต่ขอให้โจทก์ตรวจสอบอีกครั้งว่าตามที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปแล้วนั้น โจทก์นำไปหักกลบลบหนี้ตามใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2ก็เบิกความยอมรับว่าหากมีหนี้ค้างชำระจริงก็เป็นเงินประมาณ 300,000 บาทคำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 273,145 บาท จึงต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เป็นผู้ติดต่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศและได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้สั่งจ่ายเช็คได้อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ที่กระทำในฐานะลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจเอกสารหมาย จ.10 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ด้วยโดยทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ตามพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้
ลำดับส่วนแบ่งมรดกระหว่างคู่สมรสกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ การละเมิดลิขสิทธิ์
สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่น
ที่งอกริมตลิ่ง สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิทธิไล่เบี้ย
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา
ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด