ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์

ลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์

ข้อ 6. นายแหลม ทราบว่า นายชาย ลูกจ้างขับรถยนต์ส่งน้ำมันของบริษัทค้าน้ำมันแห่งหนึ่งชอบลักลอบเอาน้ำมันของบริษัทไปขายในราคาถูกในระหว่างนำน้ำมันไปส่งตามจุดต่าง ๆ นายแหลม จึงติดต่อขอซื้อน้ำมันจากนายชาย เมื่อนายชาย นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันมาจอดบริเวณจุดนัดพบซึ่งอยู่ในเส้นทางที่จะนำน้ำมันไปส่ง นายชาย ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งปิดฝาน้ำมันแล้วเปิดฝาน้ำมันออก จากนั้นใช้หลอดยางดูดน้ำมันออกมาจากถังลงสู่ภาชนะที่ นายแหลม เตรียมไว้ น้ำมันที่ซื้อไหลลงถังได้ไม่กี่หยดเนื่องจากในหลอดดูดมีฟองอากาศ นายเบิ้ม พนักงานของบริษัทดังกล่าวได้ตามมาพบ นายชายวิ่งหลบหนีไป ส่วนนายแหลมได้ชกใบหน้าของนายเบิ้ม จนปากแตกเพราะกลัวว่าจะถูกจับกุม แล้วหลบหนีไป

ให้วินิจฉัยว่า นายชาย และนายแหลมมีความผิดฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

นายชาย เป็นลูกจ้างของบริษัทมีหน้าที่ขับรถบรรทุกนำน้ำมันไปส่งให้ลูกค้าตามจุดต่างๆ ความครอบครองในน้ำมันยังอยู่ที่บริษัทนายจ้าง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 229/2510) การที่นายชายนำน้ำมันไปขายแม้น้ำมันจะไหลลงสู่ภาชนะของนายแหลมผู้ซื้อเพียงไม่กี่หยด ก็เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว เมื่อการลักน้ำมันดังกล่าวของนายชายได้ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาน้ำมันเพื่อเปิดฝาน้ำมันออก เป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ และเมื่อน้ำมันที่ลักเป็นของนายจ้างจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3), (11) วรรคสอง

นายแหลมไม่เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการลักทรัพย์ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1082/2549) แต่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ดังนั้น การที่นายแหลมใช้กำลังประทุษร้ายนายเบิ้มเพื่อมิให้ถูกจับกุมอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานรับของโจร การกระทำของนายแหลม ย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามมาตรา 295 ด้วย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 335 "ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะ อื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัย โอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัว ภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทาง คนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วย ประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สอง คนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานที่จอดรถ หรือเรือสาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยาน สาธารณ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มา จากการกสิกรรมนั้น

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะ ดังที่บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา ดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุ มาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้นมีราคา เล็กน้อยศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้"

มาตรา 357 "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระ ทำความผิดถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีด เอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกหรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจรต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไร หรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์ อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตาม มาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่น บาทถึงสามหมื่นบาท"

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2510

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาลฯ บรรทุกคนงานไปทำการล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนล้างท่อและซ่อมท่อจำเลยมีหน้าที่เพียงดูแลรักษารถยนต์และน้ำมันเท่านั้น เทศบาลมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใดฉะนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในถังของรถยนต์นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันดูดเอาน้ำมันเบนซินไปจากถังรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วนำเอาน้ำมันนั้นไปขายให้จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11) จำเลยที่ 3 รับไว้โดยรู้ ก็ต้องมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2510)

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาลนครกรุงเทพ บรรทุกคนงานล้างท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนงานล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2507 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจลักน้ำมันเบนซินจำนวน 2 กระป๋องราคา 11.50 บาท โดยใช้สายปลาสติกดูดลักเอาไปจากถังน้ำมันรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้บังอาจรับเอาน้ำมันเบนซิน 2 กระป๋องนั้นโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11), 83, 357 กับขอให้สั่งคืนของกลางแก่ผู้เสียหายและขอให้ริบท่อปลาสติกของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อหา

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพมีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกรับส่งคนงานไปทำการล้างท่อเมื่อจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์ก็เห็นได้ในตัวว่าจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันรถยนต์ด้วย เพราะอยู่ในหน้าที่ความครอบครองของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 บังอาจร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันเช่นเดียวกันดูดเอาน้ำมันรถยนต์ไปโดยทุจริตเช่นนี้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ และการที่จำเลยที่ 3 รับซื้อไว้ก็หาใช่โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการยักยอกข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาจึงต่างกับฟ้อง พิพากษายกฟ้องคืนของกลางให้แก่ผู้เสียหาย ริบสายปลาสติกของกลาง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผิดฐานลักทรัพย์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น และโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันเบนซินในรถยนต์ด้วยตามนัยฎีกาที่ 1092/2505 ก็จริงอยู่แต่จำเลยก็มีหน้าที่เพียงดูแลรักษาเท่านั้น เทศบาลนครกรุงเทพมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในรถยนต์ให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้นกรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในรถยนต์นั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ผิดฐานยักยอก ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลักเอาน้ำมันของเทศบาลนครกรุงเทพไปขายให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานรับของโจร

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า นายสมควรจำเลยที่ 1 และนายชมจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) และ (11)ให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้จำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2549

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 80, 83, 33 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก, 80 จำคุก 1 ปี คำให้การจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 รีบคีมของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก, 80, 86 จำคุก 8 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย มาจอดที่บ้านที่เกิดเหตุ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสองขณะจำเลยที่ 1 กำลังพยายามลักน้ำมันจากถังน้ำมันบนรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษมาหรือไม่ โจทก์นำสืบโดยมีร้อยตำรวจตรีสมศักดิ์ วงศ์พรหม เบิกความว่า พยานเป็นผู้จับกุมจำเลยทั้งสอง โดยพยานเห็นรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับแล่นเลี้ยวลงไปที่ถนนข้างทางตรงไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 พยานจึงลงจากรถไปแอบซุ่มดู เนื่องจากโดยปกติรถยนต์บรรทุกน้ำมันจะไม่จอดแวะที่ใดหากไม่ใช่สถานีบริการน้ำมัน พยานเห็นจำเลยที่ 1 ปีนรถขึ้นไปบนถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมัน โดยการใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันออก และขณะนั้นพยานพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุถือถังน้ำมันเดินมาจากข้างรถ เพื่อนำถังมารองรับน้ำมัน พยานจึงจับกุมจำเลยทั้งสองและแจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.2 เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจจะถือได้ว่าการที่จำลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้สะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ก่อนหรือขณะกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60(วิชากฎหมายอาญา ฯ)

ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของนิติบุคคล และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
การกระทำโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง
อำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ความผิดฐานฆ่าโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
การขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์