ReadyPlanet.com


ภาระจำยอมโดยอายุความ


ด้วยบ้านของดิฉันได้ใช้ทางสำหรับเดินเข้า - ออก และใช้รถวิ่งเข้า- ออก โดยผ่านที่ดินที่มีโฉนดของญาติคนหนึ่ง มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยที่ดินดังกล่าวนั้น เมื่อก่อนจะเป็นของปู่ และโอนให้พ่อ แต่ปัจจุบัน
ได้ตกเป็นของบุตรสาวแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ขณะที่ที่ดินดังกล่าวยังเป็นของปู่และพ่อ บ้านของดิฉันได้ทำการถมดินสำหรับเป็นทางรถ โดยใช้ดินลูกรังถมมา 2 ครั้งแล้ว แต่ไม่เกิดปัญหา แต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พ่อของดิฉันได้นำดินลูกรังมาถมเพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น ไม่เละเทะเนื่องจากสภาพถนนเมื่อฝนตกทำให้ถนนดังกล่าว ไม่สามารถนำรถเข้า - ออก ได้ โดยไม่ได้ขออนุญาตจากบุตรสาวผู้เป็นเจ้าของที่ดินคนปัจจุบัน เมื่อบุตรสาวดังกล่าวได้ทราบเรื่องว่า ครอบครัวของดิฉันได้ถมดินจึงได้แจ้งให้ญาตอีกคนหนึ่งนำรถแบคโฮมาขนดิน แต่ไม่มีใครกล้าทำ เพราะที่ดินที่เป็นทางเข้า - ออกดังกล่าว ครอบครัวของดิฉันได้ใช้มาโดยตลอดและทราบกันทั้งหมู่บ้าน ใครติดต่อกับครอบครัวของดิฉันก็ใช้เส้นทางนี้ เพราะไม่มีเส้นทางอื่นที่จะใช้เดินทางเข้าออกได้ ล้อมรอบโดยที่ดินของคนอื่นทั้งหมด และมีคูขนาดเล็กกั้นทุกด้าน ซึ่งครอบครัวของดิฉันได้รับการติดต่อจากบุตรสาวผู้เป็นเจ้าของที่ดินว่า ไม่ต้องการให้บ้านของดิฉันใช้ถนนเส้นดังกล่าว โดยบอกว่าจะให้เฉพาะทางเดิน หากเป็นทางสำหรับรถเข้า - ออก จะไม่ให้และจะขายในราคาแพงเท่านั้น
จึงขอถามดังนี้
1. การที่เราใช้เส้นทางดังกล่าวเข้า - ออก มาเป็นระยะเวลา 20 ปี แล้วโดยไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอม (เพราะเจ้าของปัจจุบันไม่ยอมจดให้)
จากที่ทราบ เราสามารถฟ้องร้องศาลให้เป็นภาระจำยอมโดยอายุความได้ อยากทราบว่าขั้นตอนดังกล่าวในทางปฏิบัติต้องทำอย่างไร เช่น จะต้องมีทนายความหรือไม่
2. ต่อเนื่องจากข้อ 1 หากเจ้าของที่ดินนำรั้วลวดหนามมากั้นทางเข้าออก จากที่ทราบเราขอให้ศาลไต่สวนกรณีฉุกเฉินได้ อยากทราบขั้นตอนในทางปฏิบัติด้วย
3. อยากทราบว่า ในกรณีที่เรานำดินมาถมเพื่อให้สภาพถนนดีขึ้น โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของที่ (หากเราจะขออนุญาตก็คิดว่าเขาไม่อนุญาตแน่นอน) เราจะมีความผิดหรือไม่ เขาสามารถนำรถแบคโฮมาขนดินออกจากถนนดังกล่าวได้หรือไม่
ขอความกรุณาท่านที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องช่วยให้คำตอบด่วนด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ คุณอารีวรรณ กัลยาณิมิตร :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-05 16:31:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1832277)

**ก่อนอื่นคุณบอกว่าคุณเป็นญาติกัน หากคุณใช้ทางผ่านโดยถือวิสาสะเพราะความเป็นญาตก็ไม่ได้สิทธิในภาระจำยอมนะครับ

**อย่าเพิ่งตกใจครับเพราะมันพิสูจน์อยากหากคุณมีความจำเป็นต้องใช้ทางผ่านในที่ดินแปลงนี้มาโดยตลอดแม้จะโอนกันกี่รอบหากไม่ได้มีการเสียค่าตอบแทนกันโดยสุจริตก็นับอายุความ 20 ปีตามที่คุณบอกมาได้

**แม้คุณจะได้สิทธิโดยอายุความตามกฎหมายแต่คุณต้องใช้ทางเท่าที่จำเป็นจะไปก่อภาระอย่างอื่นในที่ดินนั้นไม่ได้ครับ(เช่นไปถมดินหากเป็นการรบกวนการครอบครองก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถทำได้ครับ) ถ้าเจ้าของที่ดินที่คุณใช้เป็นทางผ่านเห็นว่าการที่คุณหรือพ่อคุณนำลูกลังไปลงแล้วเป็นการที่สำให้เจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายก็มีสิทธิห้ามคุณได้ครับ

**หากคุณต้องการที่จะจดทะเบียนสิทธิตามภาระจำยอมคุณฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่ต้องใช้ทนายแน่นอนครับ เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายค่อนข้างยุ่งยาก

**หากคุณได้ยื่นฟ้องต่อศษลก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินไปพร้อมๆกันได้เลยครับ

**ข้อ.3 ตอบไปแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น รอยเปลื้อน วันที่ตอบ 2008-09-05 21:37:07


ความคิดเห็นที่ 2 (1832371)

ในเรื่องภาระจำยอม กฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7828/2547

โจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่การใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใคร ก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 2.5 เมตร ยาว 6 เมตร เป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้สนและทำถนนที่จำเลยขุดออกให้โจทก์เดินได้ตามปกติ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อและทำถนนได้เองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภาระจำยอมในเรื่องทางเดินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งมีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1387 ว่า "อสังหาริมทรพัย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น" แสดงว่ากฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์คือที่ดิน ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในมาตรา 1382 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ คดีนี้โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( โนรี จันทร์ทร - ทวีวัฒน์ แดงทองดี - จิระ โชติพงศ์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-06 07:15:24


ความคิดเห็นที่ 3 (1834104)

การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน การใช้ทางพิพาทของโจทก์ในลักษณะเช่นว่านี้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จะใช้นานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่โจทก์โดยอายุความตามมาตรา 1401

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2550

 

 

สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538620170&Ntype=5

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 11:48:42


ความคิดเห็นที่ 4 (1834122)

หมายเหตุ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ ตัดสินแตกต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาเดิม เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2485 คันนาซึ่งผู้อื่นเดินผ่านมานานกว่า 10 ปี ย่อมเกิดภาระจำยอม

เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แตกต่างกัน ย่อมมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหนึ่งถูกต้องด้วยหลักกฎหมายและความเป็นธรรม อีกฉบับหนึ่งย่อมคลาดเคลื่อนไป จึงต้องค้นหาเหตุผลว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับใดถูกต้อง

ที่ดินในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ติดทางสาธารณะ ในการเดินทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะจึงจำเป็นต้องอาศัยที่ดินของบุคคลอื่นเช่นเดียวกับชาวนา ในการเดินเข้าออกที่นาจะเดินไปตามคันนาซึ่งอยู่ในที่ดินของบุคคลอื่นเป็นการดำเนินวิถีชีวิตของบุคคลในท้องถิ่นและของชาวนาไทย ถือเป็นจารีตประเพณีดีงามอย่างหนึ่งของคนไทย

การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นชาวนาใช้คันนาเป็นทางเดินแม้จะไม่มีคนหวงห้ามและใช้นานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตตามวิถีชาวนาและประเพณีท้องถิ่น การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขุดคันนาออกไปครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของตนถ้าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากเจ้าของคันนาอีกฝั่งหนึ่งก็มีการขุดเช่นกัน โจทก์จะเดินไปทำนาอย่างไร เช่น ที่ดินที่โจทก์เดินผ่านทำนามาตลอดชีวิตถูกขายให้สร้างโรงงานหรือบ้านจัดสรรทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออกทำนาได้ ผลที่ตามมาก็คือโจทก์ต้องยอมขายที่นาในราคาถูก ๆ ให้แก่นายทุน หรือไม่ก็เลิกทำนาไปประกอบอาชีพอื่นปล่อยที่นาให้เป็นที่รกร้างไป ดังนั้น หากวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุ จะทำให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนไป จะถูกกระทบกระเทือนในการประกอบอาชีพ จึงไม่น่าจะชอบ

นอกจากจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2485 แล้วยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2479 เจ้าของหัวคันนาปล่อยให้ผู้ทำนาใช้หัวคันนาเป็นประโยชน์ในการทำนามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว หัวคันนาย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมตาม มาตรา 1387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2505 ผู้ที่ได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิขุดโค่นหัวคันนาซึ่งอยู่ในเส้นทางอันเป็นภาระจำยอมนั้นได้เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมนั้น โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคำพิพากษาว่าที่ดินนั้นตกเป็นภาระจำยอมเสียก่อน

ผู้หมายเหตุ จึงเห็นด้วยความเคารพว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2485 น่าจะวินิจฉัยถูกหลักกฎหมายและเป็นธรรม อันสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาไทย

ศิริชัย วัฒนโยธิน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 12:07:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล