ReadyPlanet.com


สมัครเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ผ่อนแบงค์อยู่มีสิทธิมั้ย


 ผมสมัครเป็นกรรมการนิติ แต่ห้องยังผ่อนกับแบงค์อยู่มีสิทธิ์สมัครได้มั้ย



ผู้ตั้งกระทู้ ประพันธ์ :: วันที่ลงประกาศ 2014-09-14 16:37:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3740595)

คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของอาคารชุดได้แก่ 1. เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม 2. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วแต่กรณี 3. ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวน 1 คน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม และในกรณีที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกันหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการได้เพียง 1 คน

การพิจารณาว่าเป็นเจ้าของร่วมหรือไม่ ต้องดูความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด ตามที่บอกมาว่าห้องยังผ่อนกับแบงค์อยู่ ปกติก็จะเป็นการผ่อนโดยสัญญาจำนอง ซึ่งผู้ที่จะนำห้องชุดไปจำนองได้ก็ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารชุดเสียก่อนจึงจะนำไปจำนองแล้วผ่อนกับธนาคารได้ เมื่อได้ความว่าคุณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด คุณก็คือเจ้าของรวมและมีคุณสมบัติที่จะสมัครเป็นกรรมการได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2014-11-28 08:39:49


ความคิดเห็นที่ 2 (3740596)

ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้อาคารชุดทุกแห่งต้องจัดให้มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 9 คน โดยการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้มีมติแต่งตั้ง หากไม่นำไปจดทะเบียนต้องรับโทษตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

การแต่งตั้งคณะกรรมการของอาคารชุดโดยมติที่ประชุมใหญ่นั้น จะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม โดยมีองค์ประชุมคือหนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมด ในกรณีเจ้าของร่วมมาประชุมไม่ครบ องค์ประชุมคือมีผู้มาประชุมคะแนนเสียงรวมกันไม่ถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ให้เรียกประชุมใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม

คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของอาคารชุดได้แก่ 1. เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม 2. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วแต่กรณี 3. ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวน 1 คน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม และในกรณีที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกันหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการได้เพียง 1 คน

กรรมการอาคารชุดจะสามารถดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้ ส่วนกรณีที่กรรมการอยู่ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว หากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายดังนี้ 1. เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 2. เคยถูกที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการเพราะเหตุทุจริต หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี 3. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่ 4. เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ทั้งนี้กรรมการอาคารชุดมีหน้าที่คือ 1. ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด 2. แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการหรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกิน 7 วัน 3. จัดประชุมคณะกรรมการ 1 ครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย 4. หน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

และตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ ไม่ได้กำหนดโทษสำหรับคณะกรรมการไว้แต่อย่างใด คงกำหนดบทลงโทษไว้ เฉพาะประธานกรรมการใน 2 กรณีคือ 1. ประธานไม่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตามคำร้องขอของกรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ภายใน7 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ 2. ไม่จัดประชุม คณะกรรมการทุก 6 เดือน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท.

ดินสอพอง

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2014-11-28 08:40:21



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล