ReadyPlanet.com


การฟ้องครอบครองปรปักษ์


สอบถามครับ ในปี 2540 ครอบครัวได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน  ผ่อนกับธนาคารออมสิน ในราคา 800,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 10,800 บาทเรื่อยมา โดยพี่สาวของพ่อค้ำประกัน  ต่อมาในปี 2546 พี่สาวของพ่อ ได้มาบอกว่าจะช่วยเหลือในการส่งงวด ด้วยความเชื่อใจจึงโอนโฉนดให้เป็นชื่อพี่สาวของพ่อ โดยที่ทางครอบครัวผมยังส่งรายเดือน  ต่อมาประมาณ 1 ปี ธนาคารออมสินจึงแจ้งว่าพี่สาวไม่ได้มาผ่อนชำระเลย ครอบครัวจึงหยุดผ่อนชำระ พี่สาวของพ่อ จึงได้กู้ธนาคารออมทรัพย์ครู มาไถ่โฉนดจากออมสินแล้วเข้าจำนองที่ธนาคารออมทรัพย์ครูแทน ต่อมาพี่สาวคนนี้ก็เกษียนราชการ  พร้อมทั้งถอนจำนองโฉนดที่ดินดังกล่าวออกมาเก็บไว้ในปี 2554 โดยผ่อนชำระไปไม่มาก  ทำให้เป็นหนี้เกือบ 2 ล้านบาท และยังใส่ร้ายทางครอบครัวอีกว่าเป็นคนทำให้ตัวเขาเป็นหนี้  ครอบครัวพยายามขอซื้อคืน และตัวเขาก็มาเสนอขายให้ ในราคา 600,000 บาท แต่ทางครอบครัวเห็นว่าเราส่งมาเยอะเกินครึ่งราคาบ้านแล้ว เลยต่อรองเหลือ 500,000 บาท แต่เขาไม่ยอม จะเพิ่มเป็น 850,000 บาท อีก เพราะจะเอาไปใช้หนี้อื่นๆ ที่เขาก่อขึ้น และด่าทอครอบครัว และหลานเสียๆ หายๆ ผมเห็นว่าคน ๆนี้ คงคุยดีๆ ไม่ได้แล้ว จึงอยากสอบถามว่า  กรณีนี้ฟ้องครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่  กรณีโฉนดเป็นชื่อเขา กับหลานตอนนี้ หรือถ้าเขาเอาโฉนดไปจำนำ หรือจำนอง จะมีผลอย่างไร ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คนบ้านนอก :: วันที่ลงประกาศ 2013-11-07 09:26:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2431850)

หลักเกณฑ์ที่จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้นั้นต้องพิจารณาถึงการครอบครองที่ดินมีโฉนดของผู้อื่น โดยความสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ครบ 10 ปี  เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เล่ามานั้น เดิมที่ดินพร้อมิส่งปลูกสร้างคุณเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของของคุณที่ครอบครัวคุณซื้อมาและผ่อนชำระกับธนาคารออมสิน แม้ต่อมาได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินไปเป็นของป้า คุณยังบอกว่าด้วยความเชื่อใจจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้ แสดงชัดว่าการโอนไปคุณยังเชื่อว่าทรัพย์สินพิพาทนี้ยังเป็นของคุณอยู่ และครอบครัวคุณก็ครอบครองต่อมาโดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินของตนเองตลอดมา แม้จะครองครองอย่างเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผย ก็เป็นการครอบครองโดยเจตนาครอบครองทรัพย์ของตนเอง ไม่ได้มีเจตนาครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น จึงไม่ได้ครอบครองแบบปรปักษ์ เพราะการครอบครองแบบปรปักษ์ คือการครอบครองในลักษณ์แย่งสิทธิครอบครอง เมื่อตราบใดที่คุณไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ก็ไม่สามารถนับการครอบครองปรปักษ์ได้ การครอบครองที่ผ่านมาแม้จะครบ 10 ปี ก็ไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นแบบปรปักษ์ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์  การที่เจ้าของจะนำทรัพย์สินไปจำนอง ก็ไม่มีผลถึงการครอบครองปรปักษ์ เพราะการจำนองกรรมสิทธิ์ไม่โอนไปยังผู้รับจำนอง การครองครองสามารถนับต่อเนื่องได้ครับ

มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-11-21 23:31:46


ความคิดเห็นที่ 2 (2431852)

การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของตนเอง  อำนาจฟ้อง

การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่


บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ

แม้ผู้จะซื้อเข้าครอบครองที่ดินก็เป็นการครอบครองแทนผู้จะขาย เมื่อไม่มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเป็นการยึดถือเพื่อตนอยู่ตราบใด ก็ไม่อาจนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินมาเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-11-21 23:42:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล