ReadyPlanet.com


การซื้อขายที่ดินหลายมือแต่ไม่ได้โอน (ขอความกรุณานักกฏหมายช่วยด้วยนะครับ)


ความเป็นมา
               ที่ดิน น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ 1 ฉบับ  นาย ก. มีชื่อเป็นเจ้าของ ขณะนี้กำลังรอรังวัดขึ้นเป็นโฉนดที่ดินนัดรังวัดภายในวันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นาย ก. ได้เสียชีวิตลง นาง ข. ผู้เป็นภรรยานาย ก. ได้แบ่งขายที่ดินจำนวน 6 ไร่ (แต่ยังไม่ได้แบ่งออกจาก 20 ไร่ เพียงแต่ชี้อาณาเขตและเอกสารน.ส.๓ ยังเป็นชื่อ นาย ก. อยู่ )
ให้นาง ค. โดยมีสัญญาซื้อขายแต่ไม่ได้ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ดินและนาง ค. ได้ขายให้นาย ง. (พ่อผมเอง)
โดยไม่มีสัญญาเพียงแต่ได้ให้สัญญาซื้อขายระหว่าง นาง ข. กับนาง ค . ไว้กับนาย ง. และนาย ง. ได้ทำกินบนที่ดินแห่งนี้โดยเปิดเผยตั้งแต่นั้นมาจน
ถึงปัจจุบันประมาณ 20 กว่าปีได้ พร้อมกับชำระค่าภาษีที่ดินจำนวน 6  ไร่ที่ได้ทำการซื้อมาโดยตลอดแต่ต่อมาได้รับแจ้งจากทาง อบต. ว่าผู้ที่จะชำระภาษีที่ดินได้ต้องมีเอกสารหลักฐาน
การครอบครองที่ดินตามประกาศของรัฐบาล ทำให้นาย ง. ไม่ได้ชำระภาษีไปโดยปริยาย และพยายามทวงถามการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจากนาง ข. ตลอดมา
แต่นาง ข. ก็พยายามบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวติดจำนองธนาคารอยู่ เลยยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจนกระทั่งนาง ข. เสียชีวิต ต่อมานาย ง. มาทราบภายหลังจาก นาง ข. เสียชีวิตว่า นาง ข.
ได้กู้ยืมเงินกับบุคคลธรรมดา มิได้ติดจำนองธนาคารตามที่นาง ข. กล่าวอ้าง และได้นำที่ดิน น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ดังกล่าวไปค้ำประกัน
               ต่อมานาง ข. ได้เสียชีวิตลง และนาง จ. ผู้เป็นบุตรสาวคนโตของ นาง ข. จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้แต่งตั้ง นาง จ. เป็นผู้จัดการมรดกแทนนาย ก. ผู้เป็นบิดา และได้ไถ่ถอน
ที่ดินออกมาจากเจ้าหนี้เงินกู้ และมาขอที่ดินคืนจาก นาย ง. เพื่อจะนำที่ดินดังกล่าวไปแบ่งให้กับพี่น้องทุกคน โดย นาง จ. อ้างสิทธิในการครอบครองที่ดิน
เนื่องจากเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมทั้งนัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินให้มารังวัดเพื่อแบ่งเอกสารที่ดิน น.ส.๓ ประมาณ 20 ไร่ดังกล่าว
    พอถึงวันนัด วันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕ เจ้าหน้าที่พนักงานรังวัดได้ออกมาทำการรังวัด แต่นาย ง. ได้เข้าทำการคัดค้านการรังวัดไว้ก่อน และทางเจ้าหน้าที่พนักงานรังวัด
ให้เวลามาตกลงรอมชอมกันเป็นเวลา 1 เดือน ถ้าไม่มีการรอมชอม หรือตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่รังวัด จะไม่ทำการรังวัดให้ แต่ปรากฏว่าทางนาง จ. ไปขอยื่นเวลารอมชอม
ออกไปอีก 1 เดือน ทั้งๆ ที่ 1 เดือนก่อนหน้านั้น นาง จ. ไม่เคยมาพูดทำความตกลงกับ นาย ง. เลย

ข้อปรึกษา
1.นาย ง. (พ่อผมเอง) จะต้องดำเนินการอย่างไรกับที่ดิน หรือกับทางศาลครับ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิในที่ดินจำนวน 6 ไร่ที่ซื้อไป
2.หาก นาง จ. ฟ้องเรียกร้องสิทธิในการถือครองที่ดิน นาย ง. จะฟ้องแย้งการครอบครองได้อย่างไร เนื่องจาก นาย ง. ได้ทำกินบนที่ดิน 6 ไร่ โดยเปิดเผย
มาโดยตลอดเกินกว่า 20 ปี
3.ถ้ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น และถ้านาย ง. เป็นฝ่ายชนะ นาย ง. สามารถให้นาง จ. ยินยอมชดใช้เสียค่าทนายให้กับนาย ง. ได้หรือไม่
4.ข้อสำคัญเลยครับ ข้อนี้ หากมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นโอกาสที่ นาง จ. จะชนะมีมั้ยครับ และจะแก้ปัญหาอย่างไรครับ
5.นาย ง. สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลสั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ก่อนที่นาง จ. จะฟ้องร้องได้หรือไม่ครับ หรือ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ดีครับ
6.หากมีความเห็นเป็นอย่างอื่น รบกวนท่านช่วยชี้แนะด้วยครับ


ขอความกรุณาท่านด้วยนะครับ
ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ Ahingsagha :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-15 14:52:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2305368)

1.นาย ง. (พ่อผมเอง) จะต้องดำเนินการอย่างไรกับที่ดิน หรือกับทางศาลครับ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิในที่ดินจำนวน 6 ไร่ที่ซื้อไป

ตอบ - การซื้อขายที่ดิน กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (สำนักงานที่ดิน) มิฉะนั้นเป็นโมฆะ  สำหรับที่ดิน น.ส. 3 เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง (ไม่ได้กรรมสิทธิ์)  และการครอบครองสามารถทำได้โดยการส่งมอบ เมื่อพ่อของคุณได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วจึงได้สิทธิครอบครองแล้ว การส่งมอบสมบูรณ์นิติกรรมสมบูรณ์โดยการส่งมอบ

มาตรา 174  การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว  ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น

การซื้อขายที่ดิน น.ส. 3 ที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้เป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะจึงให้ถือตามนิติกรรมเรื่องการส่งมอบการครอบครองสมบูรณ์ซึ่งไม่เป็นโมฆะ

ตามคำถามว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกับที่ดินหรือกับทางศาล คงแนะนำได้ว่าครอบครองทำประโยชน์ไปก่อน คู่กรณีคงต้องไปฟ้องขับไล่แล้วค่อยหาทางฟ้องแย้งเอา (ความเห็น) เพราะว่าเราไม่สามารถฟ้องบังคับให้คู่สัญญาหรือทายาทไปจดทะเบียนโอนให้ได้ เพราะถือว่าคู่สัญญาไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องไปจด เพราะการซื้อขายที่ดินทำกันโดยกาส่งมอบความครอบครอง ไม่ได้ไปทำกันในรูปแบบที่กฎหมายกำหนด

2.หาก นาง จ. ฟ้องเรียกร้องสิทธิในการถือครองที่ดิน นาย ง. จะฟ้องแย้งการครอบครองได้อย่างไร เนื่องจาก นาย ง. ได้ทำกินบนที่ดิน 6 ไร่ โดยเปิดเผยมาโดยตลอดเกินกว่า 20 ปี

ตอบ - เมื่อมีการส่งมอบการครองครองกันมาเป็นทอด ๆ แล้ว ก็ต้องต่อสู้เรื่องสิทธิการครอบครองซึ่งตกเป็นของพ่อคุณแล้วตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1.

3.ถ้ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น และถ้านาย ง. เป็นฝ่ายชนะ นาย ง. สามารถให้นาง จ. ยินยอมชดใช้เสียค่าทนายให้กับนาย ง. ได้หรือไม่

ตอบ - อยากให้คิดเรื่องเฉพาะหน้าก่อนครับว่า ศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้อย่างไร ผมยังไม่ฟันธงว่าพ่อคุณจะชนะคดีเด็ดขาด อย่าเพิ่มไปคิดเรื่องค่าทนายความเลย การซื้อขายที่ดินไม่ทำตามแบบกฎหมายกำหนดคุณต้องยอมรับปัญหาว่าคุณก็เป็นฝ่ายผิดที่ไม่ซื้อขายกับผู้จัดการมรดก ยังมีคำถามว่า นาง ข. ภรรยา นาย ก. นำที่ดินมรดกมาขายได้หรือไม่ อาจเกิดปัญหาว่า ผู้โอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (หรือไม่?) เรื่องค่าทนายความอย่ากังวลนักในชั้นนี้

4.ข้อสำคัญเลยครับ ข้อนี้ หากมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นโอกาสที่ นาง จ. จะชนะมีมั้ยครับ และจะแก้ปัญหาอย่างไรครับ

ตอบ - เกินความสามารถที่จะตอบให้แบบนั้นเพราะ แม้ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ยังมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกันเลยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบการแพ้ชนะคดี

5.นาย ง. สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลสั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ก่อนที่นาง จ. จะฟ้องร้องได้หรือไม่ครับ หรือ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินให้กับกับนาย ง. ดีครับ

ตอบ -  ไม่มีกฎหมายรับรองให้ฟ้องบังคับผู้ขายให้ไปออกโฉนดที่ดินได้ครับ เพราะการซื้อขายไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้แต่แรกครับ ส่วนจะยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินหรือจะทำอะไรก็ลองดูก็ได้เป็นเรื่องที่คุณหาคำตอบเองได้ แต่ผมคาดว่าสำนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการให้ได้หรอกครับ

6.หากมีความเห็นเป็นอย่างอื่น รบกวนท่านช่วยชี้แนะด้วยครับ

ตอบ - ครอบครองทำประโยชน์ไปก่อน เขาคงฟ้องขับไล่มาเร็วๆ นี้ แล้วค่อยไปว่ากันในศาล

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-03 22:45:38


ความคิดเห็นที่ 2 (2305369)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7679/2540
 
          กรณีที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ต้องเป็นกรณีจำเป็นจะต้องมาร้องขอต่อศาล เพื่อให้ได้รับความรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยจะต้องมีกฎหมายระบุไว้แจ้งชัดให้กระทำได้ แต่ที่ผู้ร้องอ้างเหตุผลมาในคำร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 และเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้นหาได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่ฝ่ายเดียวได้ หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองในที่ดินและถูกโต้แย้งสิทธิประการใดก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอันเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่เสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทไม่
 
มาตรา 1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
________________________________
 
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายละออง ประเสริฐดี นายละอองถึงความตายเมื่อปี 2525ระหว่างมีชีวิตอยู่ นางละอองมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 939 พร้อมบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดิน นายละอองได้ยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง นับแต่นายละอองยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องผู้ร้องเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนเองตลอดมา โดยปลูกมันต้นยูคาลิปตัส และอื่น ๆ เพื่อยังชีพ ไม่มีผู้ใดเข้าเกี่ยวข้องหรือคัดค้าน ทั้งหลังจากนายละอองถึงแก่ความตายผู้ร้องเข้าพักอาศัยในบ้านเลขที่ 112 ในฐานะเจ้าบ้านอีกด้วย ผู้ร้องจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367และเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเมื่อกลางปี 2538 เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแนวเขตเพื่อออกโฉนดที่ดินแต่ที่ดินของผู้ร้องยังเป็นชื่อนายละอองอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าจะต้องออกโฉนดที่ดินในนามของผู้มีชื่อเดิมไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อให้เป็นของผู้ร้องได้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อแสดงว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินก่อน จึงจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินที่จะออกให้ได้ให้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และให้แจ้งคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน

          ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องขอไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลได้ ให้ยกคำร้องขอ
          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่ผู้ร้องอ้างเหตุมาในคำร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 และเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังเป็นชื่อนายละออง ประเสริฐดี เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อในทะเบียนให้เป็นชื่อผู้ร้องในโฉนดที่ดินที่จะออกให้ได้นั้นเห็นว่า กรณีที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ต้องเป็นกรณีจำเป็นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อให้ได้รับความรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยจะต้องมีกฎหมายระบุไว้แจ้งชัดให้กระทำได้แต่บทกฎหมายที่ผู้ร้องอ้างมานั้น หาได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่ฝ่ายเดียวได้หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองในที่ดินและถูกโต้แย้งสิทธิประการใด ก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอันเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่เสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอของผู้ร้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน
 
 
( พิชัย เตโชพิทยากูล - ทวีชัย เจริญบัณฑิต - ชวลิต ธรรมฤาชุ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-03 22:52:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล