ReadyPlanet.com


โทรศัพท์มือถือโดนขโมย แต่เจอโทศัพท์แล้ว (ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน)


  โทรศัพท์มือถือโดนขโมย ได้ไปแจ้งความแล้วจับโจรได้แล้ว ตามโรศัพท์เจอแล้ว   อยู่ที่ร้านรับซื้อโทรศัพท์แห่งหนึ่ง ตำรวจบอกว่าทางร้านมีใบประกอบการซื้อขายอย่างถูกต้อง และใบประกอบกิจการอย่างถูกต้อง ทางตำรวจึงบอกกับเราว่า ให้เรานำเงิน 10000 บาทไปไถ่โทรศัพท์คืน เพราะว่าทางร้านมีใบประกอบการซื้อขายอย่างถูกต้อง เงินที่นำไปไถ่ทางร้านได้กำหมดมาให้  ราคาเป็นราคาที่ซื้อมาจากโจร

ผมซื้อโทรศัพท์มาในราคา 22000 บาท

 

ผมอยากสอบถามว่า เราสามารถไปเอาโทรศัพท์คืนได้ โดยไม่ต้องเสีย เงินได้ไหม ครับ



ผู้ตั้งกระทู้ พินิจ :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-30 19:34:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2281987)

ในเรื่องนี้ขอแสดงความเห็นดังนี้ การที่ทางร้านรับซื้อโทรศัพท์ แม้จะมีใบประกอบการซื้อขายอย่างถูกต้องก็ตาม แต่อาจอ้างไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานรับของโจรได้ แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น เพราะตามข้อเท็จจริงเป็นการซื้อจากบุคคลผู้กระทำความผิดไม่ใช่ซื้อจากพ่อค้า เพราะคนขายไม่ใช่พ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น ร้านรับซื้อมีหน้าที่ต้องคืนโทรศัพท์มือถือโดยเจ้าของที่แท้จริงไม่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ตามที่ตำรวจอ้างแต่อย่างใด (ด้วยความเคารพเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการตามหน้าที่) เพราะไม่เข้าหลักตาม มาตรา 1332

มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-23 19:37:43


ความคิดเห็นที่ 2 (2281988)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1344/2535

           เมื่อจำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาทจากบุคคลซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาทจากโจทก์ จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยซื้อรถดังกล่าวจากผู้ที่ฉ้อโกงเอามาขายที่ร้านของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุม การค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้วไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถและค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาท
  
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน7ค-0733 กรุงเทพมหานคร จำเลยกับนายสมชายหรือจำรัส วงศ์สุชินร่วมกันฉ้อโกงเอารถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์ การที่จำเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยอ้างว่าซื้อจากนายสมชายซึ่งไม่ใช่เจ้าของย่อมไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้ราคารถยนต์ 120,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถใช้รถยนต์และค่าเสื่อมสภาพรถยนต์นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 เดือน 28 วัน เป็นเงิน23,466 บาท และต่อไปเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์และชำระค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์
          จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วที่ตลาดนัดเสนา ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับนายสมชายฉ้อโกงโจทก์เป็นความเท็จ โจทก์กับพวกรวม 2 คน นำรถยนต์พิพาทมาเสนอขายแก่จำเลย ณ สถานที่ประกอบการค้าของจำเลยในราคา 100,000 บาท จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์กับพวกมีสิทธิในรถยนต์โดยชอบ จำเลยได้รถยนต์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยได้ขายรถยนต์ดังกล่าวในตลาดนัดรถยนต์ตามทางการค้าของจำเลยให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่ารถยนต์พิพาทคือรถยนต์แลนเซอร์ หมายเลขทะเบียน 7ค-0733กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นของบริษัทนอร์ตัน (ประเทศไทย) จำกัดต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2529 บริษัทดังกล่าวได้ขายแก่นายนาวินเตียวรัตนกุล ในราคา 110,000 บาท แต่ไม่ได้โอนใส่ชื่อผู้ซื้อในคู่มือการจดทะเบียนรถ เพียงแต่ได้มอบเอกสารชุดโอนลอยให้ไว้ตามแบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ของกรมตำรวจ ครั้นต้นเดือนมีนาคม 2529 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายนาวิน ในราคา 120,000 บาท และรับคู่มือการจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารชุดโอนลอยมาด้วย
          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกรถยนต์พิพาท และค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีหมายเลขแดงที่ 10229/2529ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายจำรัสหรือสมชายธรรมยศ กับพวก จำเลย ซึ่งโจทก์ฟ้องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรว่าร่วมกันกับพวกฉ้อโกงรถยนต์พิพาทของโจทก์นายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะจัดการขายรถให้โจทก์ จนโจทก์หลงเชื่อ ยอมมอบรถยนต์พิพาทให้ไปพร้อมทะเบียนรถและเอกสารชุดโอนศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำคุกนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศร คนละ1 ปี 6 เดือน เช่นนี้ แสดงว่าโจทก์มิได้ร่วมกับนายสมชายหรือจำรัสและนายดินหรืออดิศรขายรถยนต์พิพาทแก่จำเลยจริงแต่เป็นเรื่องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทจากโจทก์ไปขายแก่จำเลย เมื่อจำเลยรับซื้อเอารถยนต์พิพาทจากบุคคลดังกล่าวซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาท จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สำหรับข้อที่จำเลยแก้ฎีกาว่าซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยซื้อบริเวณตลาดนัดรถยนต์ จึงไม่ต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์พิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดว่า "บุคคลผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริต ในท้องตลาด ไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา" เห็นว่าการที่จำเลยซื้อรถจากนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรที่ฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทของโจทก์มาขายที่ร้านค้าของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุมการค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ 120,000 บาท ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถ และค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทไป จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-23 19:38:07


ความคิดเห็นที่ 3 (2392314)

ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาฎีกาที่ 814/2554
ช.ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทแก่ อ. เมื่อ ช. ตายที่ดินพิพาทตกเป็นของ อ. ต่อมา อ.ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า เมื่อ อ.ตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ทั้งห้า แม้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคน ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าไปขายโดยทายาทผู้ได้รับมรดกไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า แม้จำเลยที่ 2 แม้จะซื้อที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนอันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการจะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ จำเลยที่ 1 ผู้โอนต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว และการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ

 

 ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ซื้อรถยนต์จากผู้กระทำความผิด)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1344/2535

          เมื่อจำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาทจากบุคคลซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาทจากโจทก์ จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยซื้อรถดังกล่าวจากผู้ที่ฉ้อโกงเอามาขายที่ร้านของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุม การค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้วไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถและค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาท

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2013-07-26 16:22:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล