ReadyPlanet.com


รถถูกชนแต่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่


เรียน คุณทนาย

ลูกชายของผมรถปิคอัพแล้วถูกเฉี่ยวชนโดยปิคอัพด้วยกันโดยสรุปลูกชายผมเป็นฝ่ายถูกและเขาก็ยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิด

ปัญหามีอยู่ว่าลูกชายของผมไม่มีใบอนุญาติขับขี่ทางคู่กรณีทราบอย่างนี้ก็เลยกับมาเรียกค่าเสียหายกับเราโดยบอกว่าถึงเขาจะเป็นฝ่ายผิดแต่เขามีใบอนุญาตขับขี่และมีประกันด้วยถ้าเรียกประกันมาเราก็ผิดอยู่ดีเพราะเราไม่มีใบอนุญาตผมเลยต้องจำใจเสียเงินให้กับเขาไปแต่ก็คุยกันแล้วไม่มากเท่าไรก็เลยยอมผมเลยอยากทราบความชัดเจนว่าตามที่เขาบอกเรานั้นถูกต้องหรือไม่หรือเราต้องแยกความผิดเป็นกรณีไป



ผู้ตั้งกระทู้ ประธานแผน :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-14 17:21:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225423)

ไม่ถูกต้องครับ เรื่องการละเมิดที่ทำให้รถยนต์เราเสียหายนั้น เจ้าของรถยนต์หรือผู้ครอบครอบรถยนต์เป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ เพราะ ความผิดฐานขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ รัฐเป็นผู้เสียหายไม่ใช่คู่กรณีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-15 13:15:01


ความคิดเห็นที่ 2 (2225429)

คนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่

จำเลยที่ ๓ ให้การว่า คนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่และเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๗,๔๓๑ บาท ๗๐ สตางค์แก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๒,๔๐๐ บาท โดยให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใช้แก่โจทก์ทั้งสองก่อน แต่ให้ใช้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามที่รับประกันภัยไว้ เงินค่าเสียหายที่ยังขาดให้จำเลยที่ ๑ และ ๒ เป็นผู้ใช้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  548/2518

          กรณีโจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาด้วยปากเปล่าโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แม้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์จากเจ้าของมาไว้ในความครอบครองโดยมีสิทธิที่จะ ใช้สอยหาประโยชน์และได้เคยชำระเงินค่าเช่าซื้อไปโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ฉะนั้น เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยหาประโยชน์จากรถยนต์ดังกล่าวได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย จากจำเลยผู้ทำละเมิด โจทก์ก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ถูกละเมิดได้ คือมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกรับจ้างหาผลประโยชน์และมีสิทธิเรียก ร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าที่โจทก์รับจ้างบรรทุกมาด้วย แต่โจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถยนต์โดยตรงไม่ กล่าวคือไม่มีอำนาจที่จะฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องออกค่าซ่อมรถเองและค่าเสื่อมราคาของรถ ผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2 รายการนี้ได้

          ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยแต่ละคนรับผิดร่วมกันและแทนกันโดยสิ้นเชิงเต็มจำนวนซึ่งโจทก์ย่อมจะเลือกบังคับเอาจาก จำเลยคนใดคนหนึ่งก็ได้ และโดยเหตุที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ความรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 ได้กำหนดไว้ว่า ให้ผู้ต้องเสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองก่อนในวงเงินไม่เกินกรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงหาเป็นการเกินคำขอตามฟ้องของโจทก์ไม่

          โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยต่าง ๆ โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ ๐๒๗๙๕ และเป็นผู้ครอบครองรถคันนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ ๓ เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยรถยนต์ ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๒๗๙๕ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๒๗๙๕ โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ เสียหาย ก่อนที่รถหมายเลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ จะถูกชน บริษัทมิตซูบิชิ จำกัด โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรบุรีมอเตอร์ผู้แทนจำหน่ายและโจทก์ที่ ๒ ผู้เช่าซื้อได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ได้จัดการลากรถจากที่เกิดเหตุไปซ่อม เสียค่าลากรถและเสียค่าซ่อมรวมเป็นเงิน ๓๘,๔๓๑ บาท ๗๐ สตางค์ แต่ตามสัญญากรมธรรม์โจทก์ที่ ๒ จะต้องออกค่าเสียหายเอง ๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ จึงเสียหายจริง ๓๗,๔๓๑ บาท ๗๐ สตางค์ โจทก์ที่ ๒ ขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ต้องออกเงินค่าซ่อมรถเอง ๑,๐๐๐ บาท ขวดน้ำหวานและโซดาแตกเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕๖,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย

          จำเลยที่ ๑, ๒ ให้การร่วมกันว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นเจ้าของและครอบครองรถร่วมกับจำเลยที่ ๒ เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของคนขับรถของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง

          จำเลยที่ ๓ ให้การว่า คนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่และเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดในเงินค่าซ่อม ๕๐๐ บาทแรก โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๗,๔๓๑ บาท ๗๐ สตางค์แก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๒,๔๐๐ บาท โดยให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใช้แก่โจทก์ทั้งสองก่อน แต่ให้ใช้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามที่รับประกันภัยไว้ เงินค่าเสียหายที่ยังขาดให้จำเลยที่ ๑ และ ๒ เป็นผู้ใช้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับต้นเงินที่ต้องรับผิดตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสามฎีกา
          ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ ๒ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จริงอยู่ที่โจทก์ที่ ๒ ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อด้วยปากเปล่า ไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ แต่โจทก์ที่ ๒ ก็ได้รับมอบรถยนต์เลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ จากเจ้าของมาไว้ในความครอบครองโดยมีสิทธิที่จะใช้สอยหาประโยชน์ และได้เคยชำระเงินค่าเช่าซื้อไปโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือปรากฏอยู่ในสมุดบันทึกที่โจทก์อ้างส่งศาล ฉะนั้น เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ ๒ ที่จะได้ครอบครองใช้สอยหาผลประโยชน์จากรถยนต์เลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ ได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย โจทก์ที่ ๒ ก็ชอบที่ใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๒ ถูกละเมิดได้ และโจทก์ที่ ๒ ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์เลขทะเบียน พ.บ.๐๑๑๗๗ ออกรับจ้างหาผลประโยชน์ได้ด้วยทั้งมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าขวดโซดาและขวดน้ำหวานซึ่งโจทก์ที่ ๒ รับจ้างบรรทุกมาด้วย แต่โจทก์ที่ ๒ หามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถยนต์โดยตรงไม่ เพราะรถยนต์ไม่ใช่เป็นทรัพย์ของโจทก์ที่ ๒ และการที่เกิดเหตุชนกันขึ้นนี้ก็เนื่องมาจากการใช้รถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ โดยปกติธรรมดา ฉะนั้น โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๒ ต้องออกค่าซ่อมรถเอง ๑,๐๐๐ บาท และค่ารถเสื่อมราคา เพราะผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้ง ๒ รายการที่กล่าวแล้วนั้น

          ปัญหาที่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทนั้น ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยความประมาทจริง และฟังว่าคนขับรถของโจทก์มีส่วนในความประมาทด้วย

          ปัญหาในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ และ ๒ ได้ร่วมกันครอบครองรถและใช้รถแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกันรับผิดด้วยกับจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้น ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อยกเว้นว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวกับการขาดประโยชน์และค่าเสื่อมสภาพแห่งทรัพย์สิน จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสองรายการดังกล่าวต่อโจทก์

          ปัญหาที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยแต่ละคนรับผิดร่วมกันและแทนกันโดยสิ้นเชิงเต็มจำนวนซึ่งโจทก์ย่อมจะเลือกบังคับเอาจากจำเลยคนใดคนหนึ่งก็ได้ และโดยเหตุที่จำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ความรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๘๗ ได้กำหนดไว้ว่าให้ผู้ต้องเสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองก่อนในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท จึงหาเป็นการเกินคำขอตามฟ้องของโจทก์ไม่

          ในเรื่องความเสียหายศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคนขับรถของโจทก์มีส่วนขับรถโดยประมาทอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีส่วนความผิดของผู้เสียหายประกอบอยู่ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ ซึ่งจะต้องกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยคำนึงว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๓ ศาลฎีกาจึงเป็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เกี่ยวกับค่าซ่อมรถเป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๑ และ ๒ ใช้ค่าขวดน้ำหวานและขวดโซดาเป็นเงิน ๑,๙๐๐ บาท กับค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถเป็นเงิน ๑,๑๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๒

          พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายขวดโซดาและขวดน้ำหวานแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑,๙๐๐ บาท แต่ค่าเสียหาย ๒ รายการนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จนั้นให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใช้แก่โจทก์ดังกล่าวแล้วก่อน สำหรับค่าเสียหายที่เกิดจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถเป็นเงิน ๑,๑๐๐ บาทให้จำเลยที่ ๑ และ ๒ ร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง ๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์              

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 13:29:05



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล