ReadyPlanet.com


สอบถาม สัญญาว่าจะให้เช่าค่ะ(คำมั่นจะให้เช่า)


สวัสดีค่ะ สอบถาม "สัญญาว่าจะให้เช่า" มีผลใช้นานแค่ไหนค่ะ (ถ้าเค้าพูดปากเปล่าว่าไม่เกินห้าเดือน จะเซ็นสัญญาเช่า คือรอ บ.อนุมัติอะค่ะ) ตอนนี้เค้าก้อเช่าบ้านอยู่ แต่เค้าจะต่อสัญญาพื้นที่เก่า และเช่าเพิ่มพื้นที่สัญญาใหม่อะค่ะ ตอนนี้ก้อเข้าเดือนที่เจ็ดแล้วยังเงียบ โทรไปคุยก้อให้รอก่อน จะทำอย่างไรได้ค่ะ แล้วถ้าคนทำ สัญญาว่าจะให้เช่า เสียชีวิตลง สัญญาจาสิ้นสุดไหมค่ะ

ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยนะค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ลิ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-09 09:28:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2214688)

 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1062/2539)คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์ตามที่จำเลยอ้าง หากเป็นความจริงก็เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจา ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม และเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้

คำมั่นจะต้องมีข้อความแน่ชัดและแสดงให้เห็นว่า ผู้ให้เช่าตกลงผูกพันจะให้เช่าต่อไปถ้าผู้เช่าต้องการ ถ้ายังมีข้อความที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าต้องมีการทำความตกลงกันใหม่ หรือกำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่าที่จะพิจารณาให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปหรือไม่ก็ได้ มิใช่คำมั่น

คำมั่นเมื่อให้แล้ว จะถอนเสียมิได้ คำมั่นจะสิ้นผลไปเอง เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วผู้เช่าไม่สนองรับคำมั่น แต่หากผู้เช่าสนองรับคำมั่น ผู้ให้เช่าต้องยอมให้ผู้เช่า เช่าทรัพย์สินนั้นต่อไป ผู้ให้เช่าจะปฏิเสธไม่ได้

ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาขอรับคำมั่นก่อนครบกำหนดสัญญาเดิม หากแสดงเจตนาภายหลังที่ครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ไม่เกิดผลบังคับใดๆ

เมื่อผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยถูกต้อง สัญญาเช่าย่อมเกิดขึ้นใหม่ทันที โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ แต่หากการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามปี ถ้าไม่ไปจดทะเบียนการเช่ากันใหม่ สัญญาเช่าที่เกิดขึ้นใหม่มีผลบังคับเพียงสามปี

ถ้าผู้เช่าไม่ใช้สิทธิตอบรับคำมั่นจนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม หลังจากนั้นยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ถือเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งคู่สัญญาจะบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อไรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 (ฎ 876/2537)

คำมั่นที่มีอยู่ในสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่า มีผลบังคับได้เพียงสามปี และหากผู้เช่าสนองคำมั่นภายหลังสามปีแรก คำมั่นจะไม่มีผลบังคับ (ฎ 563/2540)

คำมั่นจะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ด้วยวาจาก็มีได้ เพราะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่ถ้าผู้เช่าสนองรับคำมั่นแล้ว มิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดไว้ ก็ไม่อาจฟ้องบังคับผู้ให้เช่าได้ (ฎ 1062/2539)

คำมั่นย่อมสิ้นผลเมื่อผู้ให้คำมั่นตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ และผู้รับคำมั่นทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ประกอบมาตรา 169 วรรคสอง ไม่ผูกพันทายาทผู้ให้คำมั่น

ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องผูกพันตามคำมั่น ซึ่งต่างจากมาตรา 569 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-09 21:15:33


ความคิดเห็นที่ 2 (2214698)

คำมั่นจะให้เช่า
หากจำเลยประสงค์จะเช่าต่อ โจทก์จะให้จำเลยเช่าต่อไปได้อีก14 ปี ข้อตกลงในสัญญาเช่าเช่นนี้เป็นคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยเช่าต่อไป คำมั่นที่จะให้เช่านี้ถ้าจำเลยผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อจำเลยต้องแสดงความจำนงที่จะเช่าต่อเสียก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  876/2537
 

           สัญญาเช่าระบุว่าเมื่อพ้นอายุสัญญาเช่า 15 ปีแล้ว โจทก์ยินยอมตกลงให้จำเลยเช่าต่อได้อีก 14 ปีนั้น กำหนดเวลาเช่าที่กำหนดไว้แน่นอนมีเพียง 15 ปีส่วนเมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวหากจำเลยประสงค์จะเช่า โจทก์จะให้จำเลยเช่าต่อไปได้อีก 14 ปี เป็นคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยเช่า จำเลยจะต้องแสดงความจำนงต่อโจทก์ก่อนครบอายุสัญญาเช่า เมื่อจำเลยมิได้แสดงความจำนงที่จะเช่าต่อก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า การที่จำเลยคงอยู่ในที่เช่าและชำระค่าเช่าภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมแล้ว จึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 570 คำมั่นที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าย่อมระงับไป เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่เช่าต่อไป
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2512 จำเลยจดทะเบียนเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ เนื้อที่ 1 งาน มีกำหนดเวลา 15 ปี เพื่อปลูกสร้างตึกแถว 2 ชั้น ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนเดือนละ 175 บาทและเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยยอมให้ตึกแถวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ให้คำมั่นกับจำเลยว่าเมื่อพ้นกำหนด 15 ปีแล้วโจทก์ยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินและตึกแถวต่อไปได้อีก 14 ปี โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 350 บาท และยอมให้จำเลยนำตึกแถวไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยไม่เคยแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นที่โจทก์ได้ให้ไว้ แต่จำเลยคงเช่าที่ดินและตึกแถวจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท การเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ต่อมาจำเลยได้นำที่ดินและตึกแถวไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์การให้เช่าช่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 เป็นต้นมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปจึงได้บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยขนย้ายครอบครัวออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายครอบครัวและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11435ตำบลพระประโทน (บ่อโตนด) อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์)จังหวัดนครปฐม และส่งที่ดินกับตึกแถวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 9,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 21,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายครอบครัวและบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์มีกำหนด29 ปีระยะเวลา 15 ปีแรก จำเลยจะต้องชำระค่าเช่าในอัตราเดือนละ175 บาท ระยะเวลา 14 ปีหลัง จำเลยต้องชำระค่าเช่าในอัตราเดือนละ350 บาท จำเลยจะต้องปลูกสร้างตึกแถวสองชั้นในที่ดินดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยและเมื่อครบกำหนด 15 ปี ให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันที สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เรื่อยมาและนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 เป็นต้นมาโจทก์ไม่ยอมรับค่าเช่าจากจำเลยเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยได้นำตึกแถวไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงโดยความรู้เห็นยินยอมของโจทก์ตามสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าจำนวน 9,000 บาท จากจำเลยหากจำเลยจะต้องรับผิดก็คงเพียงเดือนละ 350 บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย หากจะนำตึกแถวดังกล่าวไปให้เช่าก็คงได้ค่าเช่าเดือนละไม่เกิน 350 บาท มิใช่เดือนละ 21,000 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและให้ส่งมอบที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 21,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 350 บาท นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดากำหนดเวลาเช่าไว้29 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 15 ปี และ 14 ปี เนื่องจากค่าเช่าแต่ละช่วงไม่เท่ากันเป็นสัญญาเช่าที่กำหนดเวลาเช่าไว้แน่นอน เวลาเช่าช่วง 14 ปีหลังไม่ใช่คำมั่นว่าจะให้เช่านั้น เห็นว่าสัญญาเช่าระบุมีใจความว่าเมื่อพ้นอายุสัญญาเช่า 15 ปีแล้ว โจทก์ยินยอมตกลงให้จำเลยเช่าต่อไปได้อีกมีกำหนด 14 ปี เห็นได้ว่าสัญญาเช่าได้กำหนดเวลาเช่าไว้แน่นอนเพียง 15 ปีเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนด 15 ปีแล้วหากจำเลยประสงค์จะเช่าต่อ โจทก์จะให้จำเลยเช่าต่อไปได้อีก14 ปี ข้อตกลงในสัญญาเช่าเช่นนี้เป็นคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยเช่าต่อไป คำมั่นที่จะให้เช่านี้ถ้าจำเลยผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อจำเลยต้องแสดงความจำนงที่จะเช่าต่อเสียก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมิได้แสดงความจำนงที่จะเช่าต่อก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า เมื่อกำหนดระยะเวลาเช่าครบ 15 ปีตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยยังคงอยู่ในที่เช่าและชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าตลอดมาก็เท่ากับเป็นการเช่ากันโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 คำมั่นที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าจึงระงับไปในตัวเมื่อเป็นการเช่ากันโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่เช่าอีกต่อไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( บุญศรี กอบบุญ - สุทธิ นิชโรจน์ - เสมอ อินทรศักดิ์ )


หมายเหตุ 

           บทบัญญัติว่าด้วยเช่าทรัพย์ได้ให้ความหมายหรือขอบข่ายของการเช่าทรัพย์หรือสัญญาเช่าทรัพย์อยู่ในมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และถ้าเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์แล้วยังมีมาตรการสำคัญยิ่งในมาตรา 538

           กรณีที่มีการพิพาทมาสู่ศาลมากเรื่องหนึ่งก็คือการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เนื่องจากการไม่ปฏิบัติกันตามมาตรา 538 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เช่าอสังหาริมทรัพย์กันเกินกว่า 3 ปี โดยทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือกันเอง มิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เช่นทำสัญญาเช่ากันเองมีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี อาจเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี ดังนี้ ย่อมบังคับและผูกพันกันเพียง 3 ปีเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1800-1803/2535) ซึ่งก็เป็นไปตามความในมาตรา 538 ตอนท้ายที่ว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียง 3 ปี หรือกรณีที่ผู้ให้เช่ากับผู้เช่าทำสัญญาเช่าตึกแถวกัน 10 ปี โดยทำสัญญาเช่า 4ฉบับ ฉบับละ 3 ปี 3 ฉบับ และ 1 ปีอีก 1 ฉบับ ติดต่อกันครบ 10 ปีโดยไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ ย่อมบังคับกันได้เพียง3 ปี ตามฉบับแรก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2531) สิทธิที่ผู้เช่าจะอยู่ในตึกแถวนั้นก็คงมีอยู่จนถึงวันครบกำหนดสัญญาเช่าฉบับแรกเท่านั้น และถือว่าเป็นการเช่ามีกำหนดเวลาซึ่งครบกำหนดการเช่าตามสัญญาเช่าฉบับแรก และสัญญาเช่าเป็นอันระงับไปโดยไม่ต้องบอกกล่าว (มาตรา 564)(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2531)ซึ่งนับว่ามีผลกระทบกระเทือนต่อผู้เช่าเป็นอย่างยิ่งเพราะคาดหมายว่าสามารถอยู่ได้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว นับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้เช่าอย่างยิ่ง ทางปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ให้เช่าต่างหากไม่ยอมไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้เช่าอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องทำสัญญาเช่าเพื่อจะได้สามารถประกอบกิจการของตนในทำเลนั้น ๆได้ และเท่าที่มีคดีพิพาทมาสู่ศาลแล้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 538 ทั้งที่การทำสัญญาเช่าดังกล่าวผู้เริ่มคือฝ่ายผู้ให้เช่า ผู้เช่าไม่อาจบังคับผู้ให้เช่ายินยอมให้เช่าต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดที่ตกลงไว้แต่เดิมได้ในทางตรงกันข้ามผู้เช่าอาจถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากทรัพย์สินที่เช่าได้ตลอดเวลา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2535 และ1800-1803/2535)

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2537 ตามหัวข้อหมายเหตุนี้ มีประเด็นสำคัญพึงทำความเข้าใจคือคำมั่นจะให้เช่า ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยเช่าทรัพย์มิได้บัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องนำหลักทั่วไปมาใช้บังคับและเป็นที่ยอมรับกันซึ่งศาลฎีกาวางบรรทัดฐานมาตลอดว่า คำมั่นจะให้เช่าของผู้ให้เช่าต่อผู้เช่าว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปนั้นบังคับได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2533)

           คำมั่นจะให้เช่าจึงเป็นทางออกอย่างหนึ่งของผู้เช่าที่จะสามารถเช่าทรัพย์สินของผู้ให้เช่าต่อไปได้จนครบกำหนดที่ตั้งใจกระทำต่อกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แทนที่จะทำสัญญาเช่าหลายฉบับซึ่งบังคับได้เพียงฉบับแรกฉบับเดียวดังที่กล่าวมาแล้ว

           แต่การที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะให้เช่านั้น แม้จะผูกพันผู้ให้เช่าตามคำมั่นของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องระมัดระวังว่าผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาว่าจะเช่าทรัพย์สินของผู้ให้เช่าตามคำมั่นจะให้เช่าก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงด้วย มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่ผูกพันผู้ให้เช่าเช่นตัวอย่างคดีนี้ที่ผู้เช่ามิได้แสดงความประสงค์จะเช่าต่อไปภายในกำหนดสัญญาเช่าสัญญาเช่าย่อมเป็นอันระงับไปตามมาตรา 564 แม้ว่าผู้ให้เช่าจะให้เช่าต่อไป การเช่าต่อไปก็เป็นเพียงสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อใดก็ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 566 และ 570)และกรณีเช่นนี้ในทางปฏิบัติผู้ที่บอกเลิกสัญญามักเป็นผู้ให้เช่า(คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2011/2533,1800-1803/2535)

           การแสดงเจตนาว่าจะเช่าต่อไปนั้นพึงระมัดระวังไว้ด้วยว่าผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาหรือความประสงค์ต่อผู้ให้เช่าเมื่อใกล้จะสิ้นกำหนดสัญญาเช่า หากแสดงเจตนาเร็วเกินไปและเข้าทำสัญญาเช่าต่อเร็วไป อาจถือว่าเป็นการทำสัญญากันใหม่เพื่อขยายเวลาเช่าในสัญญาเดิมออกไปเป็นการหลีกเรื่องการจดทะเบียนตามมาตรา 538 ได้มีบรรทัดฐานเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2533 โจทก์กับพวกได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลยกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2523 ครั้นวันที่ 21 มีนาคม 2522 จำเลยได้ทำหนังสือให้โจทก์กับพวกเช่าอีก 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2524เป็นต้นไป ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าขณะทำหนังสือเพื่อโจทก์กับพวกจะเช่าต่อไปอีก 4 ปีนั้น กำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าเดิมยังมีอยู่อีก 1 ปี จึงจะครบกำหนดเช่า การทำสัญญาเช่าลักษณะเช่นนี้เป็นการทำสัญญาเช่ากันใหม่เพื่อขยายเวลาในสัญญาเช่าเดิมออกไป จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 538 ข้อตกลงเช่ากันใหม่อีก 4 ปีจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

           ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2533 มีการทำสัญญาเช่าช่วงแรก2 ปีคือตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2523 แต่พอเช่ามาได้ 1 ปี โดยยังเหลือเวลาเช่าอยู่อีก 1 ปี ก็ทำสัญญาเช่าต่ออีก 4 ปี แต่ข้ามไปว่าเช่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2524เป็นต้นไป ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการขยายเวลาเช่าในสัญญาเช่าเดิมออกไปเป็นการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียน ผลก็คือสัญญาเช่าที่ทำกันใหม่ย่อมบังคับไม่ได้ ฝ่ายที่เสียหายก็คงไม่พ้นฝ่ายผู้เช่าดังที่กล่าวมาแล้ว สมมุติว่าหากเลื่อนการทำสัญญาเช่ามาปลายปีที่ 2 ก่อนสิ้นกำหนดสัญญาเช่า สัญญาเช่าฉบับที่ 2 ย่อมบังคับได้ ซึ่งมีผลแตกต่างกันมาก จึงเป็นข้อสังเกตสำหรับผู้เช่า ต้องระมัดระวังปัญหาเช่นคดีนี้

           คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2537 ก็คงยืนยันหลักการเดิมในเรื่องการแสดงเจตนาที่จะเช่าต่อไปของผู้เช่าอ้างคำมั่นของผู้ให้เช่า จะต้องกระทำก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดลง เพราะหากพ้นกำหนดแล้วย่อมมีผลให้คำมั่นระงับไปพร้อมกับความระงับแห่งสัญญาเช่าตามมาตรา 564 การแสดงเจตนาจะเช่าหลังจากนั้นย่อมไม่ผูกพันผู้เช่าคดีนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าผู้เช่าจะต้องรอบคอบในเรื่องการแสดงเจตนาจะเช่าต่อไป มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายเช่นคดีนี้เพราะผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าถึง 14 ปีเมื่อไม่ได้แสดงเจตนาไว้ การอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วงก็มีผลเป็นเพียงสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570ซึ่งผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าตามมาตรา 566 เมื่อใดก็ได้ทางปฏิบัติก็มักกระทำเช่นนี้อยู่แล้ว แทนที่ผู้เช่าจะสามารถเช่าต่อไปได้อีก ตามคำมั่นจะให้เช่าถึง 14 ปี ก็อาจอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ถูกขับไล่เสียแล้ว

           พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา
 
 
  

                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 21:34:29


ความคิดเห็นที่ 3 (2214701)

สัญญาเช่า 7 ปี บังคับได้เพียง 3 ปี คำมั่นจะให้เช่าจึงระงับไปตามสัญญาเช่า

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์จากโจทก์มีกำหนดเวลา 7 ปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้สัญญาเช่ามีผลใช้บังคับเพียง 3 ปี โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยเช่าต่อไปจึงบอกให้จำเลยขนย้ายออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  563/2540

          เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง3ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา538กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก3ปีตามที่ตกลงกันไว้จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไปคำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ2(ก)ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ7ปียินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก15ปีย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วยดังนั้นจึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์เลขที่ 361/3 ถนนศรีสุริยวงศ์ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์จากโจทก์มีกำหนดเวลา 7 ปี ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 150 บาท โดยมิได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้สัญญาเช่ามีผลใช้บังคับเพียง 3 ปี ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยเช่าต่อไปจึงบอกให้จำเลยขนย้ายออกไป แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายหากจำเลยขนย้ายออกไป โจทก์สามารถนำอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากอาคารของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปจากอาคารของโจทก์

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมโจทก์กับคุณหญิงสะไบ พหลโยธิน ปลูกอาคารพิพาทเป็นตึกแถว 2 ชั้นหลายคูหาให้ผู้อื่นเข้าอยู่ในอาคารพิพาทแต่ต้องช่วยออกค่าก่อสร้างต่อมานางเพ็ญแข สุนทรวุฒิโชติ น้องสาวของสามีจำเลยกับจำเลยร่วมกันซื้อสิทธิการเช่าอาคารพิพาทจากผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมในราคา 580,000 บาท รวมทั้งทำสัญญาเช่ากับโจทก์และคุณหญิงสไบโดยจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าด้วยความยินยอมของโจทก์กับคุณหญิงสะไบซึ่งให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปียินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี โดยจำเลยต้องเสียค่าหน้าที่ดินจำนวน 20,000 บาท ต่อ 1 คูหา ตกลงค่าเช่าเป็นรายเดือนเดือนละ 180 บาท นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 ก่อนครบกำหนดเวลาการเช่า 7 ปี จำเลยได้มอบหมายให้พันโทพงษ์ศักดิ์สุนทรวุฒิโชติ นำหนังสือขอต่อสัญญาเช่าพร้อมเงินค่าหน้าดินจำนวน 30,000 บาท ส่งไปให้โจทก์ทางโทรเลขธนาณัติเมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ได้รับแล้วแต่กลับนำเงินดังกล่าวมาคืนให้นางเพ็ญแขโดยจะเก็บค่าเช่าเป็นเดือนละ 2,000 บาท จำเลยไม่ยินยอม โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าเพราะจำเลยได้สนองคำมั่นของโจทก์แล้วสัญญาใหม่ย่อมเกิดขึ้นในทันที โจทก์ต้องไปจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่จำเลยอีก 15 ปีนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่จำเลยอีก 15 ปีนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน เป็นสัญญาเช่ามีผลบังคับเพียง 3 ปีเนื่องจากไม่ได้มีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยอยู่ต่อมา ถือว่าเป็นการเช่าโดยไม่กำหนดระยะเวลา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อใดก็ได้จำเลยไม่มีสิทธิบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทยกฟ้องแย้ง

          จำเลย อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน

          จำเลย ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยได้สนองคำมั่นโจทก์ก่อนเวลาที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1กับจำเลยย่อมผูกพันโจทก์ให้ผู้เช่า ถือว่าสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ปัญหานี้ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และจำเลยได้สนองคำมั่นของโจทก์เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่าอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า เมื่อหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 (ก) จึงสิ้นผลบังคับไปด้วยฉะนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก ไม่มีสัญญาเช่าเกิดขึ้นดังที่จำเลยฎีกาพิพากษายืน
 

( สถิตย์ ไพเราะ - ปรีชา เฉลิมวณิชย์ - วุฒิ คราวุฒิ )

 
          

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 21:44:32


ความคิดเห็นที่ 4 (2214706)

คำมั่นจะให้เช่าด้วยวาจา

 คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์ตามที่จำเลยอ้าง หากเป็นความจริงก็เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจา ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม และเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1062/2539

          ในชั้นชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท 2 ประเด็น คือ 1. โจทก์ให้คำมั่นจะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 6 ปี หรือไม่ 2. โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นพิพาทดังกล่าวเมื่อปรากฎว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้แล้วว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ครอบคลุมรวมถึงประเด็นที่จำเลยประสงค์ให้กำหนดไว้แล้วทั้งสองประเด็น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดประเด็นพิพาทเพิ่มเติมอีก คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิม แม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม และเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตามแต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2515จึงสิ้นสุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2535 โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564 การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง 4 วัน แสดงว่าโจทก์ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินที่เช่า พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าจากผู้เช่าเดิมโดยโจทก์ให้คำมั่นแก่ผู้เช่าเดิมว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วจะให้จำเลยเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียน แต่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่และโจทก์ก็ทราบถือว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์มิได้บอกเลิกการเช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้ชดใช้ค่าเสียหาย
          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าในชั้นชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท 2 ประเด็น คือ 1. โจทก์ให้คำมั่นจะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 6 ปี หรือไม่ 2. โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นพิพาทดังกล่าวไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้แล้วว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไปหรือไม่ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงประเด็นที่จำเลยประสงค์ให้กำหนดไว้แล้วทั้งสองประเด็น ประกอบกับศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยปัญหาทั้งสองประเด็นนี้ไว้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดประเด็นพิพาทเพิ่มเติมตามที่จำเลยฎีกา

          ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ให้คำมั่นจะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 6 ปี นับแต่ครบกำหนดสัญญาเช่า จำเลยสนองรับคำมั่นของโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เห็นว่า คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์ตามที่จำเลยอ้าง หากเป็นความจริงก็เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจา ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม และเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าเดิมแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

          ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยยังครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ได้ทักท้วง ถือว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่ากันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4เป็นสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม2515 ดังนั้น สัญญาเช่าดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 13 สิงหาคม2535 โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวกันก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 564 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง 4 วัน โจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลย แสดงว่าโจทก์ได้ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

          พิพากษายืน

( จเร อำนวยวัฒนา - อรุณ น้าประเสริฐ - อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ )

          

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 21:51:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล