ReadyPlanet.com


เงินกู้นอกระบบ (ชำระหนี้ตามอำเภอใจ)


สวัสดีครับผมมีเรื่องอยากปรึกษาคุณทนายหน่อยครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่าแม่ของผมได้กู้ยืมเงินนอกระบบมา 20,000 บาท โดยเอาโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันและยังมีผู้กู้ร่วมด้วยโดยไม่ทราบว่าผู้กู้ร่วมเอาเงินมาเท่าไหร่และผมไม่รู้ด้วยว่าเป็นใคร เมื่อแม่ผมเสียชีวิตลงปรากฎว่ามีเจ้าหนี้โทรมาทวงหนี้ ถามว่าจะเอาที่ดินคืนหรือไม่ถ้าจะเอาคืนให้เอาเงินมาไถ่ถอนคืนเป็นเงิน 40,000 บาท ถ้าไม่เอาคืนเขาก็จะดำเนินเรื่องตามกฎหมาย กระผมจึงขอถามดังนี้

1.หนี้ของแม่ ผมไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเพราะตอนนั้นยังเด็กอยู่ผมจะต้องใช้หนี้แทนแม่หรือไม่

2.ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ ผู้กู้ร่วมเขาได้ไปไถ่ถอนที่ดินของเขาและของแม่ที่จำนองพร้อมกันออกมาด้วยผมอยากรู้ว่าคนที่กู้ร่วมกับแม่มีสิทธิ์ในที่ดินของแม่หรือไม่

3.ในเมื่อผู้กู้ร่วมจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วเจ้าหนี้สามารถมาทวงเงินกับผมอีกได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ เจ้าหนี้คนนี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่

4.เจ้าหนี้บอกว่าโฉนดที่ดินยังอยู่ที่เขา แล้วใครจะเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินของแม่

5.เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.7 ต่อเดือน เจ้าหนี้จะมีความผิดหรือไม่(ตอนนี้แม่เป็นหนี้เขา 8 ปีแล้ว)

ตอบผมด้วยนะครับไม่รู้จะปรึกษาใครแล้ว ขอบคุณล่วงหน้าครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ช่วย :: วันที่ลงประกาศ 2011-01-03 16:36:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2141740)

1.หนี้ของแม่ ผมไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเพราะตอนนั้นยังเด็กอยู่ผมจะต้องใช้หนี้แทนแม่หรือไม่

ตอบ---ไม่ต้องใช้หนี้แทนแม่ครับ


2.ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ ผู้กู้ร่วมเขาได้ไปไถ่ถอนที่ดินของเขาและของแม่ที่จำนองพร้อมกันออกมาด้วยผมอยากรู้ว่าคนที่กู้ร่วมกับแม่มีสิทธิ์ในที่ดินของแม่หรือไม่

ตอบ--ไม่มีสิทธิครับ ที่ดินยังเป็นของแม่อยู่

3.ในเมื่อผู้กู้ร่วมจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วเจ้าหนี้สามารถมาทวงเงินกับผมอีกได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ เจ้าหนี้คนนี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่

ตอบ--เขาทวงทำไมคุณไม่ชี้แจงให้เขาทราบเรื่องที่ผู้กู้ร่วมจ่ายเงินไปแล้ว คุณมีหลักฐานอะไรบ้าง และรู้เรื่องอะไรบ้าง เห็นบอกว่าตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่????

4.เจ้าหนี้บอกว่าโฉนดที่ดินยังอยู่ที่เขา แล้วใครจะเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินของแม่

ตอบ--ไม่มีใครมีสิทธิครับ ไปขอคืนได้ ไม่คืนฟ้องเรียกให้คืนได้

5.เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.7 ต่อเดือน เจ้าหนี้จะมีความผิดหรือไม่(ตอนนี้แม่เป็นหนี้เขา 8 ปีแล้ว)

ตอบ--เจ้าหนี้มีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา แต่ถ้าเรายินดีจ่ายให้ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้ เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2011-01-04 17:11:45


ความคิดเห็นที่ 2 (2141762)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2167/2545


พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3

          โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกู้ยืมเงินกับโจทก์ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกดอกเบี้ยคืนหรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินหาได้ไม่
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2543 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 227,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในวันกู้โจทก์หักดอกเบี้ยไว้จำนวน 6,000 บาท คงให้เงินจำเลยเพียง 194,000 บาท ส่วนข้อความในสัญญากู้ว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทำปลอมขึ้น ภายหลังกู้เงินจำเลยจ่ายดอกเบี้ยไปจำนวน 80,000 บาท คงเป็นหนี้เฉพาะต้นเงิน114,000 บาท เหตุที่จำเลยงดผ่อนชำระเนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย และขู่บังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้โจทก์แล้วเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท คงมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะนำเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวไปหักชำระหนี้ต้นเงินจากโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันมีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวคืน หรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงิน200,000 บาท หาได้ไม่อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( ดวงมาลย์ ศิลปอาชา - สมชาย จุลนิติ์ - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

หมายเหตุ 

          พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(ก) ห้ามมิให้บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในการกู้ยืมคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654เมื่อมีการทำสัญญากู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีย่อมเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายข้อตกลงในส่วนของดอกเบี้ย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 เมื่อเป็นโมฆะ จึงไม่อาจบังคับตามมาตรา 654 ตอนท้ายที่จะให้ลดดอกเบี้ยลงมาเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ ผู้กู้จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามที่ตกลงกับผู้ให้กู้

           เมื่อไม่มีดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องรับผิด การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนทรัพย์นั้นตามมาตรา 407

           แต่ที่ว่าเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้ เพราะว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 411 ด้วยนั้น น่าสงสัยอยู่ เพราะการชำระหนี้ที่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายจะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามลูกหนี้ชำระหนี้ แต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3 มิได้ห้ามผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชำระหนี้แต่อย่างใด จึงไม่น่าจะต้องด้วยมาตรา 411

           ไพโรจน์ วายุภาพ 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2011-01-04 17:49:15


ความคิดเห็นที่ 3 (2399432)

ชำระหนี้ตามอำเภอใจ(มาตรา 407),สัญญาหมั้นตกเป็นโมฆะ, ไม่ทราบว่าหญิงอายุไม่ครบ 17 ปี, ต้องคืนของหมั้นและสินสอด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1222518

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 16:25:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล