ReadyPlanet.com


ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร


หนูหย่ากับสามีและตกลงว่าเขาจะจ่ายค่าลูกให้เดือนละ 3000บาท ค่าเรียนลูกคนละครึ่ง แต่ผ่านมา 3 เดือนต่ละเดือนต้องโทรไปทวง ไม่เคยจ่ายตรงสิ้นเดือนสักที เลยเป็นอาทิตย์ก็มี หนูเลยอยากฟ้องและอยากตกลงค่าเลี้ยงดูใหม่อีกเพราะคิดว่า 3000 คงไม่พอเดี๋ยวลูกก็โต จะให้เขาไปลงบันทึกหลังหย่าเพิ่มเติมก็ไม่ไป คิดว่าต่อไปต้องมีปัญหาแน่ๆ อยากจะทำอะไรให้มันเด็ดขาด แน่ชัดไปเลย ถ้าจะให้คุยกันปากเปล่า ก็รับปากไปส่งๆ รบกวนแนะนำวิธีการด้วยนะค่ะ  หรือไม่ก็แนะนำคำพูดที่จะพูดกับเขาน่ะค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ คุณแม่ลูกหนึ่ง :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-17 20:27:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2120002)

คุณเคยเป็นสามีภริยากัน เคยรักกันมาก่อน นอกจากนั้นยังเป็นพ่อของลูก มีอะไรก็คุยกันตรง ๆ เลยครับ ถ้าผิดสัญญาก็ต้องฟ้องครับ ดำเนินการบังคับคดีผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดีน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

 

 

 

 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-17 22:40:52


ความคิดเห็นที่ 2 (2120006)

การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูของศาล

ในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้คำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี  โจทก์(บิดา-ผู้ให้) อาศัยอยู่กับมารดามีรายได้จากเงินบำนาญเดือนละ 1,200 บาท ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ส่วนจำเลย(มารดาบุตร)ยังรับราชการอยู่ได้รับเงินเดือน เดือนละ 17,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรบางส่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนนั้นจำเลย(มารดา)ย่อมเบิกจากทางราชการได้เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่โจทก์(บิดา)ต้องชำระในช่วงแรกตั้งแต่บุตรเกิดจนถึงอายุ 12 ปี ให้โจทก์  ชำระเป็นเงินรวม 300,000 บาท และต่อไปทุกเดือน เดือนละ 2,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6058/2551

          จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอดจนถึงขณะฟ้องแย้งเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท และต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวม 5,000,000 บาท จำเลยประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรปีละ 250,000 บาท การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งให้ถูกต้อง เนื่องจากพิมพ์ตัวเลขตกไป จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ทั้งจำเลยไม่ได้ขอแก้ไขทุนทรัพย์ โดยยังคงติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู 2,000,000 บาท และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อหาตามฟ้องแย้งเดิมตามมาตรา 179 จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 181 ที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนมีนาคม 2534 โจทก์และจำเลยทะเลาะกันเรื่องจำเลยประพฤติตัวไม่เหมาะสมคบหาชายอื่น โจทก์กับจำเลยจึงสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่า 3 ปี จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงพาขวัญ อายุ 11 ปีเศษ จำเลยมิได้ประพฤติตัวไม่เหมาะสมคบหาชายอื่น โจทก์ไม่เป็นสามีที่ดี มารดาโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับครอบครัวกล่าวหาจำเลย โจทก์เชื่อฟังมารดาของโจทก์ มารดาจำเลยทนพฤติกรรมโจทก์ไม่ได้จึงให้จำเลยย้ายไปอยู่ด้วย แต่จำเลยติดต่อกับโจทก์ตลอดมา ไม่ได้มีเจตนาแยกกันอยู่ โจทก์ไม่เคยช่วยเหลือจำเลยอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงพาขวัญ จำเลยอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงพาขวัญผู้เดียวเป็นเวลา 10 ปีเศษ เป็นเงินปีละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่ปัจจุบันจนบรรลุนิติภาวะอีก 10 ปี ปีละ 250,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,000,000 บาท แต่จำเลยขอเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท โดยหากศาลจะพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลยขอให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงพาขวัญแต่เพียงผู้เดียว ขอให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และขอให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลย

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินกันที่บ้านของโจทก์ มารดาโจทก์มิได้พักอาศัยอยู่ด้วยและไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวเหตุที่โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันเนื่องจากโจทก์ทราบว่าจำเลยคบหาชายอื่น จำเลยบอกโจทก์ว่าต้องการเลิกกันแล้วจำเลยย้ายสิ่งของออกไปพร้อมทั้งนัดกันไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะจำเลยกับโจทก์จึงสมัครใจแยกกันอยู่นับแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะแยกกันอยู่จำเลยยังไม่ตั้งท้อง โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยมีบุตรกับโจทก์โจทก์ไม่ขอรับรองว่าเด็กหญิงพาขวัญ เป็นบุตรของโจทก์โจทก์ไม่จำเป็นต้องชดใช้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ความจริงแล้วค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าการศึกษาไม่เกินปีละ 10,000 บาท รวม 10 ปี เป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์รับผิดชอบครึ่งหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ปัจจุบันเด็กหญิงพาขวัญอายุ 12 ปี จำเลยเรียกค่าอุปการะได้อีกไม่เกิน 8 ปี และยังไม่แน่ว่าเด็กหญิงพาขวัญจะเรียนไปอีกกี่ปี ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าศึกษาเล่าเรียน ไม่เกินปีละ 10,000 บาท รวม 8 ปี เป็นเงินไม่เกิน 80,000 บาท โจทก์รับผิดชอบครึ่งหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องรับผิดชอบไม่เกิน 90,000 บาท

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงพาขวัญ ผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่จำเลยเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยและให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือนอีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันพิพากษา โดยให้ชำระภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน (ครั้งแรกภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2547) จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนโดยคิดจากทุนทรัพย์ 400,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,000 บาท แทนจำเลย
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขฟ้องแย้งเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากปีละ 25,000 บาท เป็นปีละ 250,000 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอดจนถึงขณะฟ้องแย้งเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท และต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวม 5,000,000 บาท เห็นได้ชัดว่า จำเลยประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรปีละ 250,000 บาท ยอดเงินจึงเป็นจำนวนดังกล่าว การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งให้ถูกต้อง เนื่องจากพิมพ์ตัวเลขตกไป จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ทั้งจำเลยไม่ได้ขอแก้ไขทุนทรัพย์ โดยยังคงติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู 2,000,000 บาท และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อหาตามฟ้องแย้งเดิมตามมาตรา 179 จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 181 ในอันที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขฟ้องแย้ง ยังอยู่ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ย่อมมีโอกาสสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อหักล้างข้อแก้ไขตามฟ้องแย้งของจำเลยได้ แต่โจทก์กับแถลงหมดพยาน แสดงว่าโจทก์เข้าใจฟ้องแย้งของจำเลยดีแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อมาว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีครอบครัวของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครว่า โจทก์อาศัยอยู่กับมารดามีรายได้จากเงินบำนาญเดือนละ 1,200 บาท ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ส่วนจำเลยยังรับราชการอยู่ได้รับเงินเดือน เดือนละ 17,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรบางส่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนนั้นจำเลยย่อมเบิกจากทางราชการได้ ในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ให้คำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่โจทก์ต้องชำระในช่วงแรกตั้งแต่บุตรเกิดจนถึงอายุ 12 ปี ให้โจทก์ชำระเป็นเงินรวม 300,000 บาท และต่อไปทุกเดือน เดือนละ 2,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยในช่วงแรกเป็นเงิน 300,000 บาท และต่อไปทุกเดือน เดือนละ 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนจำเลย
                      ( พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - กีรติ กาญจนรินทร์ ) 
            

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-17 23:00:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล