ReadyPlanet.com


ขอความช่วยเหลือกรณีเรื่องค่าสินสอดกรณีที่แต่งงานตามประเพณีแล้วฝ่ายหญิงไปร่วมหลับนอนกับชายอื่น


กรณีตามข้อเท็จจริง มีการทำสัญญาหมั้นโดยปรากฏตามหลักฐานสัญญาหมั้น ดดยมอบเงินสด จำนวน 50000 บาทเป็นของหมั้น ส่วนเงินที่เหลือ 100000 บาทจะมอบให้เป็นเงินค่าสินสอดทองหมั้น ในวันแต่งงานตามประเพณี ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญา ให้ปรับ 2 เท่าของเงินสินสอด

 ปัญหา 1. ในวันแต่งงานตามประเพณี มีการเลี้ยงแขกตามประเพณีพื้นบ้าน แล้วคู่บ่าวสาว ค้างที่บ้านเจ้าสาว 3 คืน แต่พฤติการณ์ ในเวลา 3 คืน เจ้าสาวเข้าเวรดึกตลอด และทำงานในช่วงกลางวันด้วย ( เป็นผู้ช่วยพยาบาล)

      2. พอครบสามเวร เจ้าสาวก็มีพฤติการณ์ที่เข้าเวรดึกทุกวันหลังผ่านพ้น 3 คืนแรก และพักที่แฟลตโรงพยาบาลทุกวัน เจ้าบ่าวเลยมาค้างที่บ้าน

       3. พอเจ้าบ่าวดทรถามก็พยายามที่จะไม่รับบ่ายเบี่ยงมีพฤติการณืที่เปลี่ยนไป และได้ขออนุญาตไปเที่ยวกับเพื่อนที่อื่นหลังจากแต่งงานได้ประมาณ 7 วัน คือวันที่ 7 หลังจากไม่มีเวร ทำงานแล้ว เจ้าบ่าวก็โทรหา ติดต่อไม่ได้ ตลอดเวลาที่ไปเที่ยว 3 วัน คือ ไปเย็นวันศุกร์กลับเที่ยงวันอาทิตย์ เจ้าบ่าวเริ่มที่จะสงสัยก็เลยติดตามสอบถามพฤติกรรมจากเพื่อนร่วมงาน และได้เข้าไปในห้องพัก มีโทรศัพท์ของเจ้าสาวและมีข้อความโทรเข้าบ่อยเช็คดูจึงรู้ว่าเป็นเบอร์ชายอื่น จึงสอบถามได้ความพอคราวๆว่าเป็นเบอร์โทรของชายอื่นในที่ทำงานเดียวกัน ในโรงพยาบาล และชายอื่นก้มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยเพราะไม่ได้มาทำงานในวันเสาร์ อาทิตย์ พร้อมกัน จนมีพ่อชายอื่นมาถามหาที่โรงพยาบาลในเช้าวันอาทิตย์

      4. พอวันอาทิตย์กลับมาเจ้าบ่าวโทรหาไม่รับสาย มารับสายช่วงบ่ายๆ ประมาณ 2 โมงกว่าๆ และบอกว่าค่อยคุยกันอีก 2 วัน ในวันอังคาร คุยกันเจ้าสาวก็สารภาพหมดว่ามีอะไรกับชายอื่น สร้างความตะลึงแก่ฝ่ายชายและในวันดังกล่าวพฤติการณืก็ไปด้วยกัน (ด้วยความเคารพสงสารเจ้าบ่าว) จึงได้พูดคุยกันกับเจ้าสาว เจรจากับฝ่ายหญิง ในวันพฤหัสบดี โดยฝ่ายชายตัดสินใจไม่อยู่กับฝ่ายหญิงแน่นอน ไม่อยากมีผัวสองเมียหนึ่งภาษาชาวบ้าน แต่โดยฝ่ายหญิงจะขอกลับมาอยู่กับฝ่ายชาย

    5.  ฝ่ายชาวโดย เฒ่าแก่ฝ่ายชาย ได้ขอให้คืนค่าสินสอดทองหมั้น อยากทราบว่ากรณีดังกล่าวจะเรียกคืนของหมั้นและค่าสินสอดได้หรือไม่ ( ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายสารภาพเองว่ามีอะไรกับชายอื่นและลืมชายอื่นไม่ได้ แต่พอฝ่ายชายของคืนของหมั้นและค่าสินสอดจะอยู่กับฝ่ายชาย )

   6. ค่าสินสอดตามกฏหมาย คือค่าตอบแทนที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการตอบแทนที่หญิงยอมแต่งงานด้วย ( ในข้อเท็จจริงเป็นการแต่งงานตามประเพณี เรียกคืนได้หรือไม่ เพราะมีฎีกาตัดสินว่าเรียกคืนไม่ได้)

   7. ในสัญญาหมั้นระบุว่าเงินที่เหลือ 100000 ให้เป็นสินสอดทองหมั้น ในวันแต่งงานตามประเพณี ( กรณีตามข้อเท็จจริง การแต่งงานมีได้ทั้ง ตามประเพณี หรือจดทะเบียนหรือเปล่า

    8. เหตุที่เกิดขึ้น เป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายมีพฤติการณ์ที่ไม่ควรสมรส ( ฝ่ายหญิงได้กล่าวสารภาพแก่ฝ่ายชาย ว่าเคยมีอะไรกับชายอื่นมาก่อนแล้ว โดยฝ่ายชายไม่รู้เห็น

    9. ประเด็นสำคัญการแต่งงานตามประเพณีนั้นจะเรียกค่าสินสอดคืนได้หรือไม ซึ่งตามฎีกาเคยวางหลังว่าการแต่งงาน มีได้ 2 กรณี แต่งงานตามประเพณี และจดทะเบียนสมรส

   10 . เจรจากันแล้วฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนทั้งของหมั้นและสินสอดจากการแต่งงานตามประเพณี ไม่ทราบว่าจะมีทางต่อสู้อย่างไร 

  11. จะบอกเลิกการหมั้นได้ไหม

  12. จะเรียกค่าตอบแทนได้หรือเปล่า

                    ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ

                         ขอบคุณครับผม



ผู้ตั้งกระทู้ mex (nextnooi-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-03-04 17:10:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2042268)

 ตามข้อเท็จจริงที่ให้มา ถือว่ามีกรณีสำคัญอันเกิดเเก่หญิง ทำให้ชายคู่หมั้นไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น  ดังนั้นชายคู่หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น และให้หญิงคืนของหมั้นให้เเก่ชาย

คำว่าสมรส ผมหมายถึงการจดทะเบียนสมรสตามกฏหมายครับ

ส่วนค่าตอบเเทนเรียกไม่ได้ครับ แต่ค่าทดแทนอาจจะเรียกได้

เจรจากันก่อนดีกว่าครับ คดีประเภทนี้ขึ้นศาลแล้วต่างฝ่ายต่างต้องสาวไส้ให้กากิน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรงภพ (Songphobk-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-03-06 21:21:39


ความคิดเห็นที่ 2 (2399412)

มีการหมั้นกันตามประเพณี, ไม่มีเจตนาจดทะเบียนสมรส เรียกของหมั้นและสินสอดคืนไม่ได้ 
  
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1117/2535
 

          โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่

 
มาตรา 1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา 1437  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
________________________________

 


          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ได้สู่ขอและหมั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ที่ 2 ด้วยเงินสด 4,000 บาท และในวันทำพิธีสมรส โจทก์ทั้งสองได้มอบเงินสินสอดจำนวน 11,000 บาท และต้องเสียค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวน 10,150 บาท แต่หลังจากการสมรสแล้วจำเลยที่ 3 ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ที่ 2 ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบความจริงว่าขณะหมั้นจำเลยที่ 3 อายุไม่ครบ 17 ปี การหมั้นจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสามต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดกับชดใช้ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่คืนและไม่ชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,150 บาท กับดอกเบี้ย 396 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 25,150 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกสินสอดจากโจทก์อย่างเดียวเป็นเงิน 15,000 บาท หลังทำการสมรสโจทก์ที่ 2 อยู่กินกับจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือนเศษ แล้วออกจากบ้านไปเองโจทก์ที่ 2 ไม่เคยเรียกร้องให้มีการจดทะเบียนสมรสจำเลยที่ 3 ยังพร้อมที่จะจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับโจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งสามไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ทั้งก่อนและในวันแต่งงานฝ่ายโจทก์ได้เคยพูดกับทางฝ่ายจำเลยถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสให้เป็นกิจจะลักษณะ ตลอดเวลาที่อยู่กินด้วยกันประมาณ 1 เดือน โจทก์ที่ 2 ก็ไม่เคยขอให้จำเลยที่ 3ไปจดทะเบียนสมรส กลับได้ความจากโจทก์ที่ 2 เองว่า โจทก์ที่ 2ไม่เคยมีความคิดที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 มาก่อน โจทก์ที่ 2ไปขอให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสตามคำแนะนำของทนายความนอกจากนั้นโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความว่า แม้จำเลยที่ 3 อายุไม่ครบ17 ปี โจทก์ที่ 2 ก็จะแต่งงานด้วย ซึ่งแสดงว่าโจทก์ที่ 2 มุ่งประสงค์จะแต่งงานอยู่กินกับจำเลยที่ 3 ตามประเพณีเป็นสำคัญหาได้นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสไม่ เมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณี ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้แก่ฝ่ายจำเลยจึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กัน ในขณะที่จำเลยที่ 3อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่

          พิพากษายืน

 

 

( สมศักดิ์ วิธุรัติ - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ - สมมาตร พรหมานุกูล )

 
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
มาตรา 1436  ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
 
 
มาตรา 1438  การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 15:25:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล