ReadyPlanet.com


อยากทราบเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ


มีหนังสือร้องเรียนพร้อมแนบคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้เสียค่าชดเชย แต่พี่สาวของดิฉันได้ยื่นอุทธรณ์และอยู่ระหว่างรอผลการอุทธรณ์คดีอยู่) มาถึงพี่สาวของดิฉันเกี่ยวกับการให้ดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดวินัยในเรื่องชู้สาว และทางหน่วยงานก็ดำเนินการตั้งคณะกรรมการ  ดำเนินการสอบ  โดยให้ทั้งสองฝ่ายนำพยานและหลักฐานมาแสดงต่อคณะกรรมการ  จนครบทั้งสองฝ่ายแล้ว  จนกระทั่งคณะกรรมการตัดสินและลงโทษพี่สาวของดิฉันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  แต่ปรากฎว่าผู้ที่ร้องเรียนไม่พอใจผล เพราะเขาต้องการที่จะให้คณะกรรมการตัดสินว่าให้พี่สาวของดิฉันต้องออกจากงานเพียงอย่างเดียว (ในระหว่างสอบสวนนั้นผู้ร้องเรียนมักจะโทรไปกดดันคณะกรรมการอยู่ตลอดเวลา)  เขาเลยจะทำการฟ้องร้องคณะกรรมการชุดนี้ ดิฉันเลยอยากทราบว่า เขาสามารถทำได้ไหมค่ะ ถ้าทำได้แล้วคณะกรรมการชุดนี้จะมีความผิดไหม

ปล.  หลักฐานที่นำมาแก้ต่างกับคณะกรรมการชุดนี้ มีเพิ่มเติมมากกว่าตอนที่อยู่ในศาลชั้นต้น 



ผู้ตั้งกระทู้ เรื่องที่ไม่เคยเจอ :: วันที่ลงประกาศ 2009-12-09 14:15:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2014461)

เป็นสิทธิของเขาที่จะทำได้ แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้นคงไม่มีใครรู้ โดยปกติจะไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่นักเพราะคณะกรรมการเขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-12-09 18:07:09


ความคิดเห็นที่ 2 (2015196)

ผู้กล่าวหาไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7030/2551

 

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 157 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32, 33, 34, 35 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

          โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ได้มีคำอธิบายความหมายของผู้เสียหายไว้ว่า หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งข้อกล่าวหาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง และเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายได้ โดยที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

 


 

 

( มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - วีระชาติ เอี่ยมประไพ )

 

ศาลจังหวัดนนทบุรี - นายถวิล อินทรักษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายปรีชา เชิดชู

 

ผู้แสดงความคิดเห็น *** วันที่ตอบ 2009-12-12 10:02:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล