ReadyPlanet.com


ยิงผิดตัว


ขอถามครับ

เพื่อนผมเคยโดนกลุ่มวัยรุ่นหน้าปากซอยหมู่บ้านแห่งหนึ่งยิงทำร้าย เลยมาชวนผมไปเป็นเพื่อนแก้แค้น เพื่อนผมพกปืนไม่มีทะเบียนไปที่บริเวณหมู่บ้านนั้น ตอน 3 ทุ่ม เห็นกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มคุยกันอยู่คิดว่าเป็นชายวัยรุ่นที่เคยยิงตนมาก่อน จึงยิงเข้าไป 3 นัด แล้วขับมอเตอร์ไซต์หลบหนีไปต่อมารู้ว่าเป็นวัยรู่นคนละกล่มกันคือยิงผิดตัว ตอนนี้ผมกับเพื่อนโดนจับโดนแจ้งข้อหาพยายามฆ่า อย่างนี้ผมไปเป็นเพื่อนจะสู้คดีหลุดหรือไม่ กลุ้มใจมาก ช่วยตอบด้วยครับ ตอนนี้ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี



ผู้ตั้งกระทู้ ป้อม :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-24 05:12:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2009440)

สำคัญผิดในตัวบุคคล

 

ตามคำถามนั้นถือว่าเพื่อนของผู้ถามได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่า แต่บุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นไม่ใช่บุคคลที่เป็นคู่อริกันมาก่อน จึงเป็นการยิงผิดตัว ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการสำคัญผิดในตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 61 แม้ไม่ได้มีเจตนาที่จะยิงหรือพยายามฆ่าคนนี้ก็ตาม แต่จะอ้างว่าจำคนผิดหรือสำคัญผิดในตัวบุคคลเพื่อให้ไม่ต้องรับโทษไม่ได้จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า

สำหรับตัวผู้ถามนั้น หากฟังได้ว่า เราทราบดีว่าขณะไปเป็นเพื่อนนั้นเขาจะไปแก้แค้นโดยตั้งใจจะไปยิงทำร้ายกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวแล้วยังสมัครใจร่วมเดินทางไปกับเพื่อนอีกก็แสดงว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อเพื่อนไม่อานอ้างว่าสำคัญผิดในตัวบุคคลได้ ผู้ถามก็ไม่อ้างได้เช่นกันว่าไม่มีเจตนาจะทำร้ายบุคคลที่ถูกยิงได้ จึงต้องรับผิดด้วยเช่นกัน

มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัว ว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

 

 


คำพิพากษาที่  353 - 354/2550


คดีทั้งสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 246/2547 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยสองสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 246/2547 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
          โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสามมีอายุคนละ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 9 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 15 เดือน 22 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง
          จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหาย ให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 เพื่อไปยิงแก้แค้นนายชัยวัฒน์หรือโป้ วีระพงษ์ ซึ่งเคยยิงจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่านายชัยวัฒน์ และเมื่อพบผู้เสียหายกับพวก จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 2 เข้าใจว่าเป็นกลุ่มของนายชัยวัฒน์ กรณียุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายชัยวัฒน์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายชัยวัฒน์ ย่อมเป็นการกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาร่วมฆ่าผู้เสียหายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้เสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า การยิงโดยผิดตัวเป็นเจตนาของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
          พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอีกสถานหนึ่ง ให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่การควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้วให้ปล่อยตัวไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

 
 
( นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - วิชา มหาคุณ - ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ )
 
 


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-24 06:00:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล