ReadyPlanet.com


ยกสินสมรสให้เมีย



ผมจดทะเบียนหย่ากับภรรยา โดยบันทึกท้ายทะเบียนหย่าว่า สินสมรสส่วนของผมขอยกให้ภรรยาทั้งหมด  ถ้าผมถูกฟ้องทางเจ้าหนี้จะไปยึดที่ดินพร้อมบ้านที่ผมยกให้ภรรยาไปแล้วได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ทูญ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-16 08:59:46


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2006949)

การแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ

 

1.  ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสถือว่าเป็นสินสมรส คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยกให้อีกฝ่ายหนึ่งโดยเสน่หาเมื่อจดทะเบียนหย่ากันก็ได้ แต่การที่ฝ่ายยกให้มีหนี้สินอยู่ก่อนยกให้ และผู้รับการยกให้ก็ทราบดีว่าคู่สมรสมีภาระหนี้สินจึงอาจเป็นการสมยอมกันเพื่อหลีกเลียงมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนให้นั้นได้

----มาตรา 237    เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หาท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้


2. เมื่อเป็นการสมยอมกัน จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ดังนั้นที่ดินและบ้านจึงไม่ตกเป็นของผู้รับโอนเพียงผู้เดียว เจ้าหนี้จึงยึดขายทอดตลาดได้

----มาตรา 155   การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะแต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

 

 

 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2353/2536

 


 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินและบ้านพิพาท ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องขอให้ถอนการยึด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ที่ดินและบ้านพิพาทผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินของผู้ร้องเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2521ผู้ร้องและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 27 มีนาคม 2522 และจดทะเบียนหย่ากันวันที่ 4 พฤษภาคม 2527 จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านว่าที่ดินและบ้านพิพาทไม่ได้เป็นของผู้ร้อง ขอให้เพิกถอนการยึด

          เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสของผู้ร้องและจำเลย เมื่อจำเลยและผู้ร้องหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา จำเลยได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้ผู้ร้องโดยไม่สุจริตเป็นการสมยอมกัน ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการยึดขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์บางส่วน

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาบางส่วน

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในราคา 199,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2521มีจำเลยเป็นพยานในสัญญาด้วย ผู้ร้องชำระมัดจำและราคาให้ผู้ขายเป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อเดือนมีนาคม 2522 หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ผู้ร้องจึงได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขาย แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยด้วย เชื่อได้ว่าผู้ร้องและจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน หาใช่ผู้ร้องซื้อด้วยเงินส่วนของผู้ร้องตามลำพังไม่ ทั้งผู้ร้องชำระราคาส่วนใหญ่และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทหลังจากจดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว ต้องถือว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างสมรสกับจำเลย จึงเป็นสินสมรสของจำเลยและผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) การที่ผู้ร้องและจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันและจำเลยยกที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้ผู้ร้องทั้ง ๆ ที่ผู้ร้องทราบถึงภาระหนี้สินของจำเลยเช่นนี้ ถือว่าเป็นการสมยอมกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จึงไม่ทำให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่เพียงฝ่ายเดียว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

( ปรีชา เฉลิมวณิชย์ - บุญส่ง วรรณกลาง - เสมอ อินทรศักดิ์ )

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-16 09:13:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล