ReadyPlanet.com


ขโมยข้อมูคอมพิวเตอร์บริษัทผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่


คำพิพากษาฎีกาที่ 5161/2547 ละบุว่าไม่ผิดฐานลักทรัพย์ เพราะถือว่าไม่ใช้ทรัพย์สิน แต่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาถือว่าผิด



ผู้ตั้งกระทู้ สมใจ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-08 15:18:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2004409)

มาตรา 137   ทรัพย์ หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง

มาตรา 138   ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
 

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาบัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สร้าง ผู้ประดิษฐ์ งานต่างๆเหล่านั้น ดังนั้นทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่ใช่ทรัพย์ครับ การละเมิดสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามที่ศาลฎีกา วินิจฉัยไว้ดังกล่าวครับ

ที่คุณเข้าใจว่าในทางทรัพย์สินทางปัญญาถือว่าผิดนั้น ก็เป็นการผิดตามกฎหมายเฉพาะเหล่านั้น แต่ไม่ได้ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ครับ

เพื่อประโยชน์สำหรับผู้อ่านท่านอื่นจึงได้คัดลอกคำพิพากษาศาลฎีกามาให้อ่านครับ

คำพิพากษาที่  5161/2547


 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นพนักงานแผนกต่างประเทศของโจทก์ร่วม มีหน้าที่เตรียมเอกสารคำขอใบอนุญาต ติดต่อหน่วยราชการ ติดต่อประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยนำเอกสารจำนวนประมาณ ๔๐๐ แผ่น ตามเอกสารหมาย จ. ๓ จากสำนักงานโจทก์ร่วมไปไว้ที่บ้านจำเลยเพื่อทำงานให้แก่โจทก์ร่วม กับนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมจากแผ่นบันทึกข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมจำนวนรวม ๔๑ แผ่น โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีระเบียบห้ามนำเอกสารออกนอกที่ทำการ แม้จะไม่ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาดตามระเบียบนั้น แต่มิได้หมายความว่า เมื่อพนักงานนำงานออกจากที่ทำการของโจทก์ร่วมไปทำต่อที่บ้านแล้ว พนักงานไม่จำต้องนำเอกสารที่เหลือหรือ มิได้ใช้งานแล้วมาคืนโจทก์ร่วม การที่จำเลยทำงานเสร็จแล้ว กลับไม่นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาคืนเพื่อส่งคืนลูกค้า เป็นการทำให้โจทก์ร่วมเสียหายแล้ว เพราะเอกสารส่วนหนึ่งเป็นความลับของลูกค้า เห็นว่า ตามคำเบิกความของ นางจิตติมา โสตถิพันธ์ พนักงานโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศได้ความว่า เอกสารหมาย จ. ๓ ซึ่งลูกค้าส่งมาให้โจทก์ร่วมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองของบริษัทบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นงบบัญชีกำไร-ขาดทุน และสำเนาหนังสือเดินทางเอกสารดังกล่าวจึงล้วนเป็นเอกสารที่บุคคลสามารถไปขอตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้ จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ จึงไม่ถือเป็นความลับของบริษัทลูกค้าโจทก์ร่วมอันต้องปกปิด ดังนั้น การที่จำเลยใช้เอกสารดังกล่าวปฏิบัติในหน้าที่ให้แก่โจทก์ร่วมเสร็จแล้วไม่นำกลับคืนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหรือลูกค้าของโจทก์ร่วมต้องเสียหาย การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมหรือผู้อื่น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็น พ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมต่อไปว่า การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์ร่วมฎีกาว่าข้อมูลใน เครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมมีรูปร่างเป็นตัวอักษร ภาพ แผนผังและตราสาร จึงเป็นทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗ การที่จำเลยเอาข้อมูลของโจทก์ร่วมดังกล่าวไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ ความหมายว่า "ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือ การคำนวณ" ส่วนข้อเท็จจริงหมายความว่า "ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือ เหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง" ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสาร เป็นเพียงสัญญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูลโดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗ บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-08 16:38:53


ความคิดเห็นที่ 2 (2004623)

หมายเหตุ

 

ท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ตาม ป.อ. มาตรา 334 ใช้คำว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่น ฯลฯ ไป ฯลฯ ตราบใดที่ยังไม่มีบทกฎหมายเฉพาะสำหรับเรื่องกระแสไฟฟ้า ศาลก็ต้องตีความคำว่า "ทรัพย์" ว่าหมายความถึงกระแสไฟฟ้าด้วยหรือไม่

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 ตัดสินว่า การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี และศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6384/2547 ตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในข้อที่ว่า จำเลยลักคลื่นสัญญาณโทรศัพท์จากสายสัญญาณและตู้โทรศัพท์สาธารณะของผู้เสียหายไปโดยทุจริต

ท่านอาจารย์จิตติ อธิบายต่อไปว่า ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างจับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิเรียกร้องลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิในการประดิษฐ์ หรือสิทธิในชื่อการค้า ฯลฯ ไม่เป็นสิ่งที่ลักได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่กำลังบันทึกหมายเหตุอยู่นี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของโจทก์ร่วม จำพวกที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการแปลเอกสารและแบบร่างสัญญาภาษาอังกฤษ โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยนำเอาแผ่นบันทึกมูลเปล่าของจำเลยเองมาคัดลอกข้อมูลดังกล่าวจากแผ่นบันทึกข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วม

น่าสังเกตว่าคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยลักแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วมไปซึ่งแน่นอนว่าตัวแผ่นบันทึกข้อมูลนั้นย่อมเป็นทรัพย์ เป็นวัตถุมีรูปร่าง จับต้องได้ และย่อมเป็นสิ่งที่ลักเอาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

แต่เมื่อสิ่งที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าลักไปในคดีนี้คือ ข้อมูล จึงมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวางหลักการอีกครั้งว่า ข้อมูล เป็นวัตถุมีรูปร่างที่ลักได้หรือไม่

ข้อมูลในคดีนอกจากจะเป็นข้อเท็จจริงแล้วยังมีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ได้นิยามว่าหมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร ซึ่งหากข้อมูลที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของเอกสาร แล้วจำเลยเอาเอกสารเหล่านั้นไปเสีย ก็น่าคิดว่าจะเป็นการลักทรัพย์ที่เป็นเอกสารหรือเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสาร

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งได้นิยามความหมายของ "ความลับทางการค้า" ว่าหมายความว่า ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าวโดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ โดยข้อมูลการค้าที่จะเป็นความลับทางการค้านั้นหมายความว่า เป็นสิ่งที่สื่อความหมายให้รู้ข้อความ เรื่องราว ข้อเท็จจริง หรือสิ่งใดไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะจัดทำไว้ในรูปใดๆ และให้หมายความรวมถึงสูตร รูปแบบ งานที่ได้รวบรวมหรือประกอบขึ้น โปรแกรม วิธีการ เทคนิค หรือกรรมวิธีด้วย และในมาตรา 6 ได้บัญญัติว่า การละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ การกระทำที่เป็นการเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของความลับทางการค้านั้นอันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้ ผู้ละเมิดจะต้องรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อแนวทางปฏิบัติเช่นว่านั้น และการกระทำที่มีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันหมายความรวมถึงการผิดสัญญา การละเมิดหรือการกระทำในประการที่เป็นการจูงใจให้ละเมิดความลับอันเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน การติดสินบน การข่มขู่ การฉ้อโกง การลักทรัพย์ การรับของโจร หรือการจารกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดด้วย

จากบทบัญญัติดังกล่าวดูประหนึ่งว่าหากข้อมูลในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นความลับทางการค้าแล้ว ก็สามารถที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้

ตามกฎหมายอังกฤษ The Theft Act 1968 ศาลอังกฤษยังคงถือว่าความลับทางการค้า (Trade Secrets or Confidential Information) ไม่สามารถเป็นวัตถุแห่งการลักเอาไปได้" ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลอันเป็นความลับนั้นไม่ใช่ทรัพย์สิน (Property) ตามความมุ่งหมายของ The Theft Act เหตุผลหนึ่งคงเพราะแม้ความลับทางการค้าจะจัดว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ในประเภททรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็เป็นการจัดให้เป็นเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองทางแพ่งแก่ความลับทางการค้าอันเป็นแนวความคิดในการส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาเองได้ใช้กฎหมายเฉพาะ (Theft and Larcery Statutes) ในการพิจารณาว่าข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้านั้นสามารถเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้

สำหรับประเทศไทยนั้นดังได้กล่าวแล้วว่า พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6 บัญญัติเป็นทำนองประหนึ่งว่าข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้านั้นสามารถเป็นวัตถุแห่งการลักทรัพย์ได้ ในขณะที่ศาลฎีกาเองโดยคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ เนื่องจากไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานะของข้อมูลว่าเป็นความลับทางการค้าหรือไม่ จึงยังไม่อาจคาดหมายได้ว่า หากสิ่งที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเอาไปเป็นข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้า ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าอย่างไร

...สอนชัย สิราริยกุล


*Addition

สรุปเกี่ยวกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องการลักพลังงานนั้น ศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐาน(Precedent)ไว้ดังนี้

ตามแนวฎีกา แยกได้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีแรก ลักทรัพย์ คือ การลักกระแสไฟฟ้า (ฎ. ประชุมใหญ่) และ การลักสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ (ฎ.1880/2540 ประชุมใหญ่)

กรณีที่สอง ไม่เป็นลักทรัพย์ คือ การลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฎ.5354/2539 และ ฎ.8177/2543)

 

แนวแรก มี 2 คำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501


อัยการกรมอัยการ โจทก์
นายฮั่วเชียง หรือฮวดเชียง แซ่เตีย ที่ 1 จำเลย
นางเตียโค้ หลีเกียง ที่ 2 จำเลย

ป.อ. มาตรา 334, 335
ป.พ.พ. มาตรา 98, 99

การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2501)

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัว สมคบกันลักทรัพย์(กระแสไฟฟ้า) ของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ กรมโยธาเทศบาล เป็นราคา 9 บาทขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา 293, 294, 63
จำเลยปฏิเสธ
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยใช้ค่ากระแสไฟฟ้า 9 บาทด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมทำผิดด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า กระแสไฟฟ้าไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา จึงย่อมลักกันไม่ได้
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าตามรูปคดียังไม่พอจะเอาผิดแก่จำเลยที่ 2 ฐานสมคบกับจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้ารายนี้
พิพากษายืน
( สารรักษ์ประนาท - ประมูล สุวรรณศร - ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2542 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2541)

พนักงานอัยการ จังหวัด ชัยภูมิ โจทก์
นาย บรรหาร ศรีภิรมย์ จำเลย

ป.อ. มาตรา 56, 334

คำว่า "โทรศัพท์" สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่าโทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลย ลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้ เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้า จำเลยเป็นนักศึกษา อายุยังน้อย ประกอบกับได้ บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วและเพิ่ง กระทำความผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรกจึงเห็นควรให้รอการลงโทษ จำเลยไว้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับด้วย

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2539และระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ หมายเลข 821119 และหมายเลข 821145 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้เสียหายไปคิดเป็นเงิน 861 บาท และ 1,822 บาท ตามลำดับขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3235(1)(10) วรรคสาม, 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ18 ปี รู้ผิดชอบดีแล้วจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำคุกกระทงละ1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 91 เป็นความผิด 2 กระทงให้จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวมจำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(10) วรรคสามจำเลยฎีกาฝ่ายเดียว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1หรือไม่ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเป็นเพียงการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธิ ไม่ใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วว่าจำเลยเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้จริง คำว่า "โทรศัพท์"สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่มที่ 7 หน้าที่ 250 อธิบายว่าโทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้าตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ 877/2501 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายฮั่วเชียงหรือฮวดเชียง แซ่เตียกับพวก จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539 ระหว่างอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายแมน นุ่มละมุล จำเลย ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยปรับจูน และก๊อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือแล้วใช้รับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายที่ล่องลอยอยู่ในอากาศกรณีจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องลักสัญญาณโทรศัพท์ที่อยู่ภายในสายโทรศัพท์และอยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่เห็นว่า จำเลยเป็นนักศึกษา อายุยังน้อย ประกอบกับได้บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วและเพิ่งกระทำความผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยกระทงละ 2,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับกระทงละ 1,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษทุก 3 เดือน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
( ชาญชัย ลิขิตจิตถะ - กนก พรรณรักษา - ชวเลิศ โสภณวัต )

หมายเหตุ
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้มีดังนี้
1. ศาลฎีกาให้วินิจฉัยคดีนี้โดยอ้างนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่ที่ 877/2501 โดยถือว่าเป็น "เรื่องลักสัญญาณโทรศัพท์ที่อยู่ภายในสายโทรศัพท์" จากคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2501 ก็ดีหรือในปี 2542 ที่กำลังศึกษาอยู่นี้ก็ดี เลยทำให้คิดว่าหากมีการลักคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งตามสายเคเบิ้ล ที่กำลังนิยมใช้กันอยู่ในขณะนี้ก็คงจะถือได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 แต่ในขณะเดียวกันหากเป็นการลักคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งผ่านดาวเทียมสื่อสารมายังจานรับสัญญาณดาวเทียมที่ติดอยู่ตามบ้านแล้ว ก็คงจะไม่ผิดตามมาตราดังกล่าวโดยอาศัยเทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539 ผลของคดีที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมานี้เป็นเรื่องที่น่าพิเคราะห์โดยละเอียดอย่างยิ่งเพราะมีการลักขโมยคลื่นสัญญาณเช่นเดียวกันและจากแหล่งที่ส่งคลื่นแหล่งเดียวกันรวมทั้งรายการโทรทัศน์ที่ปรากฏในเคเบิ้ลทีวี ก็เป็นรายการเดียวกัน แต่ผลของคดีจะแตกต่างกันตรงที่ว่า การลักคลื่นสัญญาณนั้นเป็นการลักสัญญาณที่ส่งมาตามสายหรือไม่

2. จากข้อสังเกตตามข้อ 1 ข้างต้น จึงควรมีกฎหมายเฉพาะที่ใช้ในการวินิจฉัยคดีทำนองนี้ในอนาคต ไม่ใช่ยังคงอาศัยประมวลกฎหมายอาญาที่ร่างขึ้นมาภายใต้หลักกฎหมายและแนวความคิดที่แตกต่างจากวิวัฒนาการของโลกในปัจจุบัน

3. ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่กำลังศึกษาอยู่นี้ จำเลยกระทำผิดโดยลักสัญญาณโทรศัพท์จากผู้เสียหายคิดเป็นเงิน 861 บาท และ1,822 บาท ตามลำดับ แต่จำเลยต้องถูกปรับกระทงละ 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง โดยศาลฎีกามิได้อ้างเหตุผลไว้ในคำพิพากษาว่าศาลฎีกาเห็นอย่างไร คงมีเพียงว่า "เพื่อให้จำเลยหลาบจำ" ซึ่งคงเป็นเพราะคดีนี้กระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน หรือมิฉะนั้นก็คงเป็นเพราะศาลพยายามใช้โทษปรับให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ลงโทษจำคุกซึ่งรอไว้อยู่แล้ว มิฉะนั้น จำเลยจะรู้สึกเหมือนไม่ได้รับโทษเท่าใดนัก

พรชัยด่านวิวัฒน์


แนวที่สอง มี 2 คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539
พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการ สูงสุด โจทก์
นาย แมน นุ่ม ละ มูล จำเลย

ป.อ. มาตรา 334 ป.วิ.อ. มาตรา 185

จำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาปรับจูนและก๊อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้รับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพียงการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334ริบของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 24,733 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 23 กระทงหนึ่งและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 10,000 บาท และฐานลักทรัพย์จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี และปรับ10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเพื่อให้ไว้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 24,733 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยในประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ถึง 28 ตุลาคม2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยการนำโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโมบิล่าซิตี้แมน 200 มาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอโค๊ดหมายเลข 4000 และก๊อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ระบบเซลลูล่า 900 มือถือของบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336ของผู้เสียหายคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,733 บาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่าที่ฟ้องระบุว่าจำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก๊อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้นก็เป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธินั่นเองจึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาต่อไปมีว่า ควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่าเมื่อฟังว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว จำเลยยังคงมีความผิดฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลย 5,000 บาท เท่านั้น และโจทก์มิได้อุทธรณ์ในลักษณะของให้เพิ่มเติมโทษจำเลยสูงขึ้น ปัญหาเรื่องควรรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ( สมมาตร พรหมานุกูล - ชลอ บุณยเนตร - กอบเกียรติ รัตนพานิช )

หมายเหตุ

(1) เป็นการแน่นอนที่โทรศัพท์มือถือของจำเลยก็ดี ของผู้เสียหายก็ดี ย่อมเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน แต่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ใช่ทรัพย์หรือทรัพย์สิน การนำโทรศัพท์มือถือมาปรับจูนและก๊อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์แล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายหรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต จึงไม่ใช่เป็นการลักทรัพย์เพราะเป็นเพียงการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายหรือเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิอย่างศาลฎีกาว่า

(2) แม้ในทางอาญา จำเลยจะไม่มีความผิด แต่ในทางแพ่ง ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำต่อสิทธิของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ (sansdroit)จึงเป็น "โดยผิดกฎหมาย"(unlawfully) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และฐานลักทรัพย์ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้เสียหายมิได้ฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายเข้ามาด้วย เป็นตัวอย่างคดีอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า แม้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิผิดหน้าที่ต่อเอกชนทางแพ่ง แต่ในทางอาญานั้น จำเลยไม่มีความผิด

ไพจิตรปุญญพันธ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8177/2543

พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์
นาย สุวิทย์ ศรีลับซ้าย จำเลย

ป.อ. มาตรา 334

การกระทำของจำเลยตามฟ้องที่ระบุว่าจำเลยร่วมกับพวกลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกนำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของโทรศัพท์ผู้อื่นมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานีและชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ของผู้เสียหายนั้น เป็นเพียงการรับส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริตการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง แต่จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมฯ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำให้เกิดการรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม โดยร่วมกันนำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาปรับคลื่นสัญญาณความถี่และรหัสประจำเลขหมายในภาครับและภาคส่งของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 2165791 ทำให้เคลื่อนสัญญาณของโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมาย 2165791 ขัดข้องไม่อาจใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารได้แล้วจำเลยนำโทรศัพท์ที่ปรับคลื่นสัญญาณมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกผ่านชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูล่าร์ 470 ขององค์การโทรศัพท์ผู้เสียหายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นซึ่งคำนวณเป็นราคาทรัพย์ที่จำเลยลักไปเป็นเงิน 52,265.40 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 83,91, 33 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23, 24, 26 ริบของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 52,265.40 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 26 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานร่วมกันลักทรัพย์จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน 52,265.40 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกนำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของโทรศัพท์หมายเลข 2165791มาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานีและชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูล่าร์ 470 ของผู้เสียหาย คำนวณเป็นราคาทรัพย์ที่ลักไป52,265.40 บาท นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสองแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะพินิจซึ่งจำเลยไม่ค้านว่า จำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาให้บริการแก่บุคคลทั่วไปที่บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 3 บาท เป็นการหาประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหาย และระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความผิดที่ร้ายแรง ไม่สมควรที่บุคคลอื่นจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ และยกคำขอให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
( วิเทพ ศิริพากย์ - มงคล ทับเที่ยง - ปุญพัฒน์ อิทธิธรรมวินิจ )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น หลอ วันที่ตอบ 2009-11-09 11:03:50



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล