ReadyPlanet.com


อายุความ ฟ้องเรียกเงินที่ได้ทดลองจ่าย


ในกรณีที่ได้จ่ายเงินทดลองให้ลูกค้าไปก่อนในฐานะตัวแทนนายหน้านั้น มีอายุความฟ้องร้องเรียกเงินคืนนานเท่าไหร่



ผู้ตั้งกระทู้ อุดม (Udom_1998-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-21 10:41:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1997294)

การที่ตัวแทนนายหน้าได้ออกเงินทดรอง ชำระหนี้ให้ลูกค้าไปก่อน ตามคำสั่งของลูกค้านั้น เป็นการปฏิบัติในฐานะตัวแทนตามสัญญาตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น

      อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัด หรือโดย ปริยายก็ย่อมได้

ตามคำถามเป็นกรณีที่ ตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/30

มาตรา 193/30    อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือ  กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

 

 


อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2530

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยในการสั่งให้จำเลยเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จำเลยได้เคยซื้อขายหุ้นแทนโจทก์หลายครั้ง รวมทั้งหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัด ซึ่งโจทก์มีอยู่หนึ่งหมื่นหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงินหนึ่งล้านบาทจำเลยได้รับเงินปันผลไว้แทนโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 257,850 บาทซึ่งจำเลยมิได้มอบให้โจทก์ โดยจำเลยอ้างว่าหักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ค้างชำระ ซึ่งความจริงโจทก์ไม่เคยติดค้างหนี้สินกับจำเลยสำหรับในหุ้นราคาหนึ่งล้านบาท จำเลยก็ไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบใบหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัดจำนวนหนึ่งหมื่นหุ้นให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้จำเลยใช้เงินค่าหุ้นจำนวนหนึ่งล้านบาท กับให้จำเลยคืนเงินปันผลพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 284,440.75 บาท และส่งมอบเงินปันผลที่จะได้รับจากหุ้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินปันผลที่จะได้รับนับแต่วันที่จำเลยได้รับจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,257,850 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยได้ออกเงินทดรองค่าหุ้นเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาทไปแทนโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้ชำระให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงหุ้นพิพาทไว้พร้อมทั้งนำเงินปันผลจำนวน 250,050 บาท มาชำระหนี้ที่โจทก์ยังคงค้างจำเลยอยู่ จำเลยออกเงินทดรองค่าหุ้นแทนโจทก์ตั้งแต่วันที่20 ธันวาคม 2521 โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2516 เป็นเงิน 611,507 บาทเมื่อหักเงินปันผลแล้วคงค้างดอกเบี้ย 361,457 บาท จึงขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 1,361,457 บาทแก่จำเลย และให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินหนึ่งล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้จำเลยเสร็จ

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า หุ้นพิพาทนี้จำเลยได้คิดหักบัญชีไปจากโจทก์แล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความ จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากหนี้ที่ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลยหนึ่งล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2520จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้เอาเงินปันผลจำนวน 250,050 บาท หักออกเสียก่อน เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้แล้ว ให้จำเลยมอบใบหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัด จำนวน 10,000 หุ้นให้โจทก์ ถ้าส่งมอบไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งล้านบาทแก่โจทก์

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกเงินทดรองจ่ายค่าหุ้นซึ่งชำระแทนโจทก์ไปเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาทนั้น จำเลยมิได้ฟ้องเสียภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) (7)ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินธุรกิจซื้อขายหุ้นของโจทก์ได้กระทำโดยผ่านทางจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ การจะซื้อหรือขายหุ้นเป็นจำนวนเท่าใดมีมูลค่าอย่างไร จำเลยจะต้องกระทำไปตามคำสั่งของโจทก์ทั้งสิ้น ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์สำหรับธุรกิจประเภทนี้ก็ได้มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขกันไว้ล่วงหน้า กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยกระทำไปตามขั้นตอนซึ่งเป็นคำสั่งของโจทก์และข้อตกลงดังกล่าวโดยตลอด จำเลยมิได้มีอำนาจในการที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการดูแลกิจการของโจทก์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นลักษณะของตัวการตัวแทน การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแทนโจทก์ในกิจการที่โจทก์มอบหมายให้ปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีอันเป็นลักษณะทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164หาใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(1) (7) ดังที่โจทก์เข้าใจไม่ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน.

 

 

( สวัสดิ์ รอดเจริญ - ดุสิต วราโห - คำนึง อุไรรัตน์ )

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-21 10:55:14


ความคิดเห็นที่ 2 (1997300)

ทนายความรับชำระหนี้จากลูกหนี้แทนตัวความแล้วเบียดบังเอาเงินนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  33/2532


 โจทก์มอบหมายให้จำเลยซึ่ง เป็นทนายความของโจทก์ในคดีก่อนมีอำนาจรับเงินจากจำเลยในคดีนั้นแทนโจทก์ได้ เมื่อจำเลยรับเงินจาก ธ. ซึ่ง ชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยในคดีดังกล่าว เงินที่จำเลยรับไว้จึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน ยักยอก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐาน ยักยอกโดย บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันเวลาที่ระบุไว้ จำเลยรับเงินจาก ธ. ซึ่ง ชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 180,000 บาท และจำเลยเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต มิได้บรรยายให้ปรากฏว่าจำเลยรับเงินกี่ครั้งครั้งละเท่าใด ดังนี้ แม้จะพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมศาลก็จะเรียงกระทงลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะเป็นการนอกเหนือไปจากฟ้องปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วย มาตรา 225.


( สุวรรณ ตระการพันธุ์ - ศักดิ์ สนองชาติ - กู้เกียรติ สุนทรบุระ )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-21 11:08:05


ความคิดเห็นที่ 3 (1997924)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

สัญญาตัวแทน

เมื่อตัวการไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของตัวแทนประการใด จึงยังถือไม่ได้ว่าตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยไม่ชอบ เมื่อตัวการชำระราคาค่าซื้อหุ้นที่ตัวแทนออกเงินทดรองไปพร้อมทั้งค่าบริการให้แก่ตัวแทนครบถ้วนตามข้อตกลง  ตัวแทนก็ส่งมอบใบตอบรับตราสารการโอนหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีค่าเท่ากับใบหุ้นให้ ตัวการครบถ้วนตามจำนวนที่ ตัวการสั่งซื้อย่อมแสดงว่าตัวแทนได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยชอบแล้ว

  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธีเงินเชื่อ จำเลยจะออกเงินทดรองจ่ายค่าหุ้นแทนไปก่อนแล้วคิดดอกเบี้ยและค่าบริการจากโจทก์เป็นรายเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยมีหน้าที่ต้องซื้อหุ้นตามจำนวนราคาและในวันที่โจทก์สั่งซื้อและจะต้องรับมอบหลักทรัพย์พร้อมตราสารการโอนจากผู้ขายมาภายใน 4 วันทำการ เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันได้รับหุ้นและตราสารนั้นมา ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2522 โจทก์สั่งให้จำเลยซื้อหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด รวม 4 ครั้ง จำนวน 1,700 หุ้น จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าได้ซื้อหุ้นดังกล่าวให้แล้ว โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนถูกต้องครบถ้วนจึงได้ชำระดอกเบี้ย ค่าบริการและค่าหุ้นแก่จำเลยไป ต่อมาโจทก์พบว่าโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด จำนวน 200 หุ้นและหุ้นจำนวน 200 หุ้นดังกล่าว จำเลยก็ได้โอนขายไปโดยพลการ แสดงว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่ตัวแทน ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิใดในหุ้น ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระไปพร้อมดอกเบี้ย


          จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อหุ้นตามฟ้องให้โจทก์ โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินให้จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นกับตราสารการโอนหุ้นลอยไว้ หุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด 200 หุ้น จำเลยได้นำใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นลอยโอนใส่ชื่อโจทก์โดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนแทน ต่อมามีลูกค้ารายอื่นสั่งให้จำเลยขายหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด จำเลยก็ขายและนำใบหุ้นกับตราสารการโอนหุ้นลอยซึ่งเก็บไว้ในกองกลางส่งมอบแก่ผู้ซื้อบังเอิญนำใบหุ้นที่มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของส่งมอบไปแต่ยังคงถือว่าโจทก์มีหุ้นอยู่กับจำเลย 200 หุ้น และจำเลยก็พร้อมที่จะส่งมอบให้โจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยครบถ้วน จำเลยก็ส่งมอบใบหุ้นให้โจทก์ครบถ้วนตามที่สั่งซื้อ ขอให้ยกฟ้อง


          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์


          โจทก์อุทธรณ์


          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน


          โจทก์ฎีกา


          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นนายหน้าและตัวแทนเพื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์หรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นเป็นกรณีพิเศษ โจทก์ยอมผูกพันกันและรับผลการปฏิบัติของจำเลยตลอดมาโดยหาเคยสนใจที่จะให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ ได้ความว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่เคยออกระเบียบข้อบังคับให้สมาชิกผู้ซื้อหุ้นแทนลูกค้าต้องโอนชื่อในหุ้นที่ซื้อมาให้เป็นชื่อของลูกค้าก่อน การจดทะเบียนโอนหุ้นเป็นชื่อของลูกค้าต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างลูกค้ากับสมาชิกผู้ซื้อ เมื่อจำเลยออกเงินทดรองซื้อหุ้นแทนโจทก์ จำเลยจะได้รับใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นซึ่งมีลายมือชื่อผู้โอนมาโดยยังไม่มีชื่อผู้รับโอน จำเลยยังไม่โอนหุ้นใส่ชื่อโจทก์เพราะโจทก์ยังมิได้ชำระเงินที่จำเลยออกทดรองแทนไป ทั้งการโอนใส่ชื่อโจทก์ เพราะโจทก์ยังมิได้ชำระเงินที่จำเลยออกทดรองแทนไปทั้งการโอนใส่ชื่อโจทก์ทันทีจะไม่สะดวกในกรณีที่โจทก์สั่งขายหุ้นนั้นต่อไปดังนั้น การที่จำเลยซื้อหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ให้โจทก์ได้ตามคำสั่งของโจทก์แล้วนำใบหุ้นพร้อมด้วยตราสารการโอนหุ้นมาเก็บรักษาไว้เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์และขณะเดียวกันจำเลยก็ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาด้วย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยชอบ โจทก์จะปฏิเสธการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับหุ้น 1,500 หุ้นเพียงเพราะเหตุที่ไม่ปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นหาได้ไม่ ส่วนหุ้น 200 หุ้นซึ่งเคยมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นแล้วจำเลยขายไปนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ประกาศปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อจ่ายเงินปันผลและเพื่อให้สิทธิผู้ถือหุ้นเก่าซื้อหุ้นที่ออกใหม่ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2522 เวลา 10.30 นาฬิกา ในวันและเวลาดังกล่าว โจทก์มีหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด อยู่ที่จำเลย 200 หุ้นจำเลยจึงโอนหุ้น 200 หุ้นนั้นเป็นชื่อโจทก์ เมื่อบริษัทราชาเงินทุน จำกัดออกใบหุ้นใหม่ใส่ชื่อโจทก์แล้ว จำเลยก็รับใบหุ้นมาทำตราสารการโอนหุ้นลอยไว้โดยจำเลยลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ต่อมามีลูกค้ารายอื่นของจำเลยสั่งขายหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด จำเลยก็หยิบใบหุ้นพร้อมตราสารการโอนหุ้นที่เป็นชื่อโจทก์โอนไป แต่ระหว่างโจทก์จำเลยยังคงถือว่าโจทก์มีหุ้น 200 หุ้นนั้นอยู่เช่นเดิม ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความเข้าใจสับสนว่าจำเลยขายหุ้น200 หุ้นของโจทก์ไปโดยพลการ แต่เมื่อจำเลยยังมีหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด พร้อมที่จะส่งมอบให้โจทก์อยู่ตลอดเวลาและโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยประการใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยไม่ชอบ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาค่าซื้อหุ้นที่จำเลยออกเงินทดรองไปพร้อมทั้งค่าบริการให้แก่จำเลยครบถ้วนตามข้อตกลง จำเลยก็ส่งมอบใบตอบรับตราสารการโอนหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ซึ่งมีค่าเท่ากับใบหุ้นให้โจทก์ครบถ้วนตามจำนวนที่โจทก์สั่งซื้อย่อมแสดงว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยชอบแล้ว


          เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยชอบ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้นและค่าบริการที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย คดีไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้


          พิพากษายืน ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

 

 

( ศักดิ์ สนองชาติ - อุทิศ บุญชู - สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2489/2528

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-23 10:21:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล