ReadyPlanet.com


เกี่ยวกับพินัยกรรมมรดก


สืบเนื่องจากคุณยายได้เสียชีวิตไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยที่ทายาทไม่ทราบว่าได้มีการทำพินัยกรรมไว้ แต่บัดนี้มีทายาทซึ่งได้อ้างว่าได้พบเจอพินัยกรรมอันนั้น จึงอยากจะมาขอรับมรดก ไม่ทราบกรณีนี้ เราจะต้องทำอย่างไรค่ะ เพราะว่า ทายาทคนนี้ไม่ได้มาช่วยปรับปรุงพื้นที่ๆนั้นเลย



ผู้ตั้งกระทู้ lek :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-20 12:53:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1965235)

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม*  แต่มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตาย ของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึง ความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

ดังนั้นในกรณีตามคำถาม ผู้รับพินัยกรรมจึงสิ้นสิทธิเรียกร้องให้ทายาทโดยธรรมคืนมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-20 16:10:29


ความคิดเห็นที่ 2 (1965299)

ในกรณีที่ทายาทโดยธรรมทราบว่ามีพินัยกรรมแต่ปิดบังไว้ การถือครองทรัพย์มรดกย่อมเป็นการถือครองแทนผู้รับพินัยกรรม ผู้มีสิทธิรับพินัยกรรมเรียกทรัพย์ส่วนของตนคืนได้

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายพริ้ม แปลกฤทธิ์เจ้ามรดก เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 271ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอเปลี่ยนหลักฐานเกี่ยวกับที่พิพาทจาก ส.ค.1 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 418 แล้วจำเลยทั้งสามสมคบกันไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาททั้งนี้โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่พิพาทมาโดยการให้จากบิดา การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก จึงต้องถูกจำกัดมิให้ได้รับที่พิพาทเลย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 3 ออกจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 418 เล่ม 5 ก หน้า 18 เลขที่ดิน83 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทถ้าไม่สามารถพิพากษาตามที่ขอดังกล่าวได้ให้จำเลยที่ 3 แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง ถ้าในการแบ่งตกลงกันไม่ได้ให้นำที่พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1ได้รับที่พิพาทมาโดยการยกให้จากนายพริ้ม บิดาก่อนนายพริ้มถึงแก่ความตาย ไม่ได้รับมาโดยอาศัยสิทธิตามพินัยกรรม จำเลยที่ 1ครอบครองทำประโยชน์ที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผยเพื่อเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ขณะนายพริ้มจะถึงแก่ความตายได้ขอร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยการจดทะเบียนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต อายุความคดีนี้มีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และโจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีนี้เกิน 1 ปี นับแต่บรรลุนิติภาวะและพ้นกำหนดอายุความฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ถ้าหากฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิทางพินัยกรรม นับตั้งแต่จำเลยที่ 3ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 1 ปีแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสามจัดการตกลงแบ่งที่พิพาท โดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 3ครึ่งหนึ่ง โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 3 หากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่พิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่งคำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านายพริ้มเจ้ามรดกมีบุตร 5 คน คือ นางวิลัย มารดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 นางสมใจ จำเลยที่ 1 นางเอมอร และนางยุพิน กับมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน คือนายทิวา นายพริ้มทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512ยกที่พิพาทให้แก่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสอง นายพริ้มถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2515 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 1อายุ 6 ปีเศษ และโจทก์ที่ 2 อายุ 5 ปีเศษ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกน.ส.3 ก. ในที่พิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 และในปี 2522จำเลยทั้งสองได้ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไปจดทะเบียนซื้อขายในปี 2528 เมื่อจำเลยที่ 2 บรรลุนิติภาวะ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อได้รับที่พิพาทมาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองมาโดยตลอด ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองเห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกตายมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท และกองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคแรก และมาตรา 1603วรรคแรก ดังนั้นเมื่อตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 นายพริ้มเจ้ามรดกได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสอง ที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ส่วนการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแล้วแต่พฤติการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป จำเลยที่ 1อ้างว่าเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองซึ่งขณะนั้นโจทก์ทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะมารดาถึงแก่ความตายไปก่อนนายพริ้มเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยโจทก์ที่ 1 ไปอยู่กับนางยุพินตั้งแต่มารดาตาย ส่วนโจทก์ที่ 2ไปอยู่กับนางชอุ่มตั้งแต่อายุ 10 ปีการที่ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ในที่พิพาทเพื่อขอออก น.ส.3 ก. ร่วมด้วยเป็นเพราะสงสารจำเลยที่ 2ได้ความว่า เมื่อนายพริ้มตายได้มีการจัดงานศพ นางยุพินเบิกความว่าหลังจากเผาศพนายพริ้ม 1 วัน พระวิเชียรฐานสีโลได้นำพินัยกรรม เอกสารหมาย จ.1 มาให้ที่บ้านซึ่งนายพริ้มพักอาศัยอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายโดยมีนางสมใจจำเลยที่ 1 และนางเอมอรกับพยานร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย พระวิเชียรฐานสีโล นำพินัยกรรมมามอบให้ 4 ฉบับ จำเลยที่ 1 รับไป 1 ฉบับ หลังจากนายพริ้มตายประมาณ3 เดือน พยานกับนางสมใจและนางเอมอรได้ไปติดต่อรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าในงานทำบุญตักบาตรงานศพนายพริ้มพยานอยู่ด้วยพร้อมกับพี่น้องทุกคน จึงเป็นการเจือสมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงข้อกำหนดในพินัยกรรม และต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท จำเลยที่ 1 ได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกนั่นเอง จึงเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและพฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย และการครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมา จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ จึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่พิพาทมาโดยการซื้อจากจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น การขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 เป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น จึงได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ส่วนของตนคืนได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ"

พิพากษายืน

( ทวิช กำเนิดเพ็ชร์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ - สมภพ โชติกวณิชย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-20 17:30:55


ความคิดเห็นที่ 3 (1965310)

ทายาทโดยธรรมครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกแม้เกิน 10 ปี ก็ยังไม่ขาดอายุความ

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปจัดการเพิกถอนการโอนนิติกรรมการซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2529และให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับ1 ใน 5 ส่วน ลงในโฉนดเลขที่ 123 และโฉนดเลขที่ 11585 ตำบลสนามจันทร์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่อาจจะปฏิบัติได้ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองเท่าราคาที่ดินทรัพย์มรดกที่ตกแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 104,540 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวมาก่อนเจ้ามรดกตาย โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาส่วนมรดกภายใน 1 ปี ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับส่วนมรดก โจทก์มาฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทั้งสองแปลงไปในราคาที่เหมาะสม จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมายโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มิได้ฉ้อฉลโจทก์แต่อย่างใด

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเกินกว่า 1 ปี โจทก์มาฟ้องเรียกทรัพย์มรดกส่วนของตนเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันได้หนึ่งในห้าส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมตามส่วนดังกล่าวในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 และโฉนดเลขที่11585 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองร่วมกันเป็นเงิน209,080 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า นางทรัพย์ ไข่แก้ว เจ้ามรดกมีทายาทซึ่งเป็นบุตรรวม 5 คน และบุตรทุกคนมีสิทธิได้รับมรดก ในจำนวนบุตรทั้งห้าคนนั้นมีนางชื่น เปียแก้ว มารดาโจทก์ทั้งสอง กับนางสาวอรุณ ไข่แก้ว จำเลยที่ 1 เจ้ามรดกมีที่ดิน 2 แปลง เป็นทรัพย์มรดกโดยแปลงแรกโฉนดเลขที่ 123 และแปลงที่สองโฉนดเลขที่ 11585 ทั้งสองแปลงอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เจ้ามรดกตายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2511 โดยก่อนตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และต่อมาปี 2519 นางชื่นมารดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกของนางชื่นตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางทรัพย์เจ้ามรดกแล้ว ต่อมาวันที่ 27ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และแล้วในวันที่ 2 มิถุนายน2529 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวในราคา 350,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลาน

ปัญหาแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินมรดกทั้งสองแปลงมาโดยตลอดโดยเจ้ามรดกตายตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2511 โจทก์มาฟ้องเมื่อวันที่25 กรกฎาคม 2529 พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น... ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกมิได้ครอบครองในฐานะเป็นของตนเองจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองนานสักเท่าใดเมื่อการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคแรกและวรรคสุดท้ายขึ้นมาต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่... พฤติการณ์ทั้งหมดดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้กระทำการโดยสุจริต และเห็นว่าที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดนั้นโจทก์ทั้งสองมีส่วนได้รับ 1 ใน 5 ส่วน จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่123 ตำบลสระน้ำจัน (สนามจันทร์) อำเภอพระปฐมเจดีย์ (อำเภอเมืองนครปฐม) แขวงเมืองนครไชยศรี (จังหวัดนครปฐม) และที่ดินโฉนดเลขที่11585 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( สมาน เวทวินิจ - ปรีชา ธนานันท์ - ประจักษ์ พุทธิสมบัติ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2535

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-20 17:43:22


ความคิดเห็นที่ 4 (1965315)

ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องคดีเพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนจากจำเลยเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก ไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาอำเภอบรรพตพิสัย ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนฉบับที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นายบุตรถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ให้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาทั้งสองศาลแก่โจทก์เป็นเงิน 6,600 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายบุตร สุริยะ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อนายบุตรถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุตรตามสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.2 นายบุตรมีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เอกสารหมาย ล.3 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่นายบุตรถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบัน เมื่อโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุตรฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของนายบุตรยึดถือไว้เพื่อนำมาจัดการมรดกตามหน้าที่ จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องมรดก นายบุตรถึงแก่ความตายเมื่อปี 2515 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และจำเลยทั้งสองครอบครองทำกินเป็นของตนเอง โจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่นายบุตรตายเป็นการฟ้องร้องในเรื่องมรดก จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย...” คำว่าคดีมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าคดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายบุตร และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุตรฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของนายบุตร กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ศุภชัย สมเจริญ - โนรี จันทร์ทร - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2549

 

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตาย ของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึง ความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-20 17:47:10


ความคิดเห็นที่ 5 (1965323)

ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ค่ะ ได้ความรู้มากๆ ค่ะ แต่ก็จะยังงงกับคำที่เกี่ยวกับทางกฎหมายค่ะ

แต่จะมีบางประเด็นที่อาจจะบอกในคำถามไม่หมดค่ะ

คือเมื่อคุณยายตายไป 3 ปี คุณแม่ได้ไปขอจดเป็นผู้จัดการมรดก(โดยไม่ทราบว่ามีพินัยกรรมอยู่) และอีกประมาณ 7 ปี คุณแม่(เป็นผู้จัดการมรดก) ได้ไปทำการโอนโฉนดไปเป็นชื่อคุณแม่ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบธรรม  และเมื่อผ่านมาอีก 10 ปี ได้มีญาติ(ซึ่งเป็นหลานที่มีชื่ออยู่ในพินัยกรรม) ได้เจอพินัยกรรม แล้วจะมาขอพื้นที่ๆ ที่คุณยายเขียนมอบให้ในพินัยกรรมค่ะ (ปัจจุบันนี้คุณแม่เสียไปแล้ว 3 ปีค่ะ) อย่างนี้ถ้ามีการฟ้องร้องกัน เราจะต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น lek วันที่ตอบ 2009-07-20 17:53:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล