ReadyPlanet.com


ผู้รับมอบอำนาจตาย


ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจให้ ก. ในการยื่นคำฟ้องต่อศาล ศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ต่อมาผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตาย  ผู้รับมอบอำนาจยังมีอำนาจในการดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้รับมอบอำนาจ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-18 22:17:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1964656)

การมอบอำนาจถ้าสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้นจนได้ยื่นฟ้องและศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว แม้ต่อมาผู้รับมอบอำนาจจะเสียชีวิตแล้ว การมอบอำนาจก็ยังมีผลอยู่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-07-19 12:48:50


ความคิดเห็นที่ 2 (1965059)

ความเห็นที่ 1 น่าจะอ่านคำถามผิดนะครับ จริง ๆ คำถาม ถามว่า หากผู้มอบอำนาจตายลง ผู้รับมอบดำเนินการต่อไปได้หรือไม่

การมอบอำนาจให้กระทำการใด ๆ ต้องบังคับตามสัญญาตัวแทน

มาตรา 826    อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทน หรือด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็นตัวแทน

อนึ่ง สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือ ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญา หรือสภาพแห่งกิจการนั้น

เมื่อตัวการ ตายสัญญาตัวแทนระงับ ดังนั้นผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจอีกต่อไป


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-20 11:56:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1965073)

เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด  จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

จำเลยให้การว่า จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 13กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกนั้นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาว่าฎีกาของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน2534 นางสร้อยไข่ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ นายศิริชัยทนายโจทก์เป็นเพียงตัวแทนช่วงของตัวความคือโจทก์ อำนาจของตัวแทนและตัวแทนช่วงย่อมสิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรม นายศิริชัยทนายโจทก์มายื่นฎีกาภายหลังโจทก์ถึงแก่กรรม คำฟ้องฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้จากคำแถลงรับของนางสร้อยไข่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 ขณะคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทำคำพิพากษาและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟังเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 นายศิริชัยทนายโจทก์ซึ่งผู้รับมอบอำนาจโจทก์แต่งตั้งให้เป็นทนายความเป็นผู้ยื่นฎีกาเมื่อวันที่27 เมษายน 2535 เห็นว่า การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 นั้น เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นตัวการถึงแก่กรรม สัญญาตัวแทนย่อมระงับไป ทนายโจทก์คงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของโจทก์จะอาจเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ ทนายโจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะรักษาประโยชน์ของตัวความไว้ได้ อำนาจทนายความหาได้หมดสิ้นไปทันที เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมไม่ ทนายโจทก์มีอำนาจลงนามเป็นผู้ฎีกาแทนโจทก์ได้เทียบเคียงนัยคำพิพากษาฎีกาที่1635/2520 ระหว่าง วัดจันทร์สโมสร โดยนายสวัสดิ์ รักวณิชย์ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ นายตงจุ่น แซ่โอว โดยนายอัมพรอนุตตรกุลวนิช ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จำเลย ฎีกาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแต่ความปรากฎต่อศาลฎีกาว่า เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งปรากฏตามมรณบัตรว่านางสร้อยไข่เป็นผู้แจ้งการตาย จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42"

จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

( ทวิช กำเนิดเพ็ชร์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ - สมภพ โชติกวณิชย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2537

หมายเหตุ

ข้อเท็จจริงคดีนี้ ข. โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทนและ ส.แต่งตั้งศ. ให้เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทน ซึ่งสามารถกระทำได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60) กรณีเช่นว่านี้ถือว่าเป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาโดยอ่านให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟังเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535โดยไม่มีการขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ ต่อมาวันที่27 เมษายน 2535 ศ.ทนายความโจทก์ซึ่งส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นผู้แต่งตั้งให้เป็นทนายความเป็นผู้ยื่นฎีกา

ตามข้อเท็จจริงนี้คงเห็นได้ชัดว่าขณะที่ ศ. ทนายความโจทก์ยื่นฎีกานั้นโจทก์ถึงแก่กรรมเกือบ 1 ปี แล้วโดยยังไม่มีผู้เข้าแทนที่โจทก์ผู้มรณะตามกฎหมายเลยตามความเข้าใจทั่วไปเห็นว่าเมื่อตัวความตายหรือผู้มอบอำนาจตาย ทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจย่อมไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 826 วรรคสองว่าสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย แต่อย่างไรก็ดี หากตัวการตายไปและสัญญาตัวแทนระงับแล้วตัวแทนไม่สามารถดำเนินการใดเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการในช่วงสำคัญนี้ ความเสียหายอาจเกิดแก่กิจการหรือทรัพย์สินของตัวการได้ มาตรา 828 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงหาทางแก้ขัดข้องไว้ให้ว่า เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตาย ตัวแทนต้องจัดการอันสมควรเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันได้รับมอบหมายจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่ตัวแทนดำเนินการปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการต่อไปได้แม้ว่าตัวการตายไปแล้วก็ตาม การฎีกาถือว่าเป็นการรักษาประโยชน์ของตัวการซึ่งเป็นตัวความเมื่อกระทำภายในกำหนดย่อมกระทำได้การแปลความหมายเช่นนี้นับว่าชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม

ตัวอย่างบรรทัดฐานเช่นนี้เคยมีแล้วคือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2520 วินิจฉัยว่า การที่ตัวความถึงแก่กรรมก่อนมีการยื่นฎีกา ทนายความมีอำนาจลงนามเป็นผู้ยื่นฎีกาแทนจำเลยผู้มรณะได้ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความไว้ระหว่างฎีกา ในวันยื่นฎีกาบุตรของจำเลยได้แต่งทนายความคนเดิมยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนที่จำเลยผู้มรณะและศาลอนุญาตแล้ว ดังนี้ ทนายความย่อมดำเนินคดีต่อไปได้ อำนาจทนายความหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่กรรมไม่สำหรับคดีนี้มีข้อแตกต่างกับกรณีตามคดีหัวข้อหมายเหตุเพียงว่าตัวความเป็นผู้แต่งตั้งทนายความเท่านั้น

มีข้อสังเกตต่อไปว่า เมื่อมีการยื่นฎีกาโดยทนายความโจทก์แล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ ศาลฎีกาจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่าศาลฎีกามีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ แต่ทางปฏิบัติศาลฎีกาจะจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และคดีนี้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในปัญหานี้ว่าความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งปรากฏตามมรณบัตรว่า ส.เป็นผู้แจ้งการตาย จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42

ปัญหาน่าพิจารณามีว่า กรณีตัวความมรณะพ้นกำหนดหนึ่งปีโดยยังไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะแต่ในการอุทธรณ์หรือฎีกาแทนทนายความผู้มรณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาในกำหนดอุทธรณ์หรือฎีกา ดังนี้ ถือว่าการอุทธรณ์หรือฎีกานั้นชอบหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่าการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกานั้นชอบ แต่ศาลสูงอาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42กรณีเช่นนี้ควรยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะเข้าไปพร้อมกับยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเพราะแม้เกินหนึ่งปีนับแต่ผู้นั้นมรณะศาลสูงอาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้เข้าแทนที่และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ เพราะอำนาจจำหน่ายคดีกรณีเช่นนี้เป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(9)(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2493,32/2516(ป) และ 1069/2531)

พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-20 12:28:56


ความคิดเห็นที่ 4 (1965091)

การที่ตัวความถึงแก่กรรมก่อนมีการยื่นฎีกา ทนายความมีอำนาจลงนามเป็นผู้ยื่นฎีกาแทนจำเลยผู้มรณะได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความไว้ระหว่างฎีกา

ในวันยื่นฎีกา บุตรของจำเลยได้แต่งทนายความคนเดิมยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนที่จำเลยผู้มรณะ และศาลอนุญาตแล้ว ดังนี้ทนายความย่อมดำเนินคดีต่อไปได้ อำนาจทนายความหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่กรรมไม่

 

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและห้องแถวของโจทก์และอนุญาตให้โจทก์รื้อห้องแถวพิพาทเมื่อพ้นระยะเวลาที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ให้จำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในตึกแถวที่โจทก์จะก่อสร้าง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง เพราะเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนฟ้องข้ออื่นของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2518ทนายจำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2518 ในวันที่ทนายจำเลยยื่นฎีกานายอัมพร อนุตตรกุลวนิชผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่านายตงจุ่นจำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2518 ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตงจุ่นจำเลยขอเข้ารับมรดกความแทนที่นายตงจุ่นจำเลยผู้มรณะ ศาลอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฯลฯ สำหรับคำแก้ฎีกาของวัดโจทก์ที่ว่านายตงจุ่นจำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2518 ก่อนมีการยื่นฎีกาทนายความของจำเลยจึงไม่มีอำนาจลงนามเป็นผู้ฎีกาแทนจำเลยนั้น เห็นว่า การที่ตัวความถึงแก่กรรมก่อนมีการยื่นฎีกา ทนายความมีอำนาจลงนามเป็นผู้ยื่นฎีกาแทนจำเลยผู้มรณะได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความไว้ระหว่างฎีกา คดีนี้ยังได้ความว่าในวันยื่นฎีกา นายอัมพรบุตรของจำเลยก็ได้แต่งทนายความคนเดิมยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนที่จำเลยผู้มรณะและศาลอนุญาตแล้ว ทนายความย่อมดำเนินคดีต่อไปได้ อำนาจทนายความหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่กรรมไม่

พิพากษายืน

( ยงยุทธ เลอลภ - ผสม จิตรชุ่ม - มงคล วัลยะเพ็ชร์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2520

 

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-20 12:45:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล