ReadyPlanet.com


อยากทราบผลกระทบของ พ.ร.บ.ไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐(ม ๘ และ ม.๙)


กระผมอยากทราบถึงผลกระทบของ พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐ (มาตรา ๘ และ มาตรา ๙) ต่อหลักความยินยอมไม่เป็นละเมิดครับ

 

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เด็กน้อยกำลังศึกษากฏหมาย (p_o_m_21-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-04 09:09:33


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958645)

คำถามนี้น่าจะสอบถามอาจารย์ผู้สอนกฎหมายจะดีกว่านะครับ เพราะเป็นคำถามทางวิชาการมากเกินความสามารถของผู้ตอบ

 

ข้อตกลง ประกาศหรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญา

 

 

มาตรา 8 บัญญัติว่า “ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ทำไว้ล่วงหน้า เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตกลง ผู้ประกาศ ผู้แจ้งความ หรือของบุคคลอื่น ซึ่งผู้ตกลง ผู้ประกาศ หรือผู้แจ้งความต้องรับผิดด้วย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้
ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผืดในกรณีอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น”
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 8 ขยายหลักการของ ป.พ.พ. มาตรา 373 ที่ได้บัญญัติให้ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเป็นโมฆะนั้น ให้รวมถึงการตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของลูกหนี้ไว้ล่วงหน้าสำหรับการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของตนด้วย การเปลี่ยนแปลงหลักเด็ดขาดตาม ป.พ.พ.มาตรา 373 ที่ห้ามตกลงล่วงหน้ายกเว้นความรับผิดของลูกหนี้เพื่อกลฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น มาเป็นตกลงยกเว้นได้เฉพาะในกรณีความเสียหายต่อเสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่น ๆ แต่สามารถมีผลบังคับใช้ได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

 

 

ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายในคดีละเมิด

 

มาตรา 9 บัญญัติว่า “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้”
ตามบทบัญญัตินี้ บุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจะตกลงหรือให้ความยินยอมยกเว้น (คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายไม่ต้องรับผิดเลย) หริอจำกัดความรับผิด ( คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายยังต้องรับผิดอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด) เพื่อละเมิดของผู้ก่อความเสียหายไม่ได้ หากความเสียหายที่ผู้ก่อความเสียหายได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น เกิดจาการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 


มาตรา 9 มาแก้ปัญหาหรือเยียวยา ความไม่ธรรม จาก ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ที่ศาลเคยตัดสินไว้คือ กรณีขายพระเครื่อง ผู้ต้องเสียหายก็บอกว่ายินยอมให้ยิงเลยเพราะพระเครื่อง จำเลยก็เลยลองยิง


ตรงนี้ไม่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดในคดีอาญา พอผู้ต้องเสียหายมาฟ้องในคดีแพ่ง ก็ยกหลักความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมา
มาตรา 9 ก็มีเพื่อลบล้างความไม่ยุติธรรมในครั้งนี้ ว่าการตกลงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงเป็นโมฆะ เมื่อไม่ยินยอมก็มีอำนาจฟ้อง


ความเป็นธรรมก็อาจจะมาตัดทอนในส่วนค่าเสียหาย เพราะผู้ต้องเสียหายมีส่วนผิด หรือส่วนประมาทด้วยก็ลดทอนกันไป


มาตรา 8 วรรคแรกเป็นเรื่องข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความ ให้ถือเป็นข้อสัญญา แม้เวลาที่เราวิเคราะห์ในนิติกรรมไม่ใช่เรื่องข้อสัญญาก็ตาม
อันนี้เพราะมาตรา 3 ให้ถือเป็นข้อสัญญา ให้ถือเพื่อให้มาตรา 8 ใช้ได้


ถ้าไม่ใช่เรื่อง ชีวิต ร่างกาย อนามัย วรรคสองบอกว่าที่ไม่เป็นโมฆะให้ใช้ได้เท่าที่เป้นธรรม หรือเหมาะสมแก่กรณี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-04 17:05:48


ความคิดเห็นที่ 2 (1958648)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2543

 

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ จิตเจือจุน จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำดำรงศิลป์ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 2กรกฎาคม 2537 เด็กชายภนาวัฒน์ได้ไปใช้บริการที่สระว่ายน้ำของจำเลยและจมน้ำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่จัดเครื่องอุปกรณ์และพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ประจำสระเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ทำให้สมองพิการไม่สามารถทำการงานและช่วยเหลือตนเองได้ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้อื่น โจทก์ได้ทำการรักษาพยาบาลตลอดมาแต่อาการยังไม่ดีขึ้น สิ้นค่ารักษาพยาบาลไป 233,258 บาท เด็กชายภนาวัฒน์ต้องสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิง โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 2,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,233,258 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลจำนวน 233,258 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลเดือนละ 50,000 บาท แก่โจทก์ จนกว่าเด็กชายภนาวัฒน์จะหายเป็นปกติหรือถึงแก่กรรม กับให้จำเลยชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำดำรงศิลป์เพื่อสอนเด็กนักเรียนว่ายน้ำ เปิดสอนเวลา 8 นาฬิกา ถึง 16.30นาฬิกา มีครูฝึกสอนตามระเบียบ หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาใช้บริการจนถึง 18 นาฬิกา โดยผู้ปกครองต้องมาดูแลเอง และผู้ที่จะลงสระน้ำต้องว่ายน้ำเป็น ในวันเกิดเหตุโจทก์พาเด็กชายภนาวัฒน์มาลงสระว่ายน้ำหลัง 18 นาฬิกา เป็นช่วงสระปิดและครูฝึกสอนกลับแล้วระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ดูแลเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์กลับไปนอนอ่านหนังสือพิมพ์และดื่มเครื่องดื่มทั้งที่ทราบว่าเด็กชายภนาวัฒน์ป่วยอยู่ เด็กชายภนาวัฒน์เป็นตะคริวและจมน้ำ คนทำความสะอาดของจำเลยพบเห็นได้ช่วยเหลือขึ้นมาและนำส่งโรงพยาบาล โจทก์ทราบดีว่าไม่มีครูฝึกสอนอยู่ หากโจทก์คอยเฝ้าดูแลแม้เด็กชายภนาวัฒน์จะจมน้ำก็เป็นเวลาเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายแต่โจทก์หาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่ ความเสียหายจึงเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม กล่าวคือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิง โจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นค่าอะไรบ้าง จึงไม่สามารถให้การแก้คดีได้ถูกต้องทั้งค่ารักษาพยาบาลไม่น่าจะเกิน 2,000 บาท ส่วนค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิงนั้น ขณะเกิดเหตุเด็กชายภนาวัฒน์กำลังเรียนหนังสือยังไม่ได้ประกอบอาชีพ หากจะเสียหายก็ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 450,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 112,500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน900,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำดำรงศิลป์ โดยเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป วันธรรมดาเปิดบริการตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกา วันหยุดราชการเปิดบริการตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา ค่าบริการเด็กคนละ 15 บาทผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2537 โจทก์พาเด็กชายภนาวัฒน์ซึ่งว่ายน้ำเป็นแล้วไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของจำเลย ระหว่างอยู่ในสระเด็กชายภนาวัฒน์ได้จมน้ำ เป็นเหตุให้สมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง มีอาการพิการทางสมอง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขณะเกิดเหตุที่สระว่ายน้ำของจำเลยไม่มีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยของผู้ที่มาลงสระ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องเรื่องค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 2 ตอนท้ายว่า "โจทก์ได้ทำการรักษาพยาบาลเด็กชายภนาวัฒน์มาโดยตลอด แต่อาการของเด็กชายภนาวัฒน์ยังคงไม่ดีขึ้น" และบรรยายในคำขอท้ายฟ้องข้อ 2ว่า "ให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลในอัตราเดือนละ 50,000 บาท" ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้วสามารถเข้าใจว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาท ทำให้เด็กชายภนาวัฒน์มีอาการพิการทางสมองจนบัดนี้อาการยังไม่ดีขึ้น ขอให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเดือนละ 50,000 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า คำฟ้องเรื่องค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานเคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 2 ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ไม่จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ประจำสระ ทำให้เด็กชายภนาวัฒน์จมน้ำขาดอากาศหายใจเป็นเวลานานเป็นเหตุให้สมองพิการ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้2,000,000 บาท เป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นฟังไม่ขึ้นทั้งสองประการ

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ จิตเจือจุน ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์และนางพเยาว์เป็นสามีภรรยากันตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 และเด็กชายภนาวัฒน์เป็นบุตรของโจทก์และนางพเยาว์ จึงเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายภนาวัฒน์ อันเป็นการนำสืบในประเด็นที่โจทก์อ้าง หาใช่นำสืบนอกประเด็นดังจำเลยฎีกาไม่ และเมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบหักล้าง คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สี่ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ได้รับอันตรายแก่กายหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ขณะเกิดเหตุที่สระว่ายน้ำของจำเลยไม่มีอุปกรณ์ชุดปฐมพยาบาลและไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการโจทก์มีนายณรงค์ ขาวนวล เจ้าหน้าที่ควบคุมสระว่ายน้ำของการกีฬาแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดจันทบุรี มาเบิกความว่าตามประเพณีปฏิบัติของการให้บริการสระว่ายน้ำและระเบียบของการกีฬาแห่งประเทศไทยสระว่ายน้ำต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำสระว่ายน้ำเพื่อดูแลความปลอดภัยและต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต นอกจากนี้ข้อบังคับกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.18 ก็กำหนดว่าการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและชุดปฐมพยาบาลด้วยแสดงว่ามาตรฐานของความปลอดภัยในการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป โดยเก็บค่าบริการจากผู้มาใช้บริการ จำเลยจะต้องยึดถือตามมาตรฐานนั้นด้วย แม้ว่าเทศบาลเมืองจันทบุรีหรือจังหวัดจันทบุรีจะไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับก็ตาม ยิ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้มาใช้บริการจมน้ำในสระว่ายน้ำของจำเลยมาแล้ว จำเลยยิ่งควรต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่จำเลยก็มิได้ปรับปรุงแก้ไข ถือว่าจำเลยละเว้นปฏิบัติในสิ่งซึ่งตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสระว่ายน้ำควรต้องปฏิบัติ และตามพฤติการณ์ที่ผ่านมาก็มีผู้ได้รับอันตรายจากการมาใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลย จำเลยควรจะต้องใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้นจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยละเว้นเสีย ทำให้ไม่มีผู้เข้าช่วยเหลือเด็กชายภนาวัฒน์ได้ทันท่วงทีและถูกต้อง ทั้งไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จะปฐมพยาบาล ทำให้สมองของเด็กชายภนาวัฒน์ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจนสมองพิการ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ได้รับอันตรายแก่กาย แม้จำเลยจะได้ปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ ผู้ปกครองของผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้วยตนเอง ประกาศดังกล่าวก็ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใด สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7ว่าค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้นเป็นเงิน 233,258 บาท แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1กำหนดให้ 150,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในส่วนนี้ แสดงว่าโจทก์พอใจแล้ว ส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตนายแพทย์นันทวัฒน์ พัฒนพิรุฬหกิจ ผู้รักษาเด็กชายภนาวัฒน์เบิกความว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กชายภนาวัฒน์มีอาการทางสมองพิการแขนขาชักเกร็งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องให้ยาลดอาการทางสมองและหากมีอาการเกร็งก็ต้องทำกายภาพบำบัดทุกวัน อาการของเด็กชายภนาวัฒน์ไม่มีทางหายเป็นปกติ จึงเชื่อว่าเด็กชายภนาวัฒน์จะต้องอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกนานตามสภาพเช่นนี้ค่าดูแลรักษาเด็กชายภนาวัฒน์ที่จะต้องใช้จ่ายต่อไป จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปเนื่องจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคต ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายภนาวัฒน์ที่โจทก์ได้จ่ายไปก่อนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตให้โจทก์ 450,000 บาท ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกำหนดค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาพยาบาลในอนาคตให้โจทก์นั้น หาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยฎีกาไม่ และการกำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตดังกล่าวก็เป็นจำนวนพอสมควรแล้วสำหรับค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานนั้น เห็นว่า เด็กชายภนาวัฒน์อยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ย่อมเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยหาใช่ไกลเกินเหตุดังที่จำเลยฎีกาไม่ โจทก์จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ 300,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นจำนวนพอสมควรแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( ธาดา กษิตินนท์ - ประดิษฐ์ สิงหทัศน์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 17:09:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1958649)

 


คำพิพากษาศาลฏีกา รถหายในที่จอดรถ


ศูนย์การค้าต้องให้บริการ บริการดังกล่าวรวมถึงการรักษาความปลอดภัย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมไปเพราะพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 โจทก์จ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยไป 530,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 8 อ - 9428 กรุงเทพมหานครแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 557,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปมิใช่เป็นความผิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า คันหมายเลขทะเบียน 8 อ - 9428 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสวาท บุญคำ จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าในอาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2536 เวลา 20.55 นาฬิกา นายสวาท บุญคำ นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าไปจอดที่ลานจอดรถศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า โดยก่อนเข้าไปได้รับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อนายสวาทซื้อของในศูนย์การค้าเสร็จกลับออกมาเวลา21.10 นาฬิกา ปรากฏว่ารถยนต์คันที่นำไปจอดสูญหายไป โจทก์ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ จำนวน 530,000 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในความสูญหายของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ อันเป็นชื่อของบริษัทจำเลยที่ 2 ในอาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่าโดยจำเลยที่ 2 เช่าพื้นที่อาคารศูนย์การค้าดังกล่าวจากบริษัทธรัตกร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าว ตามสัญญาเช่าสถานที่เอกสารหมาย ล.8 และบริษัทธรัตกร จำกัดเป็นผู้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว แต่ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่เอกสารหมาย ล.4 และ ล.9 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2531 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ส่วนบริษัทธรัตกร จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อเดือนมีนาคม 2532 ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดียวกัน กรรมการ 6 คน ของบริษัทธรัตกร จำกัด ก็เป็นกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 2 และเป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อร่วมกัน 2 คน และประทับตรากระทำการแทนบริษัทได้ ส่อแสดงว่าบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งพื้นที่อาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า บริเวณที่จำเลยที่ 2 เช่าจากบริษัทธรัตกร จำกัดตามแผนผังแสดงบริเวณสถานที่เช่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.8 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เช่าพื้นที่อาคารถึง 5 ชั้น พื้นที่เช่าแต่ละชั้นก็เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารแต่ละชั้น ลักษณะอาคารบริเวณพื้นที่เช่าทั้งห้าชั้นออกแบบไว้เป็นตำแหน่งพื้นที่สำหรับห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ สาขาแอร์พอร์ต มีบันไดขึ้นลงเพื่อใช้ประโยชน์ของพื้นที่ส่วนนี้โดยเฉพาะต่างหากจากพื้นที่ส่วนอื่น บริเวณชั้นที่ 1 ก็มีบันไดและทางเข้าห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า อาคารดังกล่าวได้ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนสำคัญมาแต่แรก ส่วนพื้นที่ของอาคารที่เหลือซึ่งเป็นส่วนน้อยนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยที่สามารถจัดหาประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกบางส่วนโดยการให้บุคคลอื่นเช่าเท่านั้นและการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 ในศูนย์การค้าดังกล่าวย่อมมีความสำคัญในอันที่จะทำให้ศูนย์การค้านั้นเป็นทำเลการค้าที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการจัดการให้เช่าพื้นที่อาคารส่วนที่เหลือได้ดีด้วย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 และบริษัทธรัตกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันดังกล่าวแล้วมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า ร่วมกันการที่บริษัทธรัตกร จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัทธรัตกร จำกัด และจำเลยที่ 2 ร่วมกันดังกล่าวด้วยเช่นกันทั้งตามคำเบิกความของนางสุอารีย์ พัฒนเนติธรรม หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ก็ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า ที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัทธรัตกร จำกัด และจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันในศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกันที่ด้านนอกอาคารให้เห็นได้ชัดเจนตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และจัดการให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้าดังกล่าวก็ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้ผู้ไปใช้บริการที่ศูนย์การค้านั้นเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยและโดยเฉพาะการให้บริการที่จอดรถยนต์ของศูนย์การค้าดังกล่าว ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจะต้องรับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรผ่านมอบคืนให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออก จึงจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้ หากไม่มีบัตรผ่าน พนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออก จะต้องนำหลักฐานความเป็นเจ้าของรถยนต์และบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงจึงจะนำรถยนต์ออกไปได้รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรผ่าน และบัตรผ่านเข้าออกเอกสารหมาย ล.3 และ ล.10 แม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถยนต์เองดูแลปิดประตูรถยนต์และเก็บกุญแจรถยนต์ไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรผ่านจะมีข้อความว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ของรถยนต์ที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณลานจอดรถดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสองและเจ้าของศูนย์การค้าจัดให้มีบริการรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่จะนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารและขณะที่จะนำรถยนต์ออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และถือบัตรผ่านจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้เลย เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อนการกระทำที่ปฏิบัติก่อน ๆ มาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่จอด หรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากมีการตรวจบัตรตรงช่องทางที่รถยนต์ออกโดยเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของนายสวาทจะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปนี้เชื่อว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสวาทถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 530,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 อ - 9428 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวคืนโจทก์ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 557,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 530,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

( สุเมธ ตังคจิวางกูร - สุนทร สิทธิเวชวิจิตร - ประสพสุข บุญเดช )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 17:12:11


ความคิดเห็นที่ 4 (1958650)

ตัวอย่างข้อสอบเนติฯ ที่เกี่ยวกับมาตรา 8

 

ข้อ 3 บริษัทสวนสนุกกรุงเทพ จำกัด จัดให้มี “ เครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ความเร็วสูง” บริการในสวนสนุกกรุงเทพ เครื่องเล่นดังกล่าวออกแบบโดยบริษัทเอบีซีอิงค์ แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และยังอยู่ในระหว่างทดลอง ในการให้บริการบริษัทสวนสนุกกรุงเทพ จำกัด มอบหมายให้บริษัทเอบีซี อิงค์ เป็นผู้ดูแลเครื่องเล่นดังกล่าวในสวนสนุกของตน และเพื่อเป็นการยกเว้นความรับผิดที่อาจเกิดขึ้น บริษัทสวนสนุกกรุงเทพจำกัด จึงปิดประกาศไว้หน้าห้องจำหน่ายบัตรมีข้อความว่า “ผู้ใช้บริการสมัครใจเข้ารับการเสี่ยงภัยเอง บริษัทสวนสนุกกรุงเทพ จำกัด ไม่รับผิดชอบในความเสียกายต่อชีวิต หรือร่างกาย อันเกิดจากเครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ความเร็วสูง” ในวันเกิดเหตุนายหนึ่งบิดาเด็กชายสอง ซึ่งมีอายุ 13 ปี พาเด็กชายสองไปเที่ยวสวนสนุกกรุงเทพ และซื้อบัตรเพื่อเล่นเครื่องชิงช้าสวรรค์ความเร็วสูง โดยทราบข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเครื่องเล่นชิงช้าดังกล่าวเกิดความชำรุดบกพร่องเพราะขาดการตรวจสอบและทดลองที่ถี่ถ้วน ทำให้เด็กชายสองตกจากชิงช้าความเร็วสูงถึงแก่ความตายทันที

ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งบิดาของเด็กชายสองผู้ตายจะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทสวนสนุกกรุงเทพจำกัด และบริษัทเอบีซีอิงค์ ในความตายของเด็กชายทั้งสองได้หรือไม่เพียงใด และบริษัททั้งสองจะอ้างข้อความยกเว้นความรับผิด หรืออ้างความสมัครใจในการเสี่ยงภัย เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของตนได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

ความตายของเด็กชายสองเกิดจากความประสาทเลินเล่อของบริษัทสวนสนุกกรุงเทพจำกัด ตัวการ และบริษัทเอบีซีอิงค์ ตัวแทนในการดูแล “เครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ความเร็วสูง” ทั้งเครื่องเล่นดังกล่าวก็เป็นทรัพย์อันตราย โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น และความตายของเด็กชายสองก็มิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือความผิดของเด็กชายสองเอง บริษัททั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 , 437 และมาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 425

บริษัทสวนสนุกกรุงเทพจำกัด ไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของตนตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การซื้อบัตรและเล่นเครื่องเล่นชิงช้าไม่ถือเป็นความสมัครใจหรือยินยอมเข้ารับผลแห่งการละเมิด บริษัททั้งสองไม่อาจนำมาอ้างว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามมาตรา 442

นายหนึ่งเรียกค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ และค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบริษัททั้งสองได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสาม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 17:14:52


ความคิดเห็นที่ 5 (1958653)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยกำหนดโรงพยาบาลตามสิทธิคือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี 2541 โจทก์ป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดปรากฏว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้แยกผู้ป่วยประกันสังคมไว้โดยเฉพาะ หากผู้ป่วยต้องการพักห้องพิเศษซึ่งมีเพียง 3 ห้อง จะต้องจองล่วงหน้าและต้องใช้เวลารอนานไม่มีกำหนดที่แน่นอนเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก โจทก์ได้จองห้องพิเศษแต่เกรงว่าหากรอนานไม่มีกำหนดอาการของโรคจะกำเริบอีกจึงได้จองห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปไว้ด้วย เมื่อวันที่ 15 กันยายน2541 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แจ้งให้โจทก์เข้าพักที่ห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปที่ตึก ภปร.แต่ก่อนที่แพทย์จะทำการผ่าตัดทางโรงพยาบาลได้นำแบบพิมพ์หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ หากโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อก็จะไม่ได้รับการรักษาและต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป โจทก์จึงเพิ่มข้อความในแบบพิมพ์ว่า ยกเว้นสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว โรงพยาบาลได้เรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 39,629 บาท จากโจทก์ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชดใช้คืน โจทก์ได้ยื่นขอรับเงินทดแทนจากจำเลยที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 แต่จำเลยมีคำสั่งปฏิเสธโดยอ้างว่าโจทก์แจ้งความประสงค์ไม่ขอใช้สิทธิประกันสังคม ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สถานพยาบาลไม่มีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการรักษาพยาบาลนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด การให้ผู้เข้ารับการรักษาลงลายมือชื่อสละสิทธิประกันสังคมในแบบพิมพ์ที่เตรียมไว้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ในลักษณะเหมาจ่ายจากจำเลย เมื่อโจทก์ชำระค่ารักษาพยาบาลไปอีกเป็นการจ่ายซ้ำถือเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบขัดต่อความสงบเรียบร้อยหนังสือสละสิทธิจึงเป็นโมฆะ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสละสิทธิโดยมีเงื่อนไขสงวนสิทธิเรียกร้องส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติยืนตามคำสั่งเดิม รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 4 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยใช้เงิน 39,629 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่าตามระเบียบของโรงพยาบาล หากโจทก์ต้องการเข้าพักในห้องพิเศษอื่นนอกจากห้องพิเศษที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยประกันสังคม โจทก์จะต้องสละสิทธิประกันสังคม และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โจทก์ได้แสดงความจำนงขอจองห้องพิเศษทั้งของผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยทั่วไป ต่อมาโจทก์ได้ห้องพิเศษของผู้ป่วยทั่วไปที่ตึก ภปร. ชั้น 17 ทางโรงพยาบาลจึงให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมตามระเบียบของโรงพยาบาล โจทก์เลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประกันสังคมโดยความสมัครใจของโจทก์เพื่อความสะดวกสบายของโจทก์เอง การที่โจทก์ได้เติมข้อความในหนังสือว่า"ยกเว้นสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย" แต่หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมเป็นการสละสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายประกันสังคมทั้งหมด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ หากแม้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือป่วยเจ็บฯ โจทก์จะได้เพียงไม่เกินตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ประกอบด้วยประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานลงวันที่ 14 ตุลาคม 2539 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุจะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลแรงงานกลางอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า ตามระเบียบของจำเลยร่วมหากโจทก์ต้องการเข้าพักห้องพิเศษอื่นนอกจากห้องพิเศษที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยประกันสังคม โจทก์ต้องสละสิทธิประกันสังคมทั้งหมด โจทก์ได้จองห้องพิเศษทั้งผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยทั่วไปต่อมาโจทก์ได้ห้องพิเศษของผู้ป่วยทั่วไปที่ตึก ภปร. ชั้น 17 โจทก์ยินยอมลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมตามระเบียบซึ่งแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนแล้ว โจทก์เลือกไม่ใช้สิทธิประกันสังคมโดยความสมัครใจ การเข้ารับการรักษาอาการป่วยของโจทก์เป็นการผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน โจทก์สามารถรอห้องพิเศษผู้ป่วยประกันสังคมได้การที่โจทก์ต้องเข้าพักห้องพิเศษนอกเหนือจากที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยประกันสังคมก็เพื่อความรวดเร็วและสะดวกสบายเป็นกรณีพิเศษของโจทก์เอง การสละสิทธิประกันสังคมที่มีอยู่สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลผูกพันโจทก์ แม้โจทก์เติมข้อความในหนังสือว่ายกเว้นสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายข้อความดังกล่าวไม่มีผล ทั้งจำเลยร่วมไม่ได้ตกลงยินยอมตามข้อความที่โจทก์เขียนเพิ่มเติม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยไม่ใช่เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยกำหนดโรงพยาบาลจำเลยร่วมเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ โจทก์ป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดท้องรุนแรงบ่อยได้เข้าไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยร่วม แพทย์ลงความเห็นว่าต้องทำการผ่าตัด แต่เป็นกรณีไม่ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจำเลยร่วมได้จัดห้องพิเศษสำหรับผู้ป่วยประกันสังคมไว้เพียง 3 ห้อง แต่ผู้ป่วยประกันสังคมมีจำนวนมาก ผู้ที่ประสงค์จะอยู่ห้องพิเศษจะต้องรอตามคิว หากเป็นกรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉินหรือโจทก์ยินยอมเข้าพักห้องรวมเหมือนคนไข้ธรรมดา ทางโรงพยาบาลจำเลยร่วมก็สามารถทำการผ่าตัดโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอห้องพิเศษ และไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่โจทก์ประสงค์จะพักห้องพิเศษจึงได้จองห้องพิเศษผู้ป่วยประกันสังคมและห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปด้วยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 ต่อมาห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปที่โจทก์จองมีห้องว่าง โจทก์ได้เข้าพักที่ห้องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2541 ก่อนที่โจทก์เข้าพักห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปนั้น โจทก์ทราบระเบียบที่จำเลยร่วมวางไว้ว่าผู้ที่เข้าพักห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปต้องสละสิทธิประกันสังคม และต้องออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่าง เจ้าหน้าที่จำเลยร่วมได้นำแบบพิมพ์หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 29 ซึ่งยังไม่ได้เติมข้อความให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อสละสิทธิประกันสังคม โจทก์ได้กรอกแบบพิมพ์โดยเพิ่มข้อความต่อจากข้อความเดิมที่ว่า ขอรับรองว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเพิ่มเติมว่า "ยกเว้นสิทธิพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย" แล้วได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยร่วม ทางจำเลยร่วมจึงได้ทำการผ่าตัดรักษาความป่วยเจ็บของโจทก์เมื่อวันที่ 18กันยายน 2541 โจทก์ได้นอนพักรักษาที่ห้องพิเศษผู้ป่วยทั่วไปทั้งหมดรวม 6 วัน ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่จำเลยร่วม 39,629 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 22 และ23 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินประโยชน์ทดแทนจากจำเลยที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 30 จำเลยมีหนังสือที่ รส 0709/0019 ลงวันที่6 มกราคม 2542 ปฏิเสธการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 24 และ 25 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยลงวันที่ 29 กันยายน 2542ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 9 และ 10 คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยที่ 1161/2544 โดยมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่โจทก์สละสิทธิผู้ป่วยประกันสังคมโดยโจทก์จะรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมดนั้น ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540ซึ่งทำให้ไม่มีผลใช้บังคับหรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533มาตรา 58 บัญญัติว่า "การรับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่เป็นบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนจะต้องรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามมาตรา 59" มาตรา 62 บัญญัติว่า "ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานต่อเมื่อภายในระยะเวลาสิบห้าเดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือน" และมาตรา 63 บัญญัติว่า "ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ได้แก่

(1) ค่าตรวจวินิจฉัยโรค

(2) ค่าบำบัดทางการแพทย์

(3) ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล

(4) ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์

(5) ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย

(6) ค่าบริการอื่นที่จำเป็น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ" หมายความว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยรับบริการทางการแพทย์ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 63 ในสถานพยาบาลที่กำหนดตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม หากผู้ประกันตนประสงค์จะได้รับบริการพิเศษกว่ามาตรฐานบริการทางการแพทย์ที่กำหนด เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร ค่ายา ค่าแพทย์ที่ผู้ประกันตนระบุเฉพาะ ทางสถานพยาบาลจะเรียกเพิ่มได้เฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิของประกันสังคมโดยตกลงกับผู้ประกันตนเป็นลายลักษณ์อักษรตามหนังสือของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคม ฉบับลงวันที่ 15 เมษายน 2536 ตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม แต่โจทก์ประสงค์จะได้รับบริการพิเศษกว่ามาตรฐานบริการทางการแพทย์ที่กำหนดจึงต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะส่วนที่เกินจากสิทธิของประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมดังนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมว่าโจทก์สละสิทธิผู้ป่วยประกันสังคมโดยโจทก์จะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมดนั้น ในส่วนที่ให้ตัดสิทธิที่โจทก์พึงได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานของประกันสังคม ซึ่งเป็นสิทธิที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้นตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 คงบังคับได้เฉพาะค่าบริการทางการแพทย์ส่วนที่เกินจากสิทธิตามประกันสังคม แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า ค่าบริการทางการแพทย์อันเป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีลูกจ้างเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามมาตรฐานของประกันสังคมนั้นมีประเภทใดบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าใด และค่าบริการทางการแพทย์ส่วนที่เกินสิทธิประกันสังคมมีประเภทใดบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายเท่าใด ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า จำเลยร่วมมีสิทธิเรียกค่าบริการทางการแพทย์จากโจทก์ได้เพียงใด จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป"

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - อรพินท์ เศรษฐมานิต )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2546

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 17:21:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล