ReadyPlanet.com


สอบถามถึงพฤติกรรม "ประมาทเลินเล่อ กับ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง " ครับ


ผมให้ญาตินำโฉนดไปรังวัด และมอบอำนาจเปล่าโดยมิได้กรอกข้อความ แต่ให้ญาติลงบันทึกข้อตกลงไว้ว่า จะนำไปทำนิติกรรมรังวัดเท่านั้น ห้ามโอนเป็นของตนเองและนำไปจำนองเด็ดขาด และญาติได้ลงชื่อไว้

แต่ปรากฎว่า ญาติได้นำโฉนดไปโอนเป็นของตนเอง และนำไปจำนอง เข้าข่าย ผมประมาทเลินเล่อ หรือ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ครับ ศาลจะให้อภัยหรือเมตตาผมหรือไม่ครับ ให้ผมเพิกถอนนิติกรรม ครับ

และ ขอถามอีกข้อครับ ( ตามความเป็นจริง )

คือ ผู้รับจำนอง มารับจำนองภายในวันเดียวกัน และเห็นว่า ผู้นำที่ดินมาจำนองมิใช่เจ้าของ และ ญาติผมเขียนใบมอบอำนาจเองว่า " ขายเฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง " ในวันเดียวกัน ผู้รับจำนองก็รับจำนอง ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

ตอนที่เขียนและตอนที่จำนอง อยู่และเห็นตลอด เพราะ ใบเสร็จมันฟ้องอยู่ว่าทำในคราวเดียวกัน เรียนสอบถามว่า "ผู้รับจำนอง " เป็นผู้สุจริตหรือไม่

หมายเหตุ  ในเอกสาร ใบมอบอำนาจปลอมระบุว่าขายเฉพาะที่ดิน 2,000,000.- บาท  แต่นำไปจำนอง ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000.- บาท   ต่างกัน 5 เท่าครับ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ไว้ใจ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-08 18:53:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948174)

ก็ต้องรีบให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดครับ การใช้สิทธิโดยสุจริตศาลน่าจะให้ความยุติธรรมได้นะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 20:58:02


ความคิดเห็นที่ 2 (1949743)

***กรณีของคุณเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเลยละครับ เพราะโฉนดเป็นเอกสารสิทธิที่มักจะมีปัญหาทางคดีความกันอยู่เนืองๆ แต่คุณกลับลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความลงไป แล้วก็เกิดเรื่องจนได้

เมื่อพลาดแล้วก็ต้องแก้ไขครับ

ประการแรกคุณต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าญาติคุณปลอมเอกสาร (หนังสือมอบอกนาจ)

ประการที่สอง คุณบอกว่าคุณไดให้ญาติทำบันทึกไว้ในขณะที่มีการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจว่าจะนำไปรังวัดแต่กลับนำไปโอนใส่ชื่อตัวเอง คุณก็ใช้หลักฐานนี้แหละครับ ประกอบกลับเรื่องที่คุณโดนโขมยที่ดินไปซึ่งหน้า (คำเปรียบเทียบครับ) ไปฟ้องศาลให้เร็วครับ ก่อนที่ที่ดินของคุณจะมีการทำนิติกรรมอย่างอื่นให้ยุ่งยากมากไปกว่านี้

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-06-12 12:47:05


ความคิดเห็นที่ 3 (1950190)

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ตอบครับ ผมจะรีบดำเนินการครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ไว้ใจ วันที่ตอบ 2009-06-13 18:23:29


ความคิดเห็นที่ 4 (1956168)

โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ธ. ได้ขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยให้ ม. เป็นนายหน้า ต่อมา ม. นำเอกสารให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ และโจทก์ยังได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ ม. ไปจนกระทั่งมีการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้ เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นนำหนังสือมอบอำนาจไปใช้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามพฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกระทำดังกล่าว ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่อาจอ้างความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเพื่อให้ตนพ้นความรับผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25664 และ 32463 จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน กับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นางบุญนาค รัตนสุนทร ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายทอน ศิริวงศ์ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาต

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบเพียงว่าได้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.8 โดยขณะนั้นยังไม่มีการกรอกข้อความไว้และเข้าใจว่าเป็นใบรับเงินมัดจำที่นายธนัทตกลงซื้อที่ดินพิพาทและได้มอบหนังสือมอบอำนาจกับโฉนดที่ดินพิพาทให้นายมาไป ต่อมาจึงทราบว่ามีการมอบอำนาจให้นางสุวพันธ์ ดำคำ เป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการจดทะเบียนจำนองแทนทั้งโจทก์และจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมอย่างไรที่ส่อแสดงถึงความไม่สุจริตหรือบ่งชี้ได้ว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยที่นางสุวพันธ์ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ก็ยังเบิกความว่า ไม่เคยรู้จักทั้งโจทก์และจำเลยมาก่อน แม้นางสุวพันธ์จะเบิกความว่าหลังเกิดเหตุจำเลยเคยติดต่อกับนายธนัทและให้นายธนัทใช้รถยนต์ก็ยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยสมคบกับนายธนัทนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลย คงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยรู้จักกับนายธนัทเท่านั้น ทางนำสืบของโจทก์ของโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าจำเลยสมคบกับนายธนัท และนางสุวพันธ์ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ส่วนเรื่องราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีราคาจริงเพียง 280,000 บาท เท่านั้น ซึ่งต่างจากราคาจำนองมาก แสดงว่าจำเลยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ได้ความจากนายอุดม จันทรปรีชา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันป่าตอง พยานโจทก์เบิกความว่า ในช่วงปี 2538 นั้น มีการซื้อขายที่ดินกันมาก ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดสูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมากจึงฟังไม่ได้ว่าราคาที่รับจำนองที่ดินพิพาทสูงเกินความจริงไปมากดังที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ฎีกาว่าใบรับเงินตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งมีข้อความระบุว่า นายธนัทได้รับเงินแล้วปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวลงวันที่ 28 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนมีการจดทะเบียนจำนองถึง 2 วัน แต่ทางนำสืบของจำเลย นางบุญนาคเบิกความว่า จำเลยได้จ่ายเงินให้แก่นายธนัทภายหลังจากมีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงขัดแย้งกัน ฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนองโดยมีค่าตอบแทนให้แก่นายธนัท เห็นว่า ใบรับเงินตามเอกสารหมาย ล.3 ได้ทำขึ้นเป็นหลักฐานรับรองการจ่ายตั๋วเงินตามเอกสารหมาย ล.2 แสดงว่านายธนัทได้รับเงินจากจำเลยแล้วจริง แม้นางบุญนาคจะเบิกความแตกต่างเรื่องรับเงินก่อนหรือหลังวันจดทะเบียนจำนองไปบ้างซึ่งอาจเป็นเพราะนางบุญนาคจำสับสน แต่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับทำให้พยานเอกสารดังกล่าวรับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยรับจำนองที่ดินพิพาททั้งที่นายธนัทยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัย เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.8 โดยมิได้กรอกข้อความทั้งยังได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่นายมาไปจนกระทั่งต่อมามีผู้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางสุวพันธ์มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้ เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นนำเอกสารเหล่านั้นไปใช้จดทะเบียนจำนองแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่อาจอ้างความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นมูลฟ้องร้องจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตเพื่อให้ตนพ้นความรับผิดได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

( พีรพล พิชยวัฒน์ - ธาดา กษิตินนท์ - องอาจ โรจนสุพจน์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3922/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:28:28


ความคิดเห็นที่ 5 (1956173)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน และเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3963 ซึ่งโจทก์ที่ 1 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ที่ 1 ว่าจะไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ขอให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินซึ่งยังมิได้กรอกข้อความและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจและเอกสารอื่นให้จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของตน จึงไปตรวจสอบสารบบที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ พบว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นการปลอมหนังสือมอบอำนาจหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2539 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิจำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยรู้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปลอดภาระผูกพันกลับมาเป็นของโจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับผิดชอบชำระอากร ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่าย ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ ถือเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ที่ 1จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 นิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองไม่เป็นโมฆะ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินที่ได้จากการกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ไปชำระไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผลทำให้โจทก์ที่ 1ในฐานะผู้จำนองได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บังคับให้ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 4

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (กิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ก่อนยื่นฎีกา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายอนันต์ เอ่งฉ้วน บุตรโจทก์ที่ 1 ทายาทโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 300,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.12 เมื่อเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ที่ 1 ว่าจะไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 จึงลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและนำไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3 และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย ล.9

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.2 ซึ่งยังไม่กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองโดยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม จึงถือว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทมิได้เกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบว่ารับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมรู้เห็นกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะจำเลยที่ 3 รับจำนองจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท เรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1และที่ 2 จะเป็นอย่างไร จำเลยที่ 3 มิรู้เห็นด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1และที่ 2 นำไปใช้ในกิจการอื่นถือว่าโจทก์ที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ที่ 1 จะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนมาฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่สามารถฟ้องเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ ที่ดินพิพาทยังติดจำนองอยู่ซึ่งจำเลยที่ 3 สามารถบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาทได้ไม่ว่าที่ดินพิพาทจะถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีผลกระทบต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8"

( ธาดา กษิตินนท์ - ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10721/2546

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:38:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล