ReadyPlanet.com


ข้อหาผลิต


ขอคำปรึกษานะค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่า น้องชายโดนจับข้อหามียาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในสำนวนเขียนไว้ว่านายคนนี้กำลังนั่งนับยาใส่ถุงอยู่ ตำรวจได้แจ้งขอหามียาไว้ในครอบครอง แต่ถึงวันนัดฟ้อง ข้อหากลายเป็นผลิตยาประเภท 1 เป็นไปได้ไหมที่อัยการจะแจ้งขอหาใหม่ หรือตำรวจเป็นคนแจ้ง เพราะอะไรค่ะที่แจ้งขอหาผลิต ทั้งที่ไม่มีเครื่องปั๊ม หรือว่า  เค้านับยาใส่ถุง  ตอนนี้แม่หนูปวดหัวมากเลย ยาทั้งหมด 600 เม็ด จะประหารชีวิตเลยไหมค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ 123 (alexsunder_Qoo-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-02-10 01:48:46


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1901149)

เป็นไปได้ที่อัยการจะฟ้องข้อหาที่ต่างไปจากตำรวจ...การผลิต คือ การแบ่งหรือการบรรจุก็จริงอยู่ครับ...กรณีน้องชายคุณไม่ใช่การผลิตแน่นอนครับ ถ้ารับสารภาพไม่ถึงประหารชีวิตหรอกครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปกรณ์ (pakornlawyer-at-sanook-dot-com)วันที่ตอบ 2009-02-13 05:16:20


ความคิดเห็นที่ 2 (1901282)

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ยาเสพติดให้โทษ” หมายความว่า สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่

“ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย.......

ถ้าการนั่งนับยาบ้าใส่ถุง เป็นการแยกบรรจุใส่ถุงหลาย ๆ ถุง เพื่อแบ่งขายก็อาจเข้าข่าย การผลิตตามความหมาย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้ครับ

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2549

 

มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้บทนิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่ในหลอดกาแฟโดยยังมีหลอดกาแฟหลายหลอดที่เตรียมไว้เพื่อการแบ่งบรรจุเช่นนี้ ถือว่าเป็นารผลิตตามบทนิยามในมาตรา 4 ดังกล่าว

ในฟ้องข้อ 1 ก โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันผลิตโดยแบ่งบรรจุและมีเมทแอมเฟตามีน 246 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำว่า เพื่อจำหน่ายนั้น โจทก์ได้บรรยายมุ่งถึงข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มิใช่ข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีน ทั้งในฟ้องข้อ 2 ก็ได้บรรยายย้ำว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตและมีไว้เพื่อจำหน่าย และที่เหลือจากการจำหน่ายกับจำหน่ายด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายมาในฟ้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย และลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น แม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 2 ได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.5135/2543 ของศาลชั้นต้น กับบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2141/2542 ของศาลจังหวัดตรัง เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ให้การปฏิเสธฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิตฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย และคำให้การรับสารภาพฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายหนึ่งในสามลดโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นและโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษมาบวกเข้ากับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้อีก จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต คำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษมาบวกเข้ากับโทษจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่มิได้ระบุว่าให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จึงพิจารณาคดีให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย แต่ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด โดยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้เนื่องจากเป็นคดีที่ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตศาลชั้นต้นมีหน้าที่ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่หลอดกาแฟแล้วใช้เทียนไขลนปิดหัวท้าย บทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้บทนิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย การที่จำเลยที่1 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่ในหลอดกาแฟโดยยังมีหลอดกาแฟหลายหลอดที่เตรียมไว้เพื่อการแบ่งบรรจุเช่นนี้ ถือว่าเป็นการผลิตตามบทนิยามในมาตรา 4 ดังกล่าวอันเป็นการแบ่งบรรจุ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ปรากฏว่า ในฟ้องข้อ 1 ก โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันผลิตโดยแบ่งบรรจุและมีเมทแอมเฟตามีน 246 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า คำว่าเพื่อจำหน่ายนั้นโจทก์ได้บรรยายมุ่งถึงข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มิใช่ข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีน ทั้งในฟ้องข้อ 2 ก็ได้บรรยายย้ำว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิต และมีไว้เพื่อจำหน่าย และที่เหลือจากการจำหน่ายกับจำหน่ายด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายมาในฟ้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย และลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน แม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 2 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุ และฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 12 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี 10 เดือน บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.5135/2543 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 เดือน 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2141/2542 ของศาลจังหวัดตรัง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี 16 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี 15 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( สมคักดิ์ เนตรมัย - สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - สุรศักดิ์ สุวรรณประกร )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-13 11:07:28


ความคิดเห็นที่ 3 (1904161)

การผลิต มีความหมายรวมถึงการแบ่งบรรจุด้วย เพราะฉะนั้นการถูกฟ้องข้อหาผลิตจึงทำได้

      -  ส่วนอัตราโทษที่จะได้รับนั้น พิจาณาตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 65 วรรค3 และ วรรค 4 แล้ว ข้อเท็จจริง มียาเสพติด 600 เม็ด ถือว่ามีจำนวนหน่วยการใช้เกินปริมาณ ตามมาตรา 15 วรรค3 (หน่วยการใช้ต้องไม่เกิน 15 หน่วยการใช้ (แต่ละเม็ดถือว่าเป็น 1 หน่วยการใช้)) ดังนั้นอัตราโทษที่จะได้รับคือตาม ม.65 วรรค4 จำคุก 4 ปี ถึง ตลอดชีวิต และปรับ 4 แสน ถึง 5ล้านบาทครับ

สรุปแล้ว ไม่มีโทษประหารแน่นอน สูงสุดคือ ตลอดชีวิต ต่ำสุดคือ 4 ปี ด้วยจำนวนยา 600 เม็ด ศาลจะวางโทษประมาณ 20 ปี รับสารภาพลดเหลือ 10 ปี ครับ(คืออัตราโทษที่พอทราบมาจากการทำคดียาเสพติดมานาน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลแต่ละท่าน นโยบายของแต่ละศาลครับ)

ผู้แสดงความคิดเห็น สรณะ (eksarana-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-02-19 13:51:03



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล