ReadyPlanet.com


การวางทรัพย์


เรียน ทนายที่เคารพ

ครอบครัวมีเรื่องเดือดร้อนอยากขอคำแนะนำคือน้องสาวนำที่ดินไปขายฝากราคา 1 ล้านบาท โดยเขียนในสัญญา 1 ล้านสี่แสนแปดหมื่นบาทถ้วน ตกลงปากเปล่าว่าจะจ่ายดอกเดิอนละ  4 หมื่น จ่ายได้ 3 เดือนเป็นเงิน 1 แสนสองหมื่น แล้วก็หนีไปที่ดินยืมำสาวไป ครอบครัวอยากไถ่คืนโดยขอจ่ายดอกเบี้ยตามกฎหมายแต่เจ้าหนี้ไม่ยอมจะคิดตามสัญญาอย่างเดียว ครอบครัวคิดว่าจะนำเงินไปวางศาลจะต้องวางเท่าใด เท่าที่นำมาจริงพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือเท่าจำนวนที่เขียนในสัญญาและมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรช่วยตอบด่วนคะครบสัญญา ก.พ.52 นี้



ผู้ตั้งกระทู้ จรรยา :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-26 10:01:33


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1881335)

มาตรา 499    สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

ดังนั้นให้คุณนำเงินไปวางทรัพย์ตามจำนวนที่ขายฝากรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

สำหรับเงินดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วเดือนละ 4 หมื่นบาทน่าจะเรียกคืนไม่ได้เพราะเป็นการชำระหนี้โดยอำเภอใจ เนื่องจากผู้ขายฝากไม่มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อฝาก เนื่องจากการขายฝากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อฝากแล้ว และดอกเบี้ยได้กำหนดไว้ในสินไถ่แล้วครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-26 18:42:00


ความคิดเห็นที่ 2 (1881337)

การกำหนดสินไถ่ไว้ข้อตกลงในสัญญาขายฝากที่ผู้ซื้อฝากกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขายบวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2548

 

สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมอันเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งโจทก์ทำกับจำเลยที่กำหนดว่า ผู้ใช้บริการยินยอมชำระค่าติดตามทวงถาม ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าทนายความ ฯ ที่บริษัทต้องเสียไปในการติดตามทวงถามหรือเรียกร้องค่าใช้บริการที่ค้างชำระและฟ้องร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาให้แก่บริษัท ฯ จนครบถ้วน มีลักษณะเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ย่อมได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคแรก เช่นค่าติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามปกติย่อมกระทำโดยมีหนังสือทวงถามส่งไปโดยพนักงานเป็นผู้ส่งหรือส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือโดยวิธีอื่น ซึ่งหากจำเลยจ่ายไปจริงย่อมเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ดังนั้นข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าติดตามทวงถามดังกล่าว จึงไม่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าติดตามทวงถามจากโจทก์ได้ แต่ค่าติดตามทวงถามที่จำเลยคิดในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นการแน่นอน จะเป็นความเสียหายตามสมควรเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ไม่ได้

โจทก์ทำสัญญากับจำเลยใช้บริการแบบเหมาจ่ายอัตรา 750 ต่อเดือน ซึ่งการเหมาจ่ายค่าใช้บริการเช่นนี้โจทก์จะได้ประโยชน์จากการใช้บริการตามระยะเวลาการใช้บริการโดยมีจำนวนเวลาการใช้นานกว่าการใช้บริการตามปกติ ทั้งได้รับสิทธิพิเศษในการเสียค่าบริการต่อนาทีที่ถูกกว่าโดยไม่จำกัดระยะทางทั่วประเทศ ลักษณะของสัญญาประเภทนี้มีส่วนที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ผู้ใช้บริการมากกว่าสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมตามปกติอยู่ด้วย แต่โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้บริการที่ทำสัญญากับจำเลยเช่นกัน การที่โจทก์ไม่ชำระค่าบริการตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิระงับการใช้บริการได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาและเรียกค่าใช้บริการตามระเบียบการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าข้อ 4.1 ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวหาใช่ข้อตกลงที่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4

 

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์จำนวน 2,349.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,349.62 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมกับอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้วให้ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ระเบียบการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ข้อ 3.6 และข้อ 4.1 เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามและค่าใช้บริการในระหว่างระงับการบริการของจำเลยเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาการใช้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า กับจำเลย โจทก์ค้างชำระค่าบริการของเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน 2544 จำเลยจึงระงับการใช้บริการโทรศัพท์โดยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว โจทก์ชำระหนี้ค่าบริการที่ค้างชำระดังกล่าวแก่จำเลยภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาในหนังสือทวงถาม ต่อมาโจทก์ได้รับใบแจ้งค่าบริการและได้ชำระเงินเต็มตามจำนวนที่จำเลยเรียกเก็บแล้ว เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์นี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น

(1) ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา

(2) ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

(3) ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ

(4) ข้อตกลงให้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(5) ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้องหรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา

(6) ข้อตกลงในสัญญาขายฝากที่ผู้ซื้อฝากกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขายบวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี

(7) ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดราคาค่าเช่าซื้อ หรือกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร

(8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้

(9) ข้อตกลงที่กำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร

ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามจะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา 10 มาใช้โดยอนุโลม"

ตามบทบัญญัติดังกล่าวในส่วนของสัญญาที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้ซึ่งเป็นสัญญาสำเร็จรูปจะต้องเป็นกรณีที่ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปนั้นทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรจึงจะถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น การที่โจทก์เป็นผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าของจำเลยโดยทำสัญญาสำเร็จรูปซึ่งตามระเบียบการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าเฉพาะที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามและค่าใช้บริการในระหว่างระงับการบริการ ข้อ 3.6 กำหนดว่า "ผู้ใช้บริการยินยอมชำระค่าติดตามทวงถาม ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและค่าทนายความที่บริษัท ฯ กำหนดหรือต้องเสียไปในการติดตามทวงถามหรือเรียกร้องค่าใช้บริการที่ค้างชำระและหรือฟ้องร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาให้แก่บริษัท ฯ จนครบถ้วนและข้อ 4.1 กำหนดว่า "ในกรณีผู้ใช้บริการไม่ชำระเงินใด ๆ ที่จะต้องชำระให้แก่บริษัทหรือค้างชำระค่าใช้บริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือมีค่าใช้บริการเกินวงเงินค่าใช้บริการสูงสุดที่บริษัท ฯ กำหนด บริษัท ฯ มีสิทธิระงับการให้บริการหรือหักเงินประกันการใช้บริการหรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที และหากผู้ใช้บริการได้ใช้บริการมากกว่า 1 เลขหมาย โดยมีหนี้ค้างชำระเลขหมายใดเลขหมายหนึ่ง หรือมีหนี้ค่าใช้บริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย บริษัท ฯ มีสิทธิระงับการให้บริการหรือหักเงินประกันการใช้บริการหรือบอกเลิกสัญญาทุกเลขหมายพร้อมกันได้ทันทีตามที่เห็นสมควร โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า อีกทั้งไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่นใดในการระงับการใช้บริการหรือหักเงินประกันการใช้บริการ หรือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว อนึ่ง ระหว่างการระงับบริการ บริษัท ฯ สงวนสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าเช่าเลขหมาย ค่าใช้บริการเสริมหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และหากผู้ใช้บริการต้องการขอยกเลิกการระงับบริการ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด ทั้งค่าธรรมเนียมในการต่อสาย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามระเบียบหรือประกาศของบริษัท ฯ " สำหรับกรณีที่ข้อสัญญากำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าติดตามทวงถามที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ในข้อ 3.6 มีลักษณะเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ย่อมได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพี่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคแรก เช่นค่าติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามปกติย่อมกระทำโดยมีหนังสือทวงถามส่งไปโดยมีพนักงานนำหนังสือไปส่งหรือส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือโดยวิธีอื่น ซึ่งหากจำเลยจ่ายไปจริงย่อมเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ดังนั้น ข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าติดตามทวงถามดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าติดตามทวงถามจากโจทก์จำเลย แต่ค่าติดตามทวงถามที่จำเลยคิดในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นการแน่นอน จะเป็นความเสียหายตามสมควรเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ ส่วนค่าใช้บริการในระหว่างระงับบริการที่จำเลยเรียกเอาจากโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาใช้บริการแบบเหมาจ่ายอัตรา 750 บาทต่อเดือนกับจำเลย ซึ่งการเหมาจ่ายค่าใช้บริการเช่นนี้โจทก์จะได้ประโยชน์จากการใช้บริการตามระยะเวลาการใช้บริการโดยมีจำนวนเวลาการใช้นานกว่าการใช้บริการตามปกติทั้งได้รับสิทธิพิเศษในการเสียค่าบริการการใช้ต่อนาทีที่ถูกกว่าโดยไม่จำกัดระยะทางทั่วประเทศ ลักษณะของสัญญาประเภทนี้มีส่วนที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ผู้ใช้บริการมากกว่าสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมตามปกติอยู่ด้วย แต่โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้บริการที่ทำสัญญากับจำเลยเช่นกัน การที่โจทก์ไม่ชำระค่าบริการตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิระงับการใช้บริการได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาและเรียกค่าใช้บริการตามระเบียบการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ข้อ 4.1 ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวหาใช่เป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-26 18:48:50



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล