ReadyPlanet.com


คำมั่น


อยากให้อธิบายเรื่องคำมั่นค่ะ

ขอทราบผลดีและผลเสีย ค่ะ ว่าเป็นอย่างไรบ้างคะ



ผู้ตั้งกระทู้ เอ๋ :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-20 21:16:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1879089)

 

คำมั่น หมายถึง การแสดงเจตนาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งยอมผูกพันตนเองที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

คำมั่นเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวผูกพันตนว่าจะทำสัญญาหรือจะให้รางวัลแผู้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ศ.ดร.จิ๊ดเศรษฐบุตรให้ความหมายว่าคำมั่นคือการให้ความแน่นอนว่าตนจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งที่จะทำนั้น ถ้าเป็นสัญญาคำมั่นก็เป็นคำขอให้ทำสัญญาเช่นเดียวกับคำเสนอ แต่คำมั่นจะให้รางวัลมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคำเสนอโดยทั่วไป ศ.ดร.อักขราทรจุฬารัตนกล่าวว่าคำมั่นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของผู้ให้คำมั่นและมีผลผูกพันผู้ให้คำมั่น

 

ประเภทของคำมั่น

 

คำมั่นจะทำสัญญา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในเอกเทศสัญญาบางลักษณะ คือ คำมั่นจะซื้อและคำมั่นจะขาย ตามมาตรา 454, 456

 

มาตรา 454 การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไปและคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว

ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควรและบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้นก็ได้ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล

 

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

 

คำมั่นจะให้ ตามมาตรา 526

มาตรา 526 ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วและผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่ง มอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียก ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้

 

คำมั่นว่าจะขายในสัญญาเช่าซื้อ ตามมาตรา 572

 

มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

 

และคำมั่นจะให้สินจ้าง ตามมาตรา 576

 

มาตรา 576 ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายมีคำมั่นจะให้สินจ้าง

คำมั่นจะทำสัญญามีลักษณะเป็นคำขอให้ทำสัญญาเช่นเดียวกับคำเสนอ เพียงแต่คู่กรณีอีกฝ่ายได้รับรู้การแสดงเจตนาของผู้ให้คำมั่นไว้แล้ว โดยไม่จำต้องมีการแสดงเจตนาถึงกันอีก เมื่อผู้รับคำมั่นแสดงเจตนาสนองรับตามคำมั่นสัญญาย่อมเกิด ดังนั้น บทบัญญัติทังหลายว่าด้วยคำเสนอคำสนอง ย่อมจะนำมาใช้บังคับสำหรับคำ มั่นด้วย เว้นแต่จะมีบทบัญญัติในเอกเทศสัญญาบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เช่น วิธีการถอนคำมั่นจะซื้อคำมั่นจะขายตามมาตรา 454 วรรคสอง หรือแบบของคำมั่นว่าจะให้ ตามมาตรา 526 ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

คำมั่น จะทำสัญญาประเภทอื่นนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเอกเทศสัญญา ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยคำเสนอคำสนองอันเป็นหลักทั่วไปมาใช้บังคับโดยไม่มีข้อยกเว้น ดู

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2517

 

หนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนาย จ. ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม เป็นแต่เพียงคำมั่นของนาย จ. ว่าจะให้โจทก์เช่าต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญาแม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไว้ คำมั่นนี้ก็ไม่มีผลผูกพันนาย จ.เพราะโจทก์ไม่ได้สนองรับก่อนนาย จ. ตาย และเมื่อโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่านาย จ.ตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดสิบปี กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของนาย จ.ย่อมไม่มีผลบังคับ ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปีไม่ได้

(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3,4/2517)

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินบางส่วนในโฉนดที่ 1230 ของนายเจริญ ลิมปพัทธ์ เพื่อปลูกโรงงานและบ้านอยู่อาศัย มีกำหนดเวลาเช่า 10 ปี ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสัญญาเช่าข้อ 5 มีว่า เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว นายเจริญยินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้อีกสิบปีตามสัญญาเดิม ต่อมานายเจริญตาย โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่ดินแปลงที่โจทก์เช่า ให้ต่ออายุสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์อีกสิบปี จำเลยทั้งสี่รับจะจัดการให้เมื่อจดทะเบียนรับโอนที่ดินมาเป็นมรดกแล้ว แต่แล้วก็บิดพลิ้ว โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยอีกหลายครั้ง จำเลยคงผัดผ่อนเพิกเฉยเรื่อยมา จึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่ต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปี โดยมีข้อสัญญาตามสัญญาเช่าเดิม และจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ด้วย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินที่เช่าต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไปจดทะเบียนด้วย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าข้อ 5 เป็นเพียงคำมั่นจะให้โจทก์เช่าต่อไปไม่มีข้อตกลงให้ผูกพันถึงทายาท เมื่อนายเจริญตายคำมั่นย่อมระงับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยทั้งสี่ และสัญญาเช่าเดิมระงับไปเมื่อครบกำหนดสิบปีแล้วเช่นกัน จำเลยได้มีหนังสือให้โจทก์มาทำสัญญาต่อจำเลยแล้ว โจทก์ไม่ยอม จำเลยได้บอกเลิกสัญญาฉบับเดิมแล้ว ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารกับให้ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 800 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่พิพาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายเจริญตายก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด10 ปี จำเลยทั้งสี่จึงผูกพันตามสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ติดต่อให้จำเลยต่ออายุสัญญาเช่า จำเลยทั้งสี่สนองรับแล้ว คำมั่นจึงผูกพันจำเลยทั้งสี่ จำเลยยังเก็บค่าเช่าอยู่เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วและยังไม่บอกเลิกการเช่าก่อน จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้ขับไล่โจทก์และบริวารรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 800 บาทนับแต่เดือนพฤษภาคม 2512 ไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปหมดสิ้น (ตามฟ้องแย้ง)

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยต่ออายุสัญญาเช่าที่พิพาทให้โจทก์มีกำหนดสิบปีตามสัญญาเช่าเดิม ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2501 โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินส่วนหนึ่งของนายเจริญ โฉนดที่ 1230 เพื่อปลูกโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านอยู่อาศัยมีกำหนดเวลาเช่าสิบปีนับแต่วันทำหนังสือสัญญา ได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี สัญญาเช่าข้อ 5 มีข้อความตอนหนึ่งว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม นายเจริญตายเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2511 จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นบุตรของนายเจริญ โจทก์ได้ไปติดต่อกับจำเลยทั้งสี่ขอให้ไปจดทะเบียนทำสัญญาเช่าต่อตั้งแต่ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดในวันที่ 7 ตุลาคม 2511 จำเลยผัดว่ายังโอนที่ดินไม่เสร็จ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2511 จำเลยทั้งสี่ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 1230 มาเป็นของตนและยังคงเก็บค่าเช่าจากโจทก์ตลอดมา โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยขอให้ไปจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้สิบปี จำเลยจะให้ทำสัญญาเช่ากันเองมีกำหนดเวลาเช่าสามปี โจทก์ไม่ตกลง

ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องขอให้พิพากษาบังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อความในหนังสือสัญญาเช่าข้อ 5 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่า หนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และนายเจริญฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2501 ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า"เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม" เป็นแต่เพียงคำมั่นของนายเจริญว่าจะให้โจทก์เช่าต่อไปเท่านั้น ยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพันนายเจริญ เพราะยังไม่ได้ความว่า โจทก์ได้สนองรับก่อนนายเจริญตาย และเมื่อโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่า นายเจริญตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดสิบปี กรณีก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 130 วรรค 2 มาใช้บังคับ เหตุนี้คำมั่นของนายเจริญย่อมไม่มีผลบังคับ ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จึงจะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปีไม่ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2518

 

เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าชำระก่อนการเช่า ไม่ทำให้เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จะต้องให้เช่าต่อจากที่การเช่าครบอายุ

คำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้เช่าต่อนั้น เมื่อผู้ให้เช่าตาย และผู้เช่าก็รู้แล้ว คำมั่นนั้นตกไปตามมาตรา 360 ไม่ผูกพันทายาทให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 569

 

คำมั่นจะให้รางวัล

*คำมั่นจะให้รางวัลแก่ผู้กระทำการอันใดอันหนึ่ง ตามมาตรา 361 - 364

 

มาตรา 361 อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ

ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้นอันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ

มาตรา 362 บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใดๆ ผู้ได้กระทำการ อันนั้น ถึงแม้มิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล

มาตรา 363 ในกรณีที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดั่งบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้ เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณานั้นว่าจะไม่ถอน

ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดั่งกล่าวมาก่อนจะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้แต่ถ้าเช่นนั้นการถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้

ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว

มาตรา 364 ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณาท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใครหมดเท่านั้นมีสิทธิจะได้รับรางวัล

ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับรางวัลเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กันแต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดีหรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก

บทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าในโฆษณานั้นแสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น

 

-คำมั่นจะให้รางวัลแก่ผู้กระทำการอันใดอันหนึ่งต้องโฆษณาต่อสาธารณชนตามมาตรา 362

-คำมั่นจะให้รางวัลต้องให้รางวัลแก่ผู้กระทำการสำเร็จ แม้มิใช่เห็นแก่รางวัล ตามมาตรา 362

-การถอนคำมั่นจะให้รางวัล ตามมาตรา 363

-วิธีการถอนคำมั่นจะให้รางวัล ตามมาตรา 363

 

*คำมั่นจะให้รางวัลในการประกวดชิงรางวัล ตามมาตรา 365

 

มาตรา 365 คำมั่นจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการ ประกวดชิงรางวัลนั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย

การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้การทำสำเร็จตามเงื่อนไข ในคำมั่นภายในเวลากำหนดหรือไม่ก็ดี หรือตัดสินในระหว่างผู้ ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี ให้ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสินหรือถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสินคำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย

ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 364 วรรคสอง มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี

การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้นผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น

 

-เป็นคำมั่นโฆษณาจะให้รางวัลแก่ผู้ชนะประกวดชิงรางวัล

-คำมั่นจะสมบูรณ์เมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย

-ในคำโฆษณาอาจจะกำหนดชื่อผู้ตัดสินชี้ขาดไว้และอาจกำหนดเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นด้วยก็ได้

-ในกรณีที่มีการตัดสินนั้น

1.บุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาด คือ บุคคลที่ระบุไว้ในการโฆษณาว่าเป็นผู้มี่อำนาจชี้ขาด ถ้ามิได้ระบุไว้ มาตรา 365 กำหนดให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ชี้ขาด

2.คำตัดสินชี้ขาด

ก. คำตัดสินชี้ขาดย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามมาตรา 365

ข. ถ้าคำตัดสินกำหนดให้ผู้ประกวดหลายคนมีคะแนนดีเสมอกัน ผู้ประกวดแต่ละคนมีสิทธิได้รับรางวัลเท่า ๆ กัน แต่ถ้ารางวัลมีสภาพแบ่งไม่ได้ หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่น ผูที่จะได้รับรางวัลจะต้องมีเพียงคนเดียว ให้ตัดสินโดยการจับฉลาก ตามมาตรา 365 ประกอบกับ มาตรา 364 วรรคสอง

ค. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้น ย่อมเป็นของผู้ประกวด เว้นแต่ผู้ให้คำมั่นจะได้ระบุไว้ในโฆษณาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวต้องโอนมายังผู้ให้คำมั่น ผู้ให้คำมั่นจึงจะเรียกให้ดอนกรรมสิทธิ์แก่ตนได้ ตามมาตรา 365 วรรคท้าย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-21 23:44:33


ความคิดเห็นที่ 2 (3591744)

คำเชื้อเชิญเพื่อให้ทำคำเสนอ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22777 - 22778/2555

นายพงษ์ศิริ หาทอง                       โจทก์
ธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน)        จำเลย

 
          คำเสนอต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญา จำเลยโฆษณามีใจความว่า ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประมูลหลักทรัพย์ของจำเลยในงานมหกรรมขายทอดตลาด วงเงินกู้สูงสุด 90 %

ของราคาประเมินหลักทรัพย์ประกัน อัตราดอกเบี้ยมี 3 ทางเลือก 1) คงที่ 1 ปี 3.5 % ต่อปี  2) คงที่ 2 ปี 4.25 % ต่อปี  3) คงที่ 3 ปี 4.75 % ต่อปี ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะให้สินเชื่อ

แก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ในการจัดงานดังกล่าวได้ ข้อความที่แสดงไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้ชนะการประมูลทำคำเสนอขอสินเชื่อเงินกู้จากจำเลยภายในวงเงินและอัตรา

ดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้เท่านั้น
 
________________________________
 
 
( พฤษภา พนมยันตร์ - สบโชค สุขารมณ์ - อธิป จิตต์สำเริง )
 
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายอนันต์ ปัทมาคม
ศาลอุทธรณ์ - นายศิริชัย จันทร์สว่าง
 
มาตรา 354  คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2014-03-17 20:16:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล