ReadyPlanet.com


โดนฟ้องหมิ่นประมาท


ผมโดน นาย ข ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยเจตนา ทั้งแพ่งและอาญา เพราะผมได้เขียนหนังสือร้องเรียน นาย ก  และส่งให้ผู้บังคับบัญชา ต่อมา นาย ข ทราบว่าในหนังสือร้องเรียนได้มีข้อความพาดพิงถึง นาย ข โดยในข้อความเขียนว่า"นาย ข เป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ทำตัวหลอกลวงคนอื่นไปวัน ๆ ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่นมาโดยตลอด" ในกรณีแบบนี้นาย ข สามารถฟ้องเอาผิดผมได้หรือไม่ทั้งแพ่งและอาญา ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ



ผู้ตั้งกระทู้ วรพจน์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-01 14:45:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1871516)

แล้ว นาย ข.  ไปทำความเสียหายอะไรให้คุณจนต้องทำหนังสือร้องเรียนครับ

ตามคำถามไม่ทราบว่า นาย ก. กับ ผู้บังคับบัญชา คือบุคคล คนเดียวกันหรือไม่ครับ

ถ้าในกรณีที่คุณไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ถูกร้องเรียน แล้วคุณจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกร้องเรียนโดยตรงอย่างนี้อาจไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเพราะว่าคุณส่งหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะไม่มีเจตนาที่จะโฆษณาโดยเอกสารนั้นครับ

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544

จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบทำให้ราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน หมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

ประเด็นที่พิจารณาในชั้นศาลมีว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาว่าโจทก์กระทำความผิดหรือไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้พยานหลักฐานในชั้นสอบสวนทางวินัยจะได้ความว่าโจทก์ไม่มีความผิดทางวินัย ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2548

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท น. ยื่นต่อนายอำเภอคอนสารโดยเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร เพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวยื่นต่อนายอำเภอคอนสารซึ่งเป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาใส่ความโดยโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่วไปทราบนอกจากนายอำเภอคอนสาร จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-01 21:17:11


ความคิดเห็นที่ 2 (1871519)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2548

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท น. ยื่นต่อนายอำเภอคอนสารโดยเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร เพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวยื่นต่อนายอำเภอคอนสารซึ่งเป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาใส่ความโดยโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่วไปทราบนอกจากนายอำเภอคอนสาร จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 326, 328

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใน 7 วัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 ประกอบมาตรา 83 และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอมให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน ฐานหมิ่นประมาทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 9 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทนายหนูเมฆยื่นต่อนายอำเภอคอนสารโดยเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสารเพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวยื่นต่อนายอำเภอคอนสารซึ่งเป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาใส่ความโดยโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่วไปทราบนอกจากนายอำเภอคอนสาร จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านายอำเภอคอนสารเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองถือว่าเป็นสาธารณชนนั้น เห็นว่า นายอำเภอคอนสารเป็นบุคคลคนเดียว จึงไม่ใช่สาธารณชนตามที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - สุพัฒน์ บุญยุบล - บรรหาร มูลทวี )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-01 21:22:40


ความคิดเห็นที่ 3 (1871521)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544

จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบทำให้ราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน หมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

ประเด็นที่พิจารณาในชั้นศาลมีว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาว่าโจทก์กระทำความผิดหรือไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้พยานหลักฐานในชั้นสอบสวนทางวินัยจะได้ความว่าโจทก์ไม่มีความผิดทางวินัย ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ให้จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ รายวันทั่วไปเป็นเวลา ๗ วัน เพื่อขอขมาโจทก์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ จำคุก ๓ เดือน และปรับ ๕,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน ประกอบอาชีพราชการ มานาน มีคุณงามความดีอยู่ตามสมควร จึงยกโทษจำคุกจำเลยเสีย คงให้ปรับเพียงอย่างเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๕ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำงานร่วมกันที่ภาควิชาทันตพยาธิวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ จำเลยมีหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทางโทรศัพท์ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีใจความว่า โจทก์นำสไลด์ฟันมนุษย์ชนิด ฝนแห้ง ๔๒๐ แผ่น และจุลพยาธิสไลด์ ๓๓๐ แผ่น ของภาควิชาทันตพยาธิวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนไปขายให้แก่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยใช้ชื่อของ ว. กับ ก. เป็นผู้ขายและให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท ตามลำดับ แล้วเก็บเงินผลประโยชน์ไว้ไม่นำส่งเป็นรายได้ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินของ ทางราชการไปขาย ซึ่งอาจทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ช่วยขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป

เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมแล้ว เห็นว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบ ทำให้ทางราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑)

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พยานปากต่าง ๆ ในชั้นสอบสวนทางวินัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้การยืนยันว่าโจทก์ไม่มีความผิด แต่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลผู้ครอบครองเอกสารดังกล่าวได้ส่งเอกสารให้โจทก์หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว โจทก์ไม่มีโอกาสนำคำให้การดังกล่าวมาเป็นพยานในศาลชั้นต้น ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น สืบพยานใหม่นั้น เห็นว่า ประเด็นที่พิจารณาในชั้นศาลมีว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาว่าโจทก์กระทำความผิดหรือไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้พยานหลักฐานในชั้นสอบสวนทางวินัยจะได้ความว่าโจทก์ไม่มีความผิดทางวินัย ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฎีกาของโจทก์ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

( อำนวย เต้พันธ์ - สมชาย จุลนิติ์ - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

 

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-01 21:26:03


ความคิดเห็นที่ 4 (1872295)

นาย ข กับผู้บังคับบัญชาเป็นคนละคนกันครับ 

นาย ก  กับผมทำงานกันคนละที่ครับ ผมทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้บังคับบัญชาของนาย ก  ผมร้องเรียนนาย ก เกี่ยวกับเรื่องที่นาย ก ได้ปลอมแปลงเอกสารในสำเนาบัตรประชาชนของผมในการไปทำนิติกรรมบางอย่าง (ชื่อเรื่องร้องเรียน นาย ก คนเดียวครับ)   แต่บังเอิญว่า นาย ก กับ นาย ข เขาเป็นเพื่อนกัน ผมเลยเขียนข้อความในหนังสือฉบับนั้น พาดพิงถึงนาย ข ไปด้วยครับ

เข้าใจง่าย ๆ คือ นาย ข เป็นบุคคลที่สาม ไม่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนระหว่างผมกับนาย ก แต่บังเอิญว่ามีข้อความไปพาดพิงถึงนาย ข ด้วยครับ คนที่แจ้งความผมไม่ใช่นาย ก คนที่ผมร้องเรียน แต่เป็นนาย ข คนที่ผมไปพาดพิงถึงเขาครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วรพจน์ วันที่ตอบ 2008-12-03 16:08:06


ความคิดเห็นที่ 5 (1872342)

จากคำถามข้างบน

...โดยในข้อความเขียนว่า"นาย ข เป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ทำตัวหลอกลวงคนอื่นไปวัน ๆ ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่นมาโดยตลอด"

 

เมื่อนาย ข. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนนั้นแต่ถูกใส่ความต่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นทั้งนาย ก. และผู้บังคับบัญชาของนาย ก. ดังนี้นาย ข. ย่อมเสียหายถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง จึงเข้าหลักเกณฑ์ ฐานหมิ่นประมาทครับ

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-03 17:27:20


ความคิดเห็นที่ 6 (1873520)

ขอให้อ่านข้อมูลจากแบบทดสอบความรู้ของเนติบัญฑิตต่อไปนี้ประกอบครับ

 

ข้อ 6. นายแสงชัย นายอำเภอสาระขัณฑ์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า ประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายสมศักดิ์ ปลัดอำเภอในอำเภอดังกล่าวซึ่งถูกคณะกรรมการเรียกไปเป็นพยาน ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการว่า ตนได้ยินข่าวลือว่า นายแสงชัย ชอบเรียกนางสาวขวัญใจ ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปอยู่ในห้องนายอำเภอตามลำพังในเวลาเช้าและหลังเวลาราชการเกือบทุกวัน เคยได้ยินข้าราชการในอำเภอพูดกันมากว่านายอำเภอและนางสาวขวัญใจ มีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกัน ต่อมานายชวลิต นักข่าวเขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า นายอำเภอสาระขัณฑ์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องความประพฤติ พยานใกล้ชิดระดับปลัดอำเภอให้ถ้อยคำยืนยันชนิดดิ้นไม่หลุดว่านายอำเภอได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทำงานเป็นประจำ งานนี้ตำแหน่งนายอำเภอคงสั่นคลอนอย่างแน่นอน

ให้วินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์และนายชวลิตมีความผิดฐานใดหรือไม่

 

 

ธงคำตอบ

 

การที่นายสมศักดิ์ ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของตนแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่นายแสงชัย นายอำเภอสาระขัณฑ์ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้อยคำที่สนายสมศักดิ์กล่าวเป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมและเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริงและไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่านายแสงชัย มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น นายสมศักดิ์ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2034/2530)

สำหรับนายชวลิตเขียนข่าวยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เป็นปลัดอำเภอให้ถ้อยคำยืนยั้นว่า นายแสงชัย ได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทำงานซึ่งเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นายชวลิต เป็นนักข่าวสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้อื่นเสียหายให้รอบคอบก่อนนำไปเขียนเป็นข่าว การกระทำของนายชวลิต เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความนายแสงชัย ด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้นายแสงชัย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมไม่เป็นการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายแสงชัย โดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3520/2543)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-07 12:52:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล