ReadyPlanet.com


ขอความเป็นธรรมภรรยาตามกฎหมาย


อยากจะขอเรียกร้องความเป็นธรรมค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่าสามีหนูเคยมีภรรยาและลูกมาก่อนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเค้าเลิกกับแฟนเค้าแล้วเค้าก็มาจดทะเบียนสมรสกับหนูและมีลูกกับหนู 1 คน แต่เค้ายกบ้านที่เข้าซื้ออยู่ในระหว่างผ่อนให้เมียและลูกเค้าอยู่ส่งผ่อนเดือนล่ะ เกื่อบ 2 หมื่นบาท  เงินเดือนก็จะเหลือให้หนูกับลูกใช้อยู่ประมาณ 10,000  บาท บางเดือนก็ไม่ถึง

หนูเคยคุยกับแฟนหนูบอกให้เค้าขายบ้าน แล้วเปลี่ยนจากค่าผ่อนบ้านเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรแทนเดื่อนล่ะ 10,000 บาท เค้าก็ยังไม่ยอมทำหนูทนมา 2-3 ปีแล้ว  หนูจะทำยังไงดีค่ะเพราะหนูว่ามันไม่เป็นธรรมมากๆ  หนูกับลูกเค้าก็พามาเช่าบ้านอยู่  เงินแต่ล่ะเดือนก็ไม่พอใช้เพราะเอาไปผ่อนค่าบ้าน ก็เกินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนแล้ว  ทั้งๆที่เค้ามีบ้านเป็นของตัวเองแต่เค้ากับอยู่ไม่ได้  ความคิดหนูเหมือนเค้าเลี้ยงดูอยู่ 2 ครอบครัว ให้ครอบครัวเก่ามากกว่าครอบครัวใหม่ ทั้งๆที่หนูเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง

 สิทธิภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถทำอะไรได้บ้างหรือไม่ค่ะ

1.หนูจะทำได้ไหมถ้าจะให้ภรรยาเก่าและลูกเค้าย้ายออกจากบ้านที่ผ่อนไปหาที่อยู่ใหม่แล้วก็ขายบ้านทอดตลาด แล้วก็จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรให้เดือนล่ะ 10000 โดยใช้กฎหมายตามสิทธิของภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย    บ้านที่ผ่อนอยู่ก็ผ่อนไปได้แค่ 3 ปี  ยังเหลืออีก  27 ปี กว่าจะหมด  

 



ผู้ตั้งกระทู้ ภรรยาตามกฎหมาย :: วันที่ลงประกาศ 2010-08-20 15:42:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2097776)

ตามที่เล่ามานั้น ก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ สิ่งที่ควรทำก็คือการแก้ปัญหาโดยการประนีประนอมกัน จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างเดียวคุณคงถูกมองว่าใจดำก็ได้ ทำไมถึงคิดอย่างนั้น

ก่อนการจดทะเบียนสมรสกับคุณ ๆ ก็รู้ว่าเขามีภริยาและบุตรอยู่ก่อนแล้ว เขามีบ้านมีครอบครัว ที่(อาจ)สมบูรณ์อยู่ก่อนแล้ว แต่สังคมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนสมรส เพราะเห็นว่าก็แค่กระดาษแผ่นเดียว บางคนคิดความมีทะเบียนสมรสก็ใช่จะเหนี่ยวรั้งสามีได้จึงไม่สนใจที่จะจดทะเบียนสมรส แต่การไม่จดทะเบียนสมรสจะโยนความผิดให้ภรรยาเดิมก็คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

คนที่เป็นต้นเรื่องก็อยู่ที่สามีคุณ เขาคงยังมีเยื่อใยกับภรรยเก่าอยู่ และเพื่อทดแทนความผิดตัวเอง จึงยกบ้านให้ภรรยาเก่ากับลูกเขาอยู่ เมื่อบ้านหลังดังกล่าวได้มาก่อนสมรสกับคุณ ภรรยาเก่าจึงมีสิทธิในบ้านในฐานะเจ้าของรวม หรือภรรเก่าอาจมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียวหรือไม่ ผมก็ไม่มีข้อมูลตรงนี้

คุณจะให้เขาออกจากบ้านคงไม่ง่ายนักต้องดูสิทธิของแต่ละฝ่ายเสียก่อนจึงจะตอบได้ครับ คุณเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย อาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุณเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียวได้เมื่อสามีจัดการสินสมรสเป็นที่เสี่ยหายแก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เงินเดือนของสามีคุณเป็นสินสมรส เมื่อสามีนำสินสมรสไปผ่อนบ้านดังกล่าวให้ภรรยาเก่า บ้านหลังดังกล่าวจึงมีส่วนของสินสมรสปะปนอยู่ด้วยบางส่วนซึ่งคุณในฐานะภริยาชอบด้วยกฎหมายกฎหมายจึงมีส่วนเป็นเจ้าของในเงินนั้นด้วย

เมื่อคุณต้องการให้ขายบ้านทอดตลาดจึงต้องฟ้องต่อศาลจึงจะดำเนินการได้ และศาลต้องชี้ขาดว่าส่วนที่เป็นสินสมรสที่ปะปนอยู่ในราคาบ้านนั้นจำนวนเท่าใด

ปัญหาที่ตามมาก็อาจเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสามี อาจเลวร้ายลงไปกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณก็ต้องชั่งน้ำหนักดูเช่นกันครับ

ที่คุณบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่ผิดนัก เพราะในฐานะภริยาชอบด้วยกฎหมายควรได้ใช้เงินทองทุกบาททุกสตางค์ในเงินที่เป็นสินสมรส ผมจึงเห็นว่าปัญหานี้เห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ แล้วจะโทษใครดี?

 

 

                                       ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-08-20 19:07:03


ความคิดเห็นที่ 2 (2098071)

ย้ายมาจากกระทู้ที่ตั้งใหม่

เพื่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน ผมได้ย้ายคำถามของคุณมาจากกระทู้ที่ตั้งขึ้นใหม่มาไว้ที่นี่และตอบในนี้เลยครับ

คำถาม

ภรรยาเก่าไม่มี่ชื่อในผู้ถือกรรมสิทธิ์  แต่เขามีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้านแฟนหนูไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้านด้วยแต่บ้านแฟนหนูซื้อคนเดียวเป็นชื่อของแฟนหนูค่ะ  แล้วแบบนี้ภรรยาเก่าเค้ามีสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นหรือเปล่าแล้วหนูกับภรรยาเก่าเค้าใครมีสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นมากกว่ากัน

ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับหนูผ่อนบ้านไปแล้วแค่  ปีครึ่ง  หนูกับพี่เค้าจดทะเบียนกันได้ 2 ปีครึ่งแล้วค่ะ

 

คำตอบครับ

แม้ภรรยาเก่าไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิแต่ส่วนที่ได้ผ่อนชำระไปแล้วก่อนจดทะเบียนสมรสกับคุณก็ถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของร่วมกันกับสามีคุณได้ การผ่อนหลังจากนั้นคุณอ้างเป็นสินสมรสได้ครับ หากตกลงกันไม่ได้ก็คงต้องพึ่งศาลเป็นผู้ชี้ขาดครับ

การมีทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้านไม่มีความหมายว่า "เจ้าบ้าน" เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวครับ และสามีคุณผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านในบ้านหลังนั้น ดังนั้นในประเด็นทะเบียนบ้านจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมสิทธิ์ครับ

คำถามว่า ระหว่างคุณกับภรรยาเก่า ใครมีสิทธิดีกว่ากัน คงตอบว่า แต่ละคนมีสิทธิตามส่วนของค่างวดในการผ่อนชำระกับเจ้าหนี้ไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็คงเป็นเรื่องยาวครับ นอกจากคุณต้องฟ้องเอาแล้ว ยังมีปัญหาใหญ่คือ สามีคุณจะว่าอย่างไร? ปัญหาอื่นที่จะตามมาจะมีอะไรบ้าง??

หากมีคำถามเพิ่มเติมไม่ต้องต้องกระทู้ใหม่นะครับ สามารถตั้งคำถามที่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-08-21 17:26:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล