ReadyPlanet.com


ปรึกษาเรื่องคดีลักทรัพย์ทางราชการค่ะ


น้องชายโดนคดีลักทรัพย์เป็นทรัพย์สินทางราชการ ทางราชการแจ้งค่าเสียหาย 30000 บาท ซึ่งก็ยอมชดใช้ให้ค่ะ  และทางตำรวจก็ได้บอกให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน น้องชายก็รับสารภาพ ค่ะ  แต่ตอนนี้คดีถึงศาลแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี(  ขณะลักทรัพย์ได้ใช้รถยนต์ค่ะ  เลยคิดว่าโทษเลยเพิ่มขึ้นค่ะ) แต่เนื่องจากไม่เคยทำความผิดมาก่อน จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี ค่ะ  และก็ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ ไป ตอนนี้ นัดไปสัมภาษณ์ที่กรมคุมประพฤติแล้ว 1 ครั้ง  ศาลก็จึงเลื่อนวันออกไปอีกค่ะ  แต่เดิมนัดวันที่ 11 ตุลาคม ค่ะ เลื่อนไปเป็น 22  ค่ะ  เพราะยังทำสำนวนไม่เสร็จ ไม่ทราบว่าพอจะมีโอกาสรอลงอาญาหรือไม่ค่ะ  และจะเสียค่าปรับเท่าไหร่     ( ทางราชการได้ออกหนังสือการชดใช้ค่าเสียหายให้แล้วค่ะในหนังสือระบุว่าไม่ติดใจเอาความ ก็ได้ยื่นหนังสือไปใช้ชั้นอุทธรณ์ด้วยค่ะ ประกอบกับตอนนี้น้องชายทำงานเป็นหลักแหล่งและเลี้ยงบิดา )รบกวนช่วยตอบปัญหาด้วยนะคะ เพราะทุกข์ใจค่ะ 



ผู้ตั้งกระทู้ อุ้ม :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-12 19:13:35


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2118863)

ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายก็มีความหวังครับ เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ เป็นอำนาจของศาลครับ แม้แต่ผู้พิพากษาศาลเดียวกันยังตอบให้ไม่ได้ครับ เพราะเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และข้อเท็จจริงทางคดี

ขอให้อดใจรอคำพิพากษานะครับ อย่างน้อยก็มีความหวังเพราะผมเข้าใจว่าศาลคงสั่งสืบเสาะตามที่คุณบอกมา "(ตอนนี้ นัดไปสัมภาษณ์ที่กรมคุมประพฤติแล้ว 1 ครั้ง )"

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-13 20:57:23


ความคิดเห็นที่ 2 (2118865)

มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียว

หรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

(2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

(3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

(4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

(6) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก

เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-13 21:02:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล