ReadyPlanet.com


แจ้งความเอาผิดได้หรือไม่ครับ (ชำระหนี้ตามอำเภอใจ)


มีคนมาบอกว่าสามารถออกโฉนดที่ดินแต่ต้องเสียเงินก่อน ผมเลยโอนให้ มีหลักฐาน การโอนครับแต่โฉนดออกไม่ได้ ต้องทำอย่างใรดีครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ไทย :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-11 19:38:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2118020)

ต้องดูว่าโอนให้ใครครับ ถ้าโอนให้เจ้าพนักงานที่ดิน คุณก็มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานครับ

มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภา จังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-11 21:48:46


ความคิดเห็นที่ 2 (2118621)

ไม่ใช้เจ้าพนักงานครับ แต่เป็นผู้ที่ติดต่อมาครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ไทย วันที่ตอบ 2010-10-13 11:06:52


ความคิดเห็นที่ 3 (2118856)

ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่า การที่ไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินโดยตรงไม่สามารถที่จะออกโฉนดให้คุณได้ การที่คุณให้เงินผู้ที่มาติดต่อเพื่อออกโฉนดที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถทำให้ได้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่สามารถเรียกคืนได้ครับ

นอกจากนั้นยังฝ่าฝืนกฎหมายด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 "บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่"

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411  "บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี  ท่านว่า บุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่"

 

 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2010-10-13 20:43:21


ความคิดเห็นที่ 4 (2118860)

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  670/2549


โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้ของ ส. บุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของ ส. บุตรชายที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามข้อต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ คดีจึงมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับฟังข้อเท็จจริงยุติไปเลยว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดประเด็นเพิ่มและวินิจฉัยให้เสร็จไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน

คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระแก่โจทก์ มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินแปลงอื่นอีก การที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดินแปลงอื่นจำนวน 3 แปลง ไปขายฝากแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวน 200,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 แต่ที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่ ก. บุตรชายโจทก์และโจทก์หักเงินที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืม เป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบถึงการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 ซึ่งจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้

คำแถลงรับของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

          โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 5,190,625 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 3,750,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระให้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง

          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2540) ต้องไม่เกิน 1,440,625 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ หากจำเลยไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 53071 เลขที่ดิน 909 หน้าสำรวจ 703 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ระหว่างไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางอรุณศรีและนายกิตติ ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,390,484.64 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 3,750,000 บาท ไปจากโจทก์ทั้งสองและรับเงินไปแล้วโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 53071 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสอง แต่จำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นประกันหนี้ของนายสนองบุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของบุตรชายจำเลยที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ในคดีนี้ได้ คดีจึงต้องมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสองหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติไปเลยว่าจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของนายสนองบุตรชายจำเลย ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดประเด็นเพิ่มขึ้นและวินิจฉัยให้เสร็จไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยมีหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่านายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินตามสำเนาสัญญาขายฝาก การที่จำเลยนำสืบว่านายสนองบุตรชายจำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 3 ฉบับ ไปทำนิติกรรมขายฝากกับนายสุชาติในราคา 400,000 บาท ตามสำเนาสัญญาขายฝาก แล้วนำเงินที่ขายฝากได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและฟังว่ามีการนำเงินที่ขายฝากที่ดินดังกล่าวไปชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่านายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่นายกิตติบุตรชายของโจทก์ที่ 1 รวมเป็นเงิน 715,000 บาท ตามสำเนาสัญญาขายฝาก และโจทก์ที่ 1 หักเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวนดังกล่าวชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าหลังจากทำสัญญา โจทก์ทั้งสองให้นายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากเพื่อนำเงินชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเท่ากับว่าเป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่ามีการชำระหนี้ดังกล่าวได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 และจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วรวม 2 ครั้งและต้องนำมาหักออกจากยอดหนี้เงินกู้ยืม จำนวน 2,000,000 บาท นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

          อย่างไรก็ตามปรากฏข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้สอบถามโจทก์ที่ 1 และบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2542 ว่าในวันที่ 27 ตุลาคม 2541 โจทก์ที่ 1 ได้รับชำระหนี้คืนจากจำเลยโดยผ่านทางนายสนองบุตรชายแล้วเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท คำแถลงรับของโจทก์ที่ 1 ว่าได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 1 กรณีจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2540) ต้องไม่เกิน 1,440,625 บาท โดยให้เอาเงินจำนวน 200,000 บาท ใช้เป็นค่าดอกเบี้ย หากยังมีเหลือจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.     

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-13 20:50:06


ความคิดเห็นที่ 5 (2399429)

ชำระหนี้ตามอำเภอใจ(มาตรา 407),สัญญาหมั้นตกเป็นโมฆะ, ไม่ทราบว่าหญิงอายุไม่ครบ 17 ปี, ต้องคืนของหมั้นและสินสอด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-08-12 16:15:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล