ReadyPlanet.com


แรงงาน


ขอเรียนสอบถามดังนี้

 

1. กรณีพนักงาน/ลูกจ้าง ป่วยเป็นประจำ และมีใบรับรองแพทย์ มาให้นายจ้างดูทุกครั้ง

   นายจ้างเห็นว่าจะเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าว ค่าชดเชยหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าลูกจ้างต้องหยุด

   งานบ่อยเกินไป เพราะต้องไปรักษาตัว

2. กรณีลูกจ้างป่วยโดยเป็นอัมพาต ไม่สามารถมาทำงานได้เลย หรือ ร่างกายไม่แข็งแรงจนไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ และมีใบรับรองแพทย์ มายืนยันด้วย กรณีนี้

   นายจ้างจะเลิกสัญญาจ้างได้หรือไม่ ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยหรือไม่ เพราะอะไรครับ

 

ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เอกวิทย์ :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-28 13:39:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2123484)

1. กรณีพนักงาน/ลูกจ้าง ป่วยเป็นประจำ และมีใบรับรองแพทย์ มาให้นายจ้างดูทุกครั้ง นายจ้างเห็นว่าจะเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าว ค่าชดเชยหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าลูกจ้างต้องหยุดงานบ่อยเกินไป เพราะต้องไปรักษาตัว

ตอบ--เป็นสิทธิตามกฎหมายที่เขาทำได้ครับ เลิกจ้างลูกจ้างก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงานครับ

2. กรณีลูกจ้างป่วยโดยเป็นอัมพาต ไม่สามารถมาทำงานได้เลย หรือ ร่างกายไม่แข็งแรงจนไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ และมีใบรับรองแพทย์ มายืนยันด้วย กรณีนี้  นายจ้างจะเลิกสัญญาจ้างได้หรือไม่ ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยหรือไม่ เพราะอะไรครับ

ตอบ--มาตรา 57 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลา ป่วยตาม มาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน

เมื่อลูกจ้างลาป่วยเกิน 30 วัน นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง เมื่อไม่ต้องจ่ายค้าจ้างให้ลูกจ้าง หากนายจ้างจะเลิกจ้างในทางปฏิบัติยังไม่เห็นความจำเป็นที่ไม่อาจทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าเลยครับ แม้ลูกจ้างจะเป็นอัมพาต นายจ้างก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-29 11:57:26


ความคิดเห็นที่ 2 (2123496)

การเลิกจ้างเพราะป่วย
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1849/2529

          โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่และไม่สามารถหางานอื่นที่เหมาะสมให้ได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม. การที่ผู้อำนวยการของจำเลยออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบรวมทั้งมีอำนาจอนุมัติลาออกเลิกจ้างให้ออกไล่ออกพนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดได้คำสั่งดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้อำนวยการของจำเลยเป็นคำสั่งในทางบริหารงานมิใช่เป็นการมอบอำนาจโดยเฉพาะและมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใดอันพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรคำสั่งดังกล่าวซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงชอบด้วยกฎหมายผู้จัดการเขตการเดินรถจึงมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้.

          โจทก์ ฟ้อง ว่า จำเลย จ้าง โจทก์ เป็น พนักงาน ขับรถ ต่อมา โจทก์ ป่วยเป็น โรค เบาหวาน แพทย์ มี ความเห็น ว่า โจทก์ ควร ทำงาน บน พื้นดินผู้จัดการเขตการเดินรถ ออก คำสั่ง ถึง โจทก์ ว่า โจทก์ ป่วย เป็น โรคเบาหวาน ถึง ขั้น ไม่ สามารถ ปฏิบัติ หน้าที่ พนักงาน ขับรถ ต้อง ทำงานเบา หน้าที่ อื่น และ จำเลย ไม่ สามารถ หา ตำแหน่ง งาน หน้าที่ อื่นที่ เหมาะสม ให้ ปฏิบัติ เป็น การ ประจำ ต่อไป จึง ให้ เลิกจ้าง โจทก์ซึ่ง ผู้จัดการเขตการเดินรถ ดังกล่าว ไม่ มี อำนาจ สั่ง เลิกจ้าง ทั้งเป็น คำสั่ง ที่ ไม่ เป็นธรรม เพราะ โจทก์ หาย จาก โรค เบาหวาน แล้วขอ ให้ พิพากษา ยก คำสั่ง เลิกจ้าง ของ จำเลย ให้ จำเลย จ่าย ค่าเสียหายเงินโบนัส ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการ ของ บุตรเงิน ค่า บำรุง การ ศึกษา ของ บุตร และ ค่า รักษา พยาบาล พร้อม ดอกเบี้ย

           จำเลย ให้การ ว่า จำเลย เลิกจ้าง โจทก์ เพราะ โจทก์ ไม่ สามารถ ทำงานให้ กับ จำเลย ใน หน้าที่ พนักงาน ขับ รถยนต์ โดยสาร ประจำทาง จำเลยได้ มอบอำนาจ ให้ ผู้จัดการเขตการเดินรถ มี อำนาจ ใน การ จ้าง และเลิกจ้าง ภายใน อัตรา กำลัง ได้ ตาม คำสั่ง ของ จำเลย คำสั่ง เลิกจ้างจึง ชอบ แล้ว จำเลย ไม่ ต้อง รับ โจทก์ กลับ เข้า ทำงาน และ จ่าย เงินใดๆ ให้ แก่ โจทก์

           ศาลแรงงานกลาง พิพากษา ยกฟ้อง

           โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา

           ศาลฎีกา แผนก คดีแรงงาน วินิจฉัย ว่า โจทก์ ป่วย เป็น โรค เบาหวาน จนไม่ สามารถ ปฏิบัติ หน้าที่ พนักงาน ขับรถ ตาม ตำแหน่ง ได้ และ จำเลยไม่ อาจ คาดหมาย ได้ ว่า โจทก์ จะ มี โอกาส หาย จาก โรค นี้ หรือไม่จำเลย ไม่ สามารถ หา ตำแหน่ง งาน หน้าที่ อื่น ที่ เหมาะสม ให้ ได้จึง ได้ มี คำสั่ง เลิกจ้าง โจทก์ คำสั่ง เลิกจ้าง โจทก์ ดังกล่าว จึงเป็น การ เลิกจ้าง ที่ เป็นธรรม แล้ว ส่วน การ ที่ ข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพ การจ้าง กำหนด หลักเกณฑ์ การ พิจารณา เลิกจ้าง พนักงาน ของ จำเลยไว้ ว่า พนักงาน ที่ ถูก ยุบเลิก หน่วยงาน หรือ ตำแหน่งงาน และ องค์การฯ ไม่ สามารถ จัดหา งาน อื่น ที่ เหมาะสม ให้ ถือ ปฏิบัติ เป็น การ ถาวรได้ ให้ เลิกจ้าง นั้น หมายถึง พนักงาน ที่ ยัง มี ความ สามารถ ปฏิบัติงาน ใน หน้าที่ ได้ แต่ ต้อง ถูก ยุบ เลิก หน่วยงาน ที่ ตน สังกัด อยู่หรือ ยุบเลิก ตำแหน่ง ที่ ตน ดำรง อยู่ และ จำเลย ไม่ อาจ หา ตำแหน่งงาน อื่น ที่ เหมาะสม ได้ จึง มี สิทธิ เลิกจ้าง เท่านั้น หา ใช่ มีความหมาย ว่า หาก พนักงาน ผู้ใด ไม่ สามารถ ปฏิบัติ หน้าที่ ได้ เพราะความ ป่วยเจ็บ ไร้ความสามารถ หรือ หย่อน สมรรถภาพ ด้วย เหตุ ของ สุขภาพอนามัย แล้ว จำเลย ไม่ มี สิทธิ เลิกจ้าง ได้ กรณี ของ โจทก์ หา ขัด ต่อบันทึก ดังกล่าว ไม่

           ผู้อำนวยการ ของ จำเลย ได้ มี คำสั่ง มอบอำนาจ ให้ผู้จัดการเขตการเดินรถ มี อำนาจ ดำเนินการ ใน เขตการเดินรถ ที่ รับผิดชอบ โดย กำหนด อำนาจ ทั่วไป อำนาจ บริหารงานบุคคลฯลฯ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง มี อำนาจ อนุมัติ และ ลงนาม คำสั่ง หรือ สัญญา บรรจุ จ้าง แต่งตั้งย้าย ลาออก เลิกจ้าง ให้ออก ไล่ออก พนักงาน หรือ ลูกจ้าง ใน สังกัด ได้คำสั่ง ของ จำเลย ดังกล่าว เป็น การ แบ่งงาน ใน หน้าที่ เป็น คำสั่ง ในทาง บริหารงาน ซึ่ง มิใช่ เป็น กรณี มอบอำนาจ ให้ แก่ผู้จัดการเขตการเดินรถ โดยเฉพาะ และ มิใช่ เป็น การ มอบอำนาจ ให้ กระทำนิติกรรม อันหนึ่ง อันใด อัน พึง ต้อง ติด อากรแสตมป์ ตาม ประมวลรัษฎากรไม่ คำสั่ง ของ จำเลย จึง ชอบ ด้วย กฎหมาย และ ผู้จัดการเขตการเดินรถมี อำนาจ ออก คำสั่ง เลิกจ้าง โจทก์ ได้

           พิพากษา ยืน.

( มาโนช เพียรสนอง - สมบูรณ์ บุญภินนท์ - เพียร สุมิระ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-29 12:26:35


ความคิดเห็นที่ 3 (2123498)

เลิกจ้างเพราะหย่อมสมรรณภาพ

นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ลูกจ้างได้ลาป่วยอ้างว่าเป็นไข้หวัดในเดือนเมษายน 2546 ทั้งเดือน โดยลาต่อเนื่องกันถึง 8 ครั้ง บางครั้งนานนับสิบวัน ลูกจ้างลาป่วยทั้งเดือนโดยไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ถือว่าหย่อนสมรรณภาพในการทำงาน การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  724/2549

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นว่า ม. ไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย ทั้งจำเลยยังให้การรับในคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

          โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานขายต้องควบคุมดูแลพนักงานขายในการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้ให้แก่จำเลย แต่กลับลาป่วยทั้งเดือนไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 21,846 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 48,213 บาท และค่าชดเชย 67,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 44,446 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 5,750 บาท ค่ารับรอง 1,000 บาท และค่าโทรศัพท์ 500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท แก่โจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 67,800 บาท ค่าจ้างค้างชำระจำนวน 21,846 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายสินค้าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 44,446 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางจำนวน 5,750 บาท ค่ารับรองลูกค้าจำนวน 1,000 บาท และค่าโทรศัพท์จำนวน 500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับจ่ายค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าขอนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายขายต่างจังหวัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายมานิต กำเหนิดงาม ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของจำเลยบอกแก่โจทก์ว่ามาทำงานทำไม เขาไม่ให้ทำงานแล้ว ถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากนายมานิตมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยและไม่ปรากฏว่านายมานิตได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทจำเลย นายมานิตจึงไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นที่นายมานิตไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังให้การรับในคำให้การข้อ 2 ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ลาป่วยอ้างว่าเป็นไข้หวัดในเดือนเมษายน 2546 ทั้งเดือน โดยลาต่อเนื่องกันถึง 8 ครั้ง บางครั้งนานนับสิบวัน เห็นว่า โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานขายต้องควบคุมดูแลพนักงานขายในการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้ให้แก่จำเลย แต่กลับลาป่วยทั้งเดือนโดยไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรณภาพในการทำงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรการมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น"

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - พิทยา บุญชู )        

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-29 12:34:02


ความคิดเห็นที่ 4 (2125823)

สรุปว่า

 1. หากลูกจ้างป่วยใน 1 ปี  เกิน 30 ครั้ง ในส่วนที่เกินนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินกรณีลาป่วยใช่หรือไม่ครับ

2. ดังนั้นกรณีป่วยจนไม่สามารถมาทำงานได้เลย เมื่อเกิน 30 วันก็ไม่ต้องจ่ายตามข้อ 1.  ผลต่อไป

    2.1 นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างใดให้ลูกจ้างเพราะไม่ได้มาทำงาน ใช่หรือไม่

    2.2 นายจ้างไม่ต้องหักเงินประกันสังคมในส่วนของลูกจ้าง และส่วนของนายจ้าง เพื่อส่งประกันสังคม ใช่หรือไม่

    2.3 ดังนั้นไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาจ้างก็ได้ใช่หรือไม่  แต่

           หากบอกเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว ก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หนึ่งงวดค่าจ้าง ใช่หรือไม่

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกวิทย์ วันที่ตอบ 2010-11-05 21:40:34


ความคิดเห็นที่ 5 (2125881)

2.1 นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างใดให้ลูกจ้างเพราะไม่ได้มาทำงาน ใช่หรือไม่

ตอบ--มาตรา 57 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลา ป่วยตาม มาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน


2.2 นายจ้างไม่ต้องหักเงินประกันสังคมในส่วนของลูกจ้าง และส่วนของนายจ้าง เพื่อส่งประกันสังคม ใช่หรือไม่

ตอบ--ต้องทำแบบรายการเพื่อส่งประกันสังคม แต่เป็น ศูนย์ (สอบถามเพิ่มเติมที่ สปส)


2.3 ดังนั้นไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาจ้างก็ได้ใช่หรือไม่  แต่

           หากบอกเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว ก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หนึ่งงวดค่าจ้าง ใช่หรือไม่

ตอบ--การลาป่วยจะเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาจ้าง และการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไรครับ (ไม่เข้าใจคำถามครับ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-11-06 08:17:28


ความคิดเห็นที่ 6 (2126089)

 คำถามว่า--หากบอกเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว ก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หนึ่งงวดค่าจ้าง ใช่หรือไม่

ตอบ--ในเรื่องนี้ไม่กฎหมายกำหนดยกเว้นไว้ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-11-07 07:50:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล