ReadyPlanet.com


ปรึกษาทนายความ - ขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร


พ่อกับแม่ได้เลิกกันโดยในทะเบียนหย่าพ่อบอกว่าจะรับผิดชอบลูกทั้งสองคนเองพ่อเป็นตำรวจยศตอนนี้ก็ พ.ต.ท แล้ว แต่พอพ่อไปมีเมียใหม่กับเอาลูกทั้งสองคนมาไว้กับยายแล้วก็ไม่ส่งเสียค่าเลี้ยงดูเลยอย่างนี้เข้าข่ายว่าพ่อหลอกให้แม่หย่าหรือเปล่า แล้วตอนนี้พ่อก็ไปจดทะเบียนใหม่ มีลูกด้วยกัน2คน แล้วลูกสองคนแรกสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูได้ไหม แล้วจะไปเรียกกับใครได้บ้างในเมื่อพ่อไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย



ผู้ตั้งกระทู้ jongkotkorn :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-03 13:22:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2133865)

1.  เลยอย่างนี้เข้าข่ายว่าพ่อหลอกให้แม่หย่าหรือเปล่า

ตอบ--ไม่เป็นหลอกลวงครับ เพราะการจดทะเบียนหย่าต้องแสดงเจตนาต่อหน้านายทะเบียน ส่วนเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นข้อตกลงที่ไม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนหย่า

2.   แล้วลูกสองคนแรกสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูได้ไหม แล้วจะไปเรียกกับใครได้บ้างในเมื่อพ่อไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย

ตอบ--  บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้การศึกษาตามฐานานุรูปของตน ดังนั้นบุตรที่อายุยังไม่ครบ 20 ปี ฟ้องบิดาเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาได้ (ให้แม่ฟ้องแทนเพราะฟ้องบิดามารดาเป็นคดีอุทลุม) หักเงินเดือนได้ครับ

 

 

บิดาหรือมารดาที่เลี้ยงบุตรคนเดียวหรือฝ่ายเดียว เพราะครอบครัวแตกแยกทิ้งร้างกัน หรือ บิดาหรือมารดาสนใจแต่หาเงินหาทองเลี้ยงปากท้องเป็นหลักให้บุตรให้ลูกไปอยู่กับญาติ บางครอบครัว บิดามารดาก็แยกทางกัน ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ซึ่งตัวเด็กเองก็ต้องกินต้องใช้  ทั้งค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเล่าเรียน ซึ่งผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ บิดามารดาที่ต้องช่วยกันเลี้ยงดูบุตรและดูแลบุตร
 
ถ้ามารดาเลี้ยงบุตรเพียงฝ่ายเดียว
 
เมื่อบิดา มารดาไม่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อแยกทางกัน แล้วต้องทำหน้าที่เป็นทั้งบิดา และเป็นมารดาในเวลาเดียวกันนั้น กฎหมายให้โอกาสเต็มที่ในการใช้สิทธิเพื่อปกครองบุตรฝ่ายเดียว เพราะการไม่จดทะเบียนสมรส มีผลให้บุตรที่เกิดมาก็เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นมารดาแต่เพียงผู้เดียว และเป็นลูกนอกกฎหมายของผู้เป็นบิดา ทำให้ผู้เป็นมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวตามที่กล่าวข้างต้น เป็นผู้กำหนดที่อยู่ของบุตรได้ หรือภาษาช่าวบ้านว่า มีสิทธิเลี้ยงดูบุตรนั่นเอง
 

สิทธิของบุตรที่จะเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดู
 
บุตรที่จะมีสิทธิได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดา กฎหมายกำหนดได้รับจนถึงบุตรบรรลุภาวะและได้รับการศึกษาจากบิดามารดานั้น จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา(ต้องจดทะเบียนสมรสกัน) หากเป็นบุตรนอกสมรสของบิดา (ไม่จดทะเบียนสมรส)  ก็มีความจำเป็นจะต้องไปฟ้องคดีขอให้เป็นบิดาและบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน  มิฉะนั้นจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อไม่ได้ ส่วนขั้นตอนการดำเนินการนั้นแนะนำให้ติดต่อกับทนายความจะดีกว่า
 
กรณีอื่นๆที่ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้เลย
 
มีกรณีพิเศษอื่นๆ ที่มารดาสามารถฟ้องเรียกร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากฝ่ายชายได้ในคดีเดียวกันโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ก็คือ
 (1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
 (2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจ ตั้งครรภ์ได้
 (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของเขา
 (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
 (5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
 (6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
 (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
 

กรณีการสมรสสิ้นสุดลง

สำหรับคู่สามีภรรยาส่วนใหญ่ที่อยู่กินด้วยกันไม่ได้แล้ว จนนำมาซึ่งการหย่าร้างหรือการฟ้องหย่า แบบนี้โดยปกติแล้วเมื่อมีการฟ้องหย่าก็มักจะมีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไปพร้อมๆ กับการฟ้องหย่าและการแบ่งสินสมรส
 
เรื่องการฟ้องเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น ใช่ว่าฝ่ายมารดาจะมีสิทธิเรียกจากผู้เป็นบิดาของเด็กได้เท่านั้น  หากมารดามีรายได้มากกว่า มีฐานะดีกว่าแต่ทอดทิ้งให้บุตรให้อยู่อย่างอดๆ อยากๆ กับคุณบิดาที่รายได้น้อยและที่ไม่ค่อยมีฐานะ แบบนี้คุณบิดาคนยาก ก็สามารถฟ้องเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากผู้เป็นมารดาจนบรรลุภาวะและค่าเล่าเรียนได้เช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่สัญชาติญาณของความเป็นแม่ย่อมอยากจะเป็นผู้ดูแลบุตรอยู่แล้ว ดังนั้นกรณีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจึงมักจะเป็นฝ่ายหญิงฟ้องฝ่ายชายให้แสดงความรับผิดชอบอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ทั่วไป
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 085-9604258 วันที่ตอบ 2010-12-03 15:18:57


ความคิดเห็นที่ 2 (2133867)

มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-12-03 15:20:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล