ReadyPlanet.com


ขอคำแนะนำคดีพรากผู้เยาว์


ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยครับที่รบกวน คือผมมีเรื่องอยู่ว่าลูกชายวัย 15 ปีของผมได้พาเด็กหญิงวัย 14 ปี ออกจากบ้านหนีไปด้วยกันเป็นเวลา 15 วันโดยเต็มใจไปด้วยกันและไม่สามารถติดต่อได้ว่าหนีไปอยู่ที่แห่งใด ระหว่างที่หนีไปตลอด 15 วันนั้นเมื่อทำการติดตามกลับมาได้แล้วนั้น ได้นำฝ่ายหญิงส่งคืนถึงบ้านแต่ยังไม่มีการพูดคุยอะไรกันหลังจากนั้นอีกสองวันต่อมาได้มีหมายเรียกตัวลูกชายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่บ้านให้ไปรายงานตัว ผมก็รีบพาไปดำเนินการ ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำเล็กน้อยแล้วแนะนำว่าให้ไปตกลงกันกับฝ่ายหญิง  ผมก็ทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำเพราะอยากให้เรื่องจบลงโดยเร็วแต่เป็นว่าทางฝ่ายหญิงกลับไม่เห็นพ้องต้องกันเอง ระหว่างพ่อกับแม่ของฝ่ายหญิงเองกล่าวคือฝ่ายพ่อฟังดูเหมือนอยากได้ค่าเสียหายในมูลค่าที่สูงมากๆ ส่วนทางแม่อยากได้เป็นเพียงการหมั้นหมายไว้เพราะเด็กทั้งสองฝ่ายอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ ตกลงเลยเป็นอันว่าไม่ได้ข้อตกลงที่ยุติได้ หลังจากนั้นทางเราได้สอบถามทางลูกชายถึงสาเหตุที่พากันหนีไปได้ความว่าเด็กหญิงกลัวความผิดที่แม่มาที่โรงเรียนเนื่องจากทางโรงเรียนโทรเชิญผู้ปกครองมาพบว่าเด็กหนีเรียน เด็กจึงกลัวถูกลงโทษ ทางผมเลยสงสัยว่าเหตุใดเด็กถึงได้กลัวขนาดนั้นจึงได้สอบถามต่อก็ได้ความว่า เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเด็กหญิงได้ไปงานวันเกิดเพื่อนแล้วกลับบ้านช้าถูกพ่อทำโทษโดยจับหัวโขกที่บันไดบ้าน จึงได้เข้าใจว่านี่คงเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความกลัวผู้ปกครองเป็นอย่างมากเมื่อกระทำความผิด และบอกกับลูกชายผมว่าไม่อยากกลับบ้านและชวนว่าจะไปไหนดี ทางลูกชายเลยจะพาไปหาเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นเพื่อนของลูกชาย จากนั้นทั้งสองก็ได้พากันออกจากบ้านไป แต่เมื่อไปถึงไม่สามารถติดต่อเพื่อนได้จึงต้องหาห้องพักเพื่อพักอาศัย แต่ระหว่างที่พักอยู่ด้วยกันนั้นได้รับการยืนยันจากลูกชายว่าไม่มีการล่วงเกินทางเพศแต่อย่างใดและหลังจากไปกันได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ก็ได้ชวนฝ่ายหญิงกลับมาบ้านแต่ฝ่ายหญิงบอกอยังไม่อยากกลับจึงพากันอยู่ต่อจนเงินหมดจึงได้พากันกลับมา เลยขอรบกวนถามเป็นข้อๆดังนี้นะครับ

       1 หากตกลงได้ตามที่แม่ฝ่ายหญิงต้องการคือหมั้นไว้ก่อนหากต่อไปเกิดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปลี่ยนไปอีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่อย่างไร (คือแม่ฝ่ายหญิงพูดเปรยๆไว้ว่าหากเป็นเช่นนั้นก็คงแล้วแต่เด็กมัน)

        2 หากเป็นไปตามที่ฝ่ายพ่อของฝ่ายหญิงเรียกร้อง (หลักแสน) ซึ่งทางเราก็ไม่มีขนาดนั้นและไม่สามารถตกลงกันได้จนเรื่องถึงศาล เราจะต้องคดีระดับไหนและจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเพราะเด็กก็เรียนอยู่ไม่อยากให้เสียการเรียนเพราะใกล้จะสอบและจบ ม.3 ในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้แล้วครับ

         3 หากตกลงกันได้ทางเจ้าหน้าที่จะส่งฟ้องอีกหรือไม่เพราะเรื่องถึงตำรวจแต่แรกแล้วหากส่งฟ้องจะรอไปตกลงในศาลครั้งเดียวเลยจะดีกว่าไหมหรือยังไง ขอคำแนะนำด้วยครับ

                                    ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ พ่อ :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-09 10:48:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2152064)

 1 หากตกลงได้ตามที่แม่ฝ่ายหญิงต้องการคือหมั้นไว้ก่อนหากต่อไปเกิดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปลี่ยนไปอีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่อย่างไร (คือแม่ฝ่ายหญิงพูดเปรยๆไว้ว่าหากเป็นเช่นนั้นก็คงแล้วแต่เด็กมัน)

ตอบ---ตามข้อเท็จจริงที่เล่ามานั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ถ้าถึงชั้นตำรวจแล้วลูกชายของผู้ถามจะถูกตั้งข้อกล่าวอะไรบ้าง แต่ที่แน่นอนแล้วก็คือข้อหาพรากผู้เยาว์ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดิน จึงไม่สามารถยอมความกันได้ แล้วถามว่า ไม่สามารถยอมกันได้จะมีผลอย่างไร ตอบว่า หากวันนี้ตกลงกันได้และต่อไปเกิดฝ่ายผู้ปกครองเด็กหญิงเปลี่ยนไปก็สามารถเอาผิดกับลูกชายของคุณได้นั่นเอง เพราะอายุความในความผิดเรื่องนี้ยาวเป็น 10 ปีอยู่แล้ว จึงตอบคำถามข้อนี้ได้ตามนี้

        2 หากเป็นไปตามที่ฝ่ายพ่อของฝ่ายหญิงเรียกร้อง (หลักแสน) ซึ่งทางเราก็ไม่มีขนาดนั้นและไม่สามารถตกลงกันได้จนเรื่องถึงศาล เราจะต้องคดีระดับไหนและจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเพราะเด็กก็เรียนอยู่ไม่อยากให้เสียการเรียนเพราะใกล้จะสอบและจบ ม.3 ในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้แล้วครับ

ตอบ---ความผิดตามกฎหมายก่อนนะครับคือ กฎหมายกำหนดโทษในคดีแบบนี้ไว้ว่า มีโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 3 ปี แต่เนื่องจากตัวเด็กยังเป็นเยาวชนอยู่และกำลังอยู่ในวันศึกษาเล่าเรียน ก็มีทางออกอยู่บ้างพอสมควรดังนี้คือ
*  ถ้าตกลงค่าเสียหายกันไม่ได้ก็ต้องขวนขวายหาเงินทองมาบรรเทาความเสียหายให้กับผู้เสียหายจำนวนหนึ่งซึ่งตามความเห็นของผมในคดีนี้น่าจะอยู่ที่ 20.000 บาท - 50.000 บาท ซึ่งน่าจะสมเหตุสมผลแล้วแต่ความสามารถของผู้ปกครอง เพราะถ้าผู้ปกครองไม่มีก็คือไม่มี อะไรจะเกิดก็คงต้องเป็นไปตามดุลพินิจของศาล

**   และให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางต่อศาลและให้ศาลแจ้งให้ผู้เสียหายมารับไปจากศาล และในทางคดีก็รับสารภาพฟ้องโจทก์ไป แล้วแถลงศาลขอความเมตตาแก่จำเลยว่าจำเลยอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอโอกาสจำเลยได้ศึกษาเล่าเรียนโดยหาหลักฐานการเรียนจากโรงเรียนเพื่อแสดงต่อศาล เป็นหนังสือรับรองออกโดยสถานการศึกษาที่จำเลยกำลังเรียนอยู่

***  ผู้ปกครองแถลงศาลว่าต่อไปจะเข้มงวดต่อความประพฤติของบุตร(จำเลย) ให้มากขึ้นจะให้การดูแลเอาใจใส่ไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก

****  ผลของคดีเป็นดุลพินิจของศาล แต่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีดังนี้คือ ศาลจะมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่โทษจำคุกให้รอไว้ก่อนเป็นกำหนดเวลา 1-2 ปี แล้วแต่ศาล หรือถ้าหนักกว่านี้ ก็เป็นว่า ศาลจะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งฝึกอบรมซึ่งคดีทำนองนี้ก็เป็นไปได้สูงว่าประมาณ 2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามจำเลยก็ยังมีสิทธิขอประกันตัวต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้ เพื่อยืดระยะเวลาอันเป็นประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียนได้ระยะหนึ่ง หรือก็เป็นไปได้สูงที่ศาลอุทธรณ์อาจให้โอกาสที่ดีกว่าศาลชั้นต้นก็ได้ คำตอบของผมไม่สามารถใช้อ้างอิงอะไรได้แต่เป็นเพียงแนวทางที่ควรจะเป็นเท่านั้น

มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

         3 หากตกลงกันได้ทางเจ้าหน้าที่จะส่งฟ้องอีกหรือไม่เพราะเรื่องถึงตำรวจแต่แรกแล้วหากส่งฟ้องจะรอไปตกลงในศาลครั้งเดียวเลยจะดีกว่าไหมหรือยังไง ขอคำแนะนำด้วยครับ

ตอบ--  ถ้าตามที่เล่ามานั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาคงให้โอกาสกับสองฝ่ายได้พูดจาตกลงกัน เพราะสอบถามดูแล้วเป็นเรื่องความสมัครใจของฝ่ายหญิง ซึ่งตามรูปการแล้วย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดากับสังคมปัจจุบัน ถ้ามองในมุมของฝ่ายชายแล้วก็ไม่ใช่ความผิดที่ไปทำร้ายฝ่ายหญิง แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีสิทธิคิดอย่างนี้ก็ตาม เพราะว่าเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อกฎหมายระบุเป็นความผิดและมีโทษจำคุกดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 ที่ยกมาให้อ่านกันข้างต้นนั้น ผู้กระทำความผิดก็ย่อมต้องรับผลตามที่ตัวเองได้กระทำ แม้จะได้ถึงตำรวจแล้วผมเข้าใจว่า ทางตำรวจอาจจะยังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหา ดังนั้นหากจบในชั้นนี้ได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่า ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-09 13:32:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล