ReadyPlanet.com


การเปลี่ยนสภาพการจ้างงานโดยปริยาย


ดิฉันโดนทางบริษัทลดเงินเดือน และย้ายแผนก โดยนายจ้างเรียกไปบอกกล่าวให้รับรู้ และส่งเมลล์ โดยไม่มีการเซ็นเอกสารยินยอมใดๆทั้งสิ้น

ดิฉัน ได้สอบถามไปยังแผนกบุคคลว่าสามารถลดเงินเดือนพนักงานได้หรือไม่ ทางแผนกบุคคลยืนยันว่าสามารถลดได้ ดิฉันไม่มีทางเลือก เพราะมีความจำเป็นด้านการเงิน และยังหางานใหม่ไม่ได้ เลยอดทนทำงานมาอีก 7 เดือน ในระหว่างนั้่น ดิฉันได้สอบถามเพื่อนๆ เพื่อนแนะนำให้ไปฟ้องศาลแรงงานเรื่องที่โดนลดเงินเดือนได้ หลังจากดิฉันลาออก จึงไปฟ้องศาล

ดิฉันมีเรื่องรบกวนถามดังนี้

1. การที่ดิฉันทำงานต่ออีก 7 เดือน หลังจากโดนลดเงินเดือนแล้ว โดยไม่ได้โต้แย้งนายจ้าง (แต่ไม่ได้เซ็นเอกสารยอมรับ) ถือว่าเป็นการตกลงโดยปริยายหรือไม่ ดิฉันกลัว นายจ้างจะอ้างว่า ในเมื่อดิฉันไม่โต้แย้ง ทำงานต่อมาอีกต้อง 7 เดือน ก็แสดงว่ายินยอม

2. ดิฉันเคยยื่นขอใบรับรองเงินเดือนเพื่อไปต่างประเทศ ในระหว่างเงินเดือนถูกลด นายจ้างสามารถเอาจุดนี้มาอ้างได้หรือไม่ว่า ข้าพเจ้ายอมรับการลดเงิน

ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ศรัณยา :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-22 15:59:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2155596)

การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในกรณีของคุณเป็นข้อกฎหมายที่ตอบยากเพราะมีข้อเท็จจริงเรื่องระยะเวลและการขอใบรับรองเงินเดือนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งอาจมองไปในทำนองว่าคุณยินยอมโดยปริยายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็น ผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในกรณีของคุณไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณน่าจะไปปรึกษาพนักงานตรวจแรงงานโดยด่วนน่าจะช่วยตอบคำถามท่านได้อย่างถูกต้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ในการลดค่าจ้างดังกล่าว จำเลยได้เรียกประชุมผู้จัดการฝ่ายทุกคนรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือนพนักงาน แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายแต่ละฝ่ายไปแจ้งให้พนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป หลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานทุกคนโดยโจทก์และพนักงานอื่นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ (อ่านต่อ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-22 22:12:05


ความคิดเห็นที่ 2 (2155599)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7084 - 7106/2544

          จำเลยมิได้จัดทำข้อตกลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา ตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมาโดยลูกจ้างของจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงถือได้ว่ากำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา เป็นสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าสภาพการจ้างเดิมจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง การเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20

           การที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยเพื่อสอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างและขอใบอนุญาตผ่านออกจากอาคารที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไปเจรจากับฝ่ายการเงินที่อยู่ในอีกอาคารหนึ่งเพื่อให้จ่ายค่าจ้างในเวลาเดิมตามสภาพการจ้างที่ปฏิบัติกันมาย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ มิใช่กรณีที่ลูกจ้างจะต้องร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 50 วรรคสอง แม้ขณะที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานดังกล่าวจะเป็นเวลาการทำงาน ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

          โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินประกันและเงินโบนัสตามฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินประกัน และเงินโบนัสตามบัญชีท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวสำหรับค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2541 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 เงินประกันการทำงานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2541 และเงินโบนัสของโจทก์ทั้งหมดนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม

          จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปพบนายจรินทร์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยเพื่อสอบถามเกี่ยวกับกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างนั้นฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ คำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้จัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อถึงวันจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา ตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา โดยลูกจ้างของจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงถือได้ว่ากำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกาเป็นสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทั้งหมด การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกานั้น ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวและยังถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าสภาพการจ้างเดิม จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและทางนำสืบของโจทก์ทั้งยี่สิบสามกับจำเลยว่าการที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของนายจรินทร์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยก็สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งยี่สิบสามต้องการสอบถามนายจรินทร์ถึงการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างและขอใบอนุญาตผ่านออกจากอาคารที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไปเจรจากับฝ่ายการเงินที่อยู่ในอีกอาคารหนึ่งเพื่อให้จ่ายค่าจ้างในเวลาเดิมตามสภาพการจ้างที่ปฏิบัติกันมาซึ่งย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ การกระทำดังกล่าวยังมิใช่กรณีที่ลูกจ้างจะต้องร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 50 วรรคสองตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด และแม้ว่าขณะที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของนายจรินทร์จะเป็นเวลาการทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบสามก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงานและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามหรือไม่ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยอ้างเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงานเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมสืบเนื่องมาจากสาเหตุการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งยี่สิบสามตามที่จำเลยอุทธรณ์ข้างต้นนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ได้วินิจฉัยในอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้วว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสามมิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวหาจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-22 22:16:23


ความคิดเห็นที่ 3 (2155603)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5790 - 5822/2543

          แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตาม แต่การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมาย่อมถือได้ว่าจำเลยตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างโดยปริยาย การที่โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ณ วันสิ้นเดือนจึงมิใช่เป็นการบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะกำหนดจ่ายสินจ้าง อันจะมีผลเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในคราวถัดไป

          โจทก์ทั้งสามสิบสามสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งสามสิบสามโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือนหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบสามโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละหกสิบวัน

          จำเลยทั้งสามสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามสิบสามเป็นลูกจ้างจำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน แต่เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินเดือนเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานทางบัญชีและการเงินจึงมีการจ่ายเงินเดือนก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน จำเลยได้ปิดประกาศเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2541 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541จึงเป็นการเลิกจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามสิบสามโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างคนละ 60 วัน

          จำเลยทั้งสามสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตามแต่การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมาย่อมถือได้ว่าจำเลยตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างจากวันสิ้นเดือนเป็นวันก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน โดยปริยาย ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกรณีหาอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่ ฉะนั้นจึงต้องถือว่าวันที่ครบกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมายของจำเลยในเดือนมิถุนายน 2541 คือวันที่ 29 มิถุนายน 2541 การที่โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งมิใช่เป็นการบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในเดือนมิถุนายน 2541 อันจะมีผลเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในคราวถัดไปคือการจ่ายสินจ้างในเดือนกรกฎาคม 2541 แต่จำเลยกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามสิบสามโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทุกคนได้เบิกความรับว่า โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับสินจ้างสำหรับเดือนกรกฎาคม 2541 จากจำเลยไปครบถ้วนทุกคนแล้ว ฉะนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามเฉพาะสินจ้างของเดือนสิงหาคม 2541 เท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างของเดือนกรกฎาคม2541 ให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามอีก"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 18 โจทก์ที่ 20 ถึงที่ 28 และโจทก์ที่ 30ถึงที่ 36 เท่ากับค่าจ้างคนละ 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( ปัญญา สุทธิบดี - สละ เทศรำพรรณ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

หมายเหตุ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5790-5822/2543 มีข้อพิจารณาดังนี้
          1. การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย

           การแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายอาจแก้ไขโดยฝ่ายที่ประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงยื่นข้อเรียกร้องแล้วมีการเจรจาต่อรองจนสามารถตกลงกันได้ จึงทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย หรือนายจ้างกับลูกจ้างมาตกลงกันเองโดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้อง เมื่อตกลงกันได้ก็ทำข้อตกลงลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย หรือนายจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงฝ่ายเดียว แต่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

           สำหรับคดีนี้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน แต่นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือนเป็นประจำตลอดมา โดยมิได้มีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิม ปัญหามีว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีการแก้ไขแล้วหรือยัง

           เรื่องนี้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนกำหนด 1 วัน ถือว่า นายจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฝ่ายเดียว แต่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าอันมีผลบังคับได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากรณีนี้หาอยู่ในบังคับมาตรา 20 เนื่องจากลูกจ้างไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น เพียงแต่จ่ายเร็วขึ้นยังไม่ถือว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

           แต่การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนกำหนด 1 วันตลอดมาถือว่านายจ้างตกลงกับลูกจ้างให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ทั้งนี้นายจ้างมีสิทธิทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกานี้วางหลักเกณฑ์เรื่องการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายสรุปได้ดังนี้
          1) นายจ้างกระทำการใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน(กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน)
          2) การกระทำของนายจ้างดังกล่าวขัดแย้งหรือแตกต่างจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิม
          3) นายจ้างได้กระทำการดังกล่าวมาเป็นเวลานาน
          4) ลูกจ้างยอมรับการกระทำการดังกล่าวโดยมิได้มีการโต้แย้งคัดค้าน

          2. การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้าง
           คดีนี้เกิดขึ้นก่อนใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582ซึ่งได้วางหลักเกณฑ์การบอกเลิกสัญญาจ้างดังนี้
          1) นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้
          2) ฝ่ายที่ประสงค์บอกเลิกสัญญาต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
          3) การบอกกล่าวล่วงหน้า ต้องบอกก่อนหรือวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด ให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้าง เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

           คดีนี้ นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายค่าจ้าง จะมีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 30 สิงหาคม 2541 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์คนละ 60 วัน

           รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ 
                

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-22 22:23:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล