ReadyPlanet.com


ให้พี่เขยและพี่สาวยืมเงิน


อยากถาม   ทนายว่า  นกได้ให้พี่สาวและพี่เขยยืมเงินไปได้ 4 ปีแล้วแต่ไม่ได้ทำสัญญากันเลย  เป็นเงิน6 แสนบาท นกจะต้องทำอย่างไงดี  ถึงจะให้พี่สาวและพี่เขยหาเงินมาคืนได้ ถ้าจะทำสัญญาทำได้หรือไม่  และจะต้องทำสัญญาอะไร  นกจะรอคำตอบค่ะ และขอขอบคุณด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ นก (gtbuajan-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-26 02:30:40


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2156692)

การกู้ยืมเงิน ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม ก็ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้ครับ ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรดี คงแนะนำได้เพียงให้ผู้กู้ยืมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ แล้วกำหนดให้ชำระหนี้กัน ถ้าถึงกำหนดไม่ชำระหนี้ก็ฟ้องตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 01:47:35


ความคิดเห็นที่ 2 (2156746)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1883/2551
 
          ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้

อ่านคำพิพากษาฉบับย่อยาว คลิ๊กที่นี่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 12:39:41


ความคิดเห็นที่ 3 (2156750)

ผู้ให้กู้ก็รับว่าที่ผู้เสียหาย(ผู้กู้ยืม)ไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย(ผู้กู้ยืมเงิน) หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหาย(ผู้กู้ยืม) จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม ผู้ให้กู้ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4882/2550


 พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา          โจทก์
 

จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้ แต่จำเลยเอาไปไม่ได้เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลย ทำให้จำเลยโกรธแค้นจึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระและแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336

          ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้น เพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ

          การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336, 336 ทวิ ให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน กับให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีผู้เสียหาย และนายสุรชัย ปิดตะคุ สามีผู้เสียหาย เบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยเข้าไปดึงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่สวมอยู่ ทำให้สร้อยคอทองคำขาด แต่ผู้เสียหายคว้าสร้อยคอทองคำส่วนที่มีจี้กางเขนไว้ได้ สามีของผู้เสียหายจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ทัน จำเลยจึงได้สร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งหนึ่ง ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยทราบว่าเป็นสร้อยคอทองคำที่บิดามอบให้ผู้เสียหาย แต่จำเลยก็ไม่ยอมคืน และนายสุรชัยได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สร้อยคอทองคำที่จำเลยกระชากไปได้นั้นจำเลยเอาไปด้วยเพราะจำเลยชูให้ดู สร้อยคอทองคำดังกล่าวไม่ได้ตกหล่นอยู่ในร้าน นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกเสกสรร บุญยรัชนิกร พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่าผู้เสียหายนำสร้อยคำทองคำครึ่งเส้นที่แย่งจากจำเลยได้มามอบให้ไว้เป็นของกลางพยานได้ถ่ายภาพสร้อยคดทองคำที่ผู้เสียหายแย่งคืนตามภาพถ่าย ได้ทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืน และได้ทำบันทึกคำให้การของผู้เสียหายซึ่งยืนยันว่าจำเลยได้กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปบางส่วนตามบันทึกคำให้การ ร้อยตำรวจเอกเสกสรรได้บันทึกคำให้การดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารที่สอดคล้องต้องกันว่า จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย และเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายดังกล่าวไปได้ครึ่งเส้น ที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่ได้กระชากสร้อยคอของผู้เสียหาย จำเลยเพียงกระชากคอเสื้อผู้เสียหายนั้น เห็นว่าค่อนข้างเลื่อนลอยยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น คดีมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาลักสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้แต่จำเลยเอาไปไม่ได้ เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลยทำให้จำเลยโกรธแค้น จึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระ และแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้นเพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำแถลงการณ์ว่า หากฟังว่าจำเลยทำผิดก็ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

          พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 6 เดือน และให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

( นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - อร่าม เสนามนตรี )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 12:56:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล