ReadyPlanet.com


การจะยกที่ดินให้เป็นสาธารณะ


ต้องการยกที่ดิน(มีโฉนด)ให้กับเทศบาลฯเพื่อนำไปใช้ในการสร้างเป็นถนน  มีวิธีการ ขั้นตอนอย่างไรบ้างครับ และทางเทศบาลต้องดำเนินการอย่างไร  จึงจะสมบูรณ์ รวมถึงกรณีเป็นที่ที่ไม่มีโฉนดด้วย ขอความกรุณาด้วยครับ  ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คุณบ๊อย :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-23 15:12:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2156017)

คุณไปติดต่อทางเทศบาลว่ามีความประสงค์จะยกที่ดินให้กับทางเทศบาลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เดี๋ยวทางเทศบาลเขาจะช่วยทำหนังสือให้คุณลงชื่อไว้เป็นหลักฐานเอง เท่านี้ก็มีผลทำให้ที่ดินของคุณตกเป็นที่ดินสาธารณะได้แล้วครับ โดยยังไม่ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงานที่ดิน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 11:11:28


ความคิดเห็นที่ 2 (2156020)

เพียงทำหนังสือแสดงเจตนายกให้เป็นทางสาธารณปรโยชน์ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

ที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมมีชื่อเจ้าของรวม 3 คน คือ นายชื้น, นายช้วน, นายล้วน  ต่อมานายชื้นได้ทำหนังสือยกทางให้เป็นทางสาธารณประโยชน์กว้าง 6 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2505  และเมื่อปี 2508 ยังมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อีก 1 ฉบับ การบันทึกเมื่อปี 2508 นายช้วนกับนายล้วน ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชื้นทำนิติกรรมแทนด้วย การยกที่ดินให้ให้เป็นทางสาะาระณประโยชน์ไม่ได้จดทะเบียนยกให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่  ภายหลังชาวบ้านใช้เป็นทางเข้าออกหมู่บ้านโดยตลอด จึงเป็นทางสาธารณะแล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่ามีการยกให้เป็นทางสาธารณะ ในปี 2518 จึงไปพบนายชื้นและให้ทำบันทึกยืนยันว่าแสดงเจตนายกให้เป็นทางสาธารณะแล้ว  หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติวางท่อประปาเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านมีน้ำใช้ ซึ่งเจ้าของใหม่ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังปรับปรุงทางพิพาทเป็นถนนลาดยางอีกด้วย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งเทศบาลตำบลปากเกร็ด ทางพิพาทจึงอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลปากเกร็ด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4377/2549

 เทศบาลตำบลปากเกร็ด             โจทก์
 
 

          ช. ยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แม้จะระบุว่า ช. จะมาจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 3 วัน แต่เป็นการยกให้เป็นทางสาธารณะจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่ ช. ได้แสดงเจตนาโดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก ทั้งการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่ต้องมีนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้องที่แสดงเจตนารับ

          ทางพิพาทติดจำนองอยู่โดยสัญญาจำนองระบุว่า ผู้จำนองจะให้สิทธิหรือทรัพยสิทธิไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่ผู้อื่นในทรัพย์สินที่จำนอง เป็นที่เสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้จำนองเองในทรัพย์สินที่จำนอง ผู้จำนองต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้จำนองกับผู้รับจำนอง ทั้งในหนังสือสัญญาจำนองก็ระบุไว้ว่า ถ้าผู้จำนองประพฤติผิดหรือไม่ประพฤติตามสัญญาที่กำหนดไว้ข้อหนึ่งข้อใดหรือทั้งหมด ผู้รับจำนองมีสิทธิจะเรียกให้ผู้จำนองชำระหนี้และบังคับจำนองได้ทันทีเท่านั้น การที่ธนาคารผู้รับจำนองมิได้ให้ความยินยอมจึงไม่มีผลบังคับให้การยกทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเสียเปล่า

          คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาว่า เข้าไปยึดครอบครองและก่อสร้างในที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยไม่มีสิทธิ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด แต่ศาลวินิจฉัยแต่เพียงว่า กรณียังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นนำดินไปถมในทางพิพาทโดยเชื่อว่ามีสิทธิทำได้ในฐานะเจ้าของที่ดินนั้น จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่วินิจฉัยว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะ คดีนี้จึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2503 เทศบาลนครกรุงเทพจะปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมบริเวณกรมทางหลวงใกล้พระราชวังสวนจิตรลดา จึงได้จัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 428 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมอาคารจำนวน 103 หลัง จากบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด จัดสรรให้ราษฎรที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวมาอยู่อาศัยอีก มีชื่อว่า หมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ ซึ่งจะต้องผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ของนายชื้น แย้มบุญ นายช้วน แย้มบุญ และนายล้วน แย้มบุญ กับที่ดินของบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด จึงจะเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะได้ บริษัทดังกล่าวได้ทำถนนจากหมู่บ้านดังกล่าวไปยังถนนแจ้งวัฒนะ กว้าง 6 เมตร ผ่านที่ดินของบริษัทดังกล่าวและที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ของนายชื้นกับพวก โดยนายชื้นกับพวกยินยอมอนุญาตให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน ประชาชนทั่วไปและผู้อาศัยในหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ได้ใช้ถนนสาธารณประโยชน์นี้เข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะตลอดมา ต่อมาประมาณปี 2505 บริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนภาระจำยอมถนนดังกล่าวให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ ส่วนนายชื้นกับพวกได้ทำหนังสือให้ไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีและเทศบาลนครกรุงเทพว่า ยินดีและยินยอมให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนถนนที่ผ่านที่ดินของนายชื้นกับพวกในปัจจุบันซึ่งเชื่อมต่อกับถนนแจ้งวัฒนะให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ กว้าง 6 เมตร ส่วนความยาวให้เป็นไปตามแนวถนนในปัจจุบันตลอดจนแนวที่ดินดังกล่าว ซึ่งการแสดงเจตนายินยอมจดทะเบียนถนนเป็นถนนสาธารณะของนายชื้นกับพวกดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนายกที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นถนนสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 แล้ว ปี 2510 นายชื้นกับพวกโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รวมเอาที่ดินที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเข้าไปด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อมาจนถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ และในปี 2515 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปิดถนนสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ทางราชการและโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกนำดินไปถมปิดกั้นถนนสาธารณประโยชน์ดังกล่าว นายอำเภอปากเกร็ดจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวก พนักงานอัยการประจำศาลแขวงนนทบุรีได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกต่อศาลแขวงนนทบุรี ศาลแขวงนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาราษฎรที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวและโจทก์ช่วยกันทำถนนสาธารณประโยชน์ให้ใช้สัญจรได้โดยสะดวกแล้ว การที่นายชื้นกับพวกได้ทำหนังสือยกที่ดินให้ไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีและเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งประชาชนทั่วไปและราษฎรที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์ถนนสาธารณประโยชน์ในการเข้าออกถนนแจ้งวัฒนะตั้งแต่ปี 2503 เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ถนนดังกล่าวจึงเป็นทางสาธารณะและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการขายจากนายชื้นกับพวก และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อมาจนปัจจุบันมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์คงมีผลสมบูรณ์เฉพาะที่ดินส่วนที่มิใช่ถนนสาธารณประโยชน์ การโอนขายที่ดินและการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมส่วนที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันทำการเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะส่วนที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์ กว้าง 6 เมตร ยาว 118 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี และกันเขตถนนสาธารณประโยชน์ในโฉนดที่ดินและรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสิบสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการจดทะเบียนเอง หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสิบสอง

          จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 432 เป็นของนายชื้น นายล้วน และนายช้วน แย้มบุญ ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2503 บุคคลทั้งสามร่วมกันจำนองที่ดินโฉนดดังกล่าวไว้แก่สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น นายชื้นแต่เพียงผู้เดียวจึงไม่อาจกระทำผิดสัญญาจำนองโดยทำหนังสือยกที่ดินทรัพย์จำนองให้เป็นทางสาธารณะได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากธนาคารผู้รับจำนองเท่านั้น แต่นายชื้นผู้จำนองก็หาได้รับอนุญาตจากผู้รับจำนองไม่ หนังสือยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะยังระบุว่าจะจดทะเบียนให้เป็นทางสาธารณะภายใน 3 วัน แต่ธนาคารผู้รับจำนองไม่อนุญาต หนังสือยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองให้แก่สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด แทนนายชื้นกับพวก ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้รับจำนองและมีอำนาจบอกล้างหรือปฏิเสธการกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนสัญญาจำนองที่ดินของนายชื้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินและรับซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ดำเนินการปักป้ายแสดงทางพิพาทเป็นทางส่วนบุคคลหลายครั้ง เมื่อปี 2515 จำเลยที่ 1 ปิดทางพิพาททำให้มีเรื่องถึงหัวหน้าสำนักงานกลางปรับปรุงแหล่งชุมชน นายปัญญา ฤกษ์อุไร จึงได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายอำเภอปากเกร็ด และนายบรรหาร ศิลปอาชา กับจำเลยที่ 1 มาประชุมเพื่อตกลงเรื่องทางพิพาทซึ่งที่ประชุมยอมรับว่าทางพิพาทในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นทางชั่วคราว ตกลงให้สำนักงานกลางปรับปรุงแหล่งชุมชนตั้งงบประมาณสร้างทางออกถาวรขึ้นใหม่ โดยให้นายอำเภอปากเกร็ดติดต่อเจรจาขอที่ดินของเอกชนให้ เมื่อปี 2527 ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขออนุญาตให้การประปานครหลวงวางท่อประปาผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสิบสองเข้าสู่หมู่บ้าน จำเลยที่ 1 ไม่ขัดข้องและได้วางแนวทำแผนที่สังเขปให้การเคหะแห่งชาติวางท่อประปาผ่านที่ดินโฉนดดังกล่าวของจำเลยทั้งสิบสองได้ หากที่ดินโฉนดดังกล่าวของจำเลยทั้งสิบสองมีทางสาธารณะจริง ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติก็คงไม่ต้องมีหนังสือขออนุญาตวางท่อประปาผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสิบสอง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ฃ 2534 นายอำเภอปากเกร็ดขอให้พนักงานอัยการและชาวหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกข้อหาบุกรุก ปลูกปักถือครองถนนทางสาธารณะทางพิพาทต่อศาลแขวงนนทบุรี แต่ศาลแขวงนนทบุรีได้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา ยืนคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนางใช้กี่ เหตระกูล เข้าร่วมเป็นจำเลย และนายแก้ว บุตรชาติ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

          จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยร่วมในที่ดินพิพาท จำเลยร่วมรับโอนมรดกมาจากนายแสง เหตระกูล สามี เมื่อปี 2525 ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวมีถนนสาธารณะรวมอยู่ด้วย มีเพียงทางชั่วคราวที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ยินยอมให้ชาวหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ผ่านเข้าออกชั่วคราวเท่านั้น คดีที่พนักงานอัยการประจำศาลแขวงนนทบุรีฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก เป็นคดีอาญาข้อหายึดถือครองและปลูกปักวางสิ่งของเกะกะในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแขวงนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและกันเขตถนนสาธารณประโยชน์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา นายประทักษ์ เหตระกูล จำเลยที่ 10 ถึงแก่กรรม นายปารเมศ เหตระกูล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เฉพาะส่วนกว้าง 6 เมตร ยาว 118 เมตร ซึ่งสร้างทำเป็นถนนสายที่ 2 ที่เข้าออกของหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ. 7 เป็นทางสาธารณะ แต่ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

          จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี มีนายชื้น แย้มบุญ นายช้วน แย้มบุญ และนายล้วน แย้มบุญ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2503 บุคคลทั้งสามร่วมกันจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2510 จึงไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมโดยมีจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เมื่อประมาณปี 2503 เทศบาลนครกรุงเทพ (ในขณะนั้น) จะทำการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมบริเวณกรมทางหลวงใกล้พระราชวังสวนจิตรลดา จึงจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 428 พร้อมอาคารจำนวน 103 หลัง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 432 จากบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด จัดสรรให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่จะปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมดังกล่าวมาอยู่ที่หมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ ที่ดินที่ซื้อมานั้นจะต้องผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 432 จึงจะออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะได้ บริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด จึงทำถนนจากหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ไปยังถนนแจ้งวัฒนะ กว้าง 6 เมตร ผ่านที่ดินของบริษัทดังกล่าวและที่ดินโฉนดเลขที่ 432 คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมว่า ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ. 7 เป็นทางสาธารณะหรือไม่ จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมฎีกามาหลายประการ เห็นควรวินิจฉัยประการแรกเสียก่อนว่า นายชื้นกับพวกยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะหรือไม่ ข้อนี้ โจทก์มีนางสุรางค์ พระสมบูรณ์ อดีตปลัดอำเภอปากเกร็ด พันตำรวจโทสุรศักดิ์ จีระพันธ์ ผู้ซื้ออาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ นายสมคิด อมรรัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการกองที่ดิน การเคหะแห่งชาติ และนายอุดม พานิชวัฒน์ ขณะเบิกความดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายบริหาร การเคหะแห่งชาติ เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 6 ทำนองเดียวกันว่า นายชื้นยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้ว โดยเฉพาะนายอุดมเบิกความว่า เมื่อปี 2518 คณะกรรมการหมู่บ้านอาคารแจ้งวัฒนะเวศม์ ร้องขอให้การเคหะแห่งชาติเดินท่อประปาเข้าไปในหมู่บ้านเนื่องจากบ่อบาดาลในหมู่บ้านใช้ไม่ได้ แต่การเคหะแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการวางท่อจะต้องผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ยินยอม ขณะนั้นพยานดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกคดี กองกฎหมายของการเคหะแห่งชาติจึงตรวจสอบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมมีชื่อนายชื้นนายช้วนและนายล้วน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม นายชื้นได้ทำหนังสือยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์กว้าง 6 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2505 ตามเอกสารหมาย จ. 2 และเมื่อปี 2508 ยังมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อีก 1 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ 3 การบันทึกเมื่อปี 2508 นายช้วนกับนายล้วนทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชื้นทำนิติกรรมแทนด้วย ตามเอกสารหมาย จ. 4 การยกที่ดินให้ดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนยกให้ทางพิพาทดังกล่าว ชาวบ้านใช้เป็นทางเข้าออกหมู่บ้านโดยตลอด การเคหะแห่งชาติจึงมีความเห็นว่าเป็นทางสาธารณะแล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่ามีการยกให้เป็นทางสาธารณะ ในปี 2518 พยานจึงไปพบนายชื้นและให้ทำบันทึกยืนยันว่าแสดงเจตนายกให้เป็นทางสาธารณะแล้ว ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. 6 หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติวางท่อประปาเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านมีน้ำใช้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังปรับปรุงทางพิพาทเป็นถนนลาดยางอีกด้วย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งเทศบาลตำบลปากเกร็ด ทางพิพาทจึงอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลปากเกร็ด เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 6 แล้วจะเห็นได้ว่า ตามเอกสารหมาย จ. 2 ซึ่งเป็นบันทึกถ้อยคำที่นายชื้นให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีมีใจความสำคัญว่า นายชื้นยินยอมยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณะโดยไม่มีข้อแม้แต่ประการใด และนายชื้นจะได้มาจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 3 วัน แม้ในขณะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 432 จะมีชื่อนายชื้น นายช้วน และนายล้วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่านายช้วนและนายล้วนทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 18 ธันวาคม 2505 ให้นายชื้นทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ได้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 4 นอกจากนี้ยังปรากฏตามบันทึกข้อความ เรื่อง การให้ความยินยอมในการจดทะเบียนให้เป็นถนนสาธารณะ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2508 ที่นายชื้นให้ถ้อยคำต่อหัวหน้าสำนักงานกลางปรับปรุงแหล่งชุมชนว่า นายชื้นในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายช้วนและนายล้วนตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 18 ธันวาคม 2505 ยินยอมให้จดทะเบียนผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 432 เป็นถนนสาธารณะตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. 3 ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายช้วนและนายล้วนได้โต้แย้งว่าไม่เคยมอบอำนาจให้นายชื้นยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด จึงต้องฟังว่านายชื้นยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แม้ตามบันทึกการยกให้ของนายชื้นตามเอกสารหมาย จ. 2 จะระบุว่า นายชื้นจะมาจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 3 วัน ก็ตาม แต่กรณีนี้เป็นการยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่นายชื้นได้แสดงเจตนายกให้โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 อีกแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมอ้างว่า การยกให้ของนายชื้นไม่มีนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้องที่แสดงเจตนารับไว้จึงไม่สมบูรณ์ เพราะการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะจะต้องมีนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้องที่แสดงเจตนารับมิฉะนั้นก็ต้องจดทะเบียนนั้น เห็นว่า กรณีหาได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะต้องยกให้แก่นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้องที่ดังที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมเข้าใจไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมอ้างต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 432 นายชื้นและนายล้วนนำไปจำนองไว้แก่สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อประกันหนี้ของบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด ตามหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล. 9 (หรือ จ.ร. 4) ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุในข้อ 10 ว่า "ผู้จำนองจะให้สิทธิหรือทรัพยสิทธิไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่ผู้อื่นในทรัพย์สินที่จำนองนี้ เช่น อาศัย ปลูกสร้าง ทางเดิน เป็นต้น อันเป็นการเสื่อมสิทธิ ลดสิทธิ รอนสิทธิ ทอนสิทธิ เป็นที่เสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้จำนองเองในทรัพย์สินที่จำนองนี้ ผู้จำนองต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นลายลักษณ์อักษร..." การที่นายชื้นผู้จำนองยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากธนาคารผู้รับจำนอง การยกให้ดังกล่าวจึงไม่มีผลตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างผู้จำนองกับผู้รับจำนอง ทั้งในหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล. 9 ในข้อ 12 ก็ระบุไว้ว่า ถ้าผู้จำนองประพฤติผิดหรือไม่ประพฤติตามสัญญาที่กำหนดไว้ข้างบนนี้แต่ข้อหนึ่งข้อใดหรือทั้งหมด ผู้รับจำนองมีสิทธิจะเรียกให้ผู้จำนองชำระหนี้และบังคับจำนองได้โดยทันทีเท่านั้น มิได้มีผลบังคับให้การยกทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเสียเปล่าแต่อย่างใด และยังปรากฏว่าในที่สุดธนาคารผู้รับจำนองไม่ได้บังคับจำนองแต่อย่างใด โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองแทนนายชื้น นายช้วนและนายล้วนและก่อนที่นายชื้นจะโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ตามเอกสารหมาย ล. 10 แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองแทนบุคคลทั้งสามตามที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมอ้างมาก็ตาม แต่ก็ทำเพื่อประโยชน์ในการโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาใช่เป็นการปฏิเสธหรือบอกล้างการยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ผลการแสดงเจตนายกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะของนายชื้นจึงยังคงมีผลสมบูรณ์อยู่โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนหรือได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองอีก ที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมอ้างเป็นประการสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลแขวงนนทบุรีวินิจฉัยไว้แล้วว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะ คดีส่วนแพ่งนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น เห็นว่า คดีที่พนักงานอัยการประจำศาลแขวงนนทบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีอาญาว่าร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองและก่อสร้างในที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยไม่มีสิทธิ... ในที่สุดศาลแขวงนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพราะคดีต้องห้ามอุทธรณ์นั้น ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลแขวงนนทบุรีแต่เพียงว่า กรณียังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ก็ยังโต้แย้งอยู่ว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ ซึ่งข้อโต้แย้งดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ยุติ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นนำดินไปถมในทางพิพาทโดยเชื่อว่ามีสิทธิทำได้ในฐานะเจ้าของที่ดินนั้น จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง... จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่วินิจฉัยว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะดังที่จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้าง ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แต่อย่างใด สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วม แม้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ. 7 เป็นทางสาธารณะนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - เรวัตร อิศราภรณ์ - ศิริชัย จิระบุญศรี )

                

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 11:15:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล