ReadyPlanet.com


การโอนลอยรถยนต์


ตอนนี้เพิ่งเลิกกับแฟนค่ะ ทะเลาะกันและมีการทำร้ายร่างกายกัน ดิฉันเป็นคนเริ่มก่อนค่ะ เจ็บทั้งคู่ แฟนฟันหัก และจมูกบวมค่ะ ส่วนดิฉันบริเวณหู และหลังหูเป็นรอยเล็บค่อนข้างลึกค่ะ เป็นผู้หญิงทั้งคู่นะค่ะ แฟนติดเงินดิฉันอยู่ประมาณ สี่แสนบาทค่ะ ไม่มีสัญญากู้ยืม มีแต่เขียนกระดาษใช้หัวข้อว่า DEBT TO A สมมติว่าชื่อ A นะค่ะ และในกระดาษก็มีระบุจำนวนเงิน รายการที่ยืมว่าเอาไปทำอะไรบ้างคร่าวๆ และวันที่เขียน และเดือนที่จะเริ่มใช้เงินคืน (ตอนที่ยังไม่เลิกกัน) กระดาษแผ่นนี้ใช้เป็นหลักฐานได้มี๊ยค่ะ กระดาษแผ่นนี่ยังอยู่กับแฟน แต่ดิฉันถ่ายรูปมาค่ะ แล้วตอนนี้รถยนต์ที่แฟนใช้อยู่เป็นชื่อของแม่ดิฉันค่ะ ผ่อนมาแล้วปีครึ่ง จำนวนเงินที่จ่ายค่าดาว์นรถ ค่าประกันต่อปี และค่างวดรวมประมาณสี่แสนกว่าๆ ค่ะ ยังขาดอีกสามปีครึ่ง ทางแฟนเป็นผู้ค้ำ และจ่ายค่างวดเอง แต่ก็มีปัญหาจ่ายค่างวดล่าช้าทุกเดือน พอเกิดเรื่องทะเลาะกันขึ้นทางบ้านแฟนบังคับให้แม่ดิฉันต้องโอนรถลอยให้กับแฟน ถ้าไม่โอนจะแจ้งความดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายค่ะ พ่อแฟนเป็นตำรวจค่ะ ยศไม่ใหญ่แต่ทำมานานแล้ว อยู่ต่างจังหวัดค่ะ หรือว่าทางดิฉันจะเอารถขึ้นมาก็ได้แต่ก็จะแจ้งความ ดิฉันไม่อยากได้รถของแฟนค่ะ แต่อยากได้เงินที่เค้าติดหนีคืน ควรจะทำอย่างไรดีค่ะ เพราะถ้าไม่โอนลอยเค้าจะแจ้งความจับแน่นอน ล่าสุดแฟนโทรมาคุยกับที่บ้านค่ะว่ายังงัยก็จะเอารถ แต่ตอนนี้แฟนยังค้างค่างวดรถอยู่ 2 เดิอนด้วยค่ะ มีจดหมายเตือนทุกเดือน เบื้องต้นตั้งแต่ตอนยังคบกันอยู่ ทางแฟนจะใช้หนี้ให้โดยคืนเงินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทค่ะ เวลานานมากเลย ดิฉันอยากได้คืนเป็นก้อนค่ะ แต่ปัจจุบันนี้ทางบ้านแฟนจะไม่ให้แฟนใช้หนี้คินเลย เพราะว่าบาดเจ็บ ยังตกลงกันไม่ได้ค่ะ ทางบ้านดิฉันยินดีที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาทั้งหมดค่ะ แฟนฟันหัก 2 ซี่ และกำลังดัดฟันอยู่ด้วย ดิฉันควรที่จะจ่ายค่าเสียหายโดยการหักหนี้ หรือจ่ายใหม่ดีค่ะ ก้อนเดียวจบ หรือว่าให้แฟนเบิกตามบิล ควรจะจ่ายค่าเสียหายที่เท่าไหร่ ยังไม่ทราบว่าจะต้องรักษารากฟันหรือเปล่า แล้วถ้าดิฉันถูกดำเนินคดีจะเป็นคดีทางแพ่งหรืออาญาค่ะ ทำร้ายร่างกาย หรือทะเลาะวิวาท และควรจะโอนลอยดีมั๊ยค่ะ ทางบ้านกลัวแฟนจะจ่ายไม่ไหว เพราะแฟนก็เป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่หลายใบด้วยค่ะ ถูกระงับการใช้บัตรแล้ว แต่ยังไม่ได้ปิดบัญชี รบกวนทนายลีนนท์ช่วยให้แนะนำด้วยนะค่ะ  



ผู้ตั้งกระทู้ เอ8 :: วันที่ลงประกาศ 2011-05-12 01:18:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2176533)

1. หลักฐานการยืมเงินไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่สำคัญคือไม่มีลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ (ลายเซ็น) คงฟ้องร้องในลักษณะกู้ยืมเงินไม่ได้ครับ

2. ในเรื่องรถยนต์กรรมสิทธิ์ยังเป็นของไฟแนนซ์จึงไม่มีสิทธิโอนลอยได้

3. การทำร้ายร่างกายเป็นคดีอาญา คำถามว่าจะเป็นทะเลาะวิวาทหรือไม่คงต้องอยู่ที่ใครเป็นคนแจ้งความ หรือต่างคนต่างแจ้ง ถ้าเป็นทะเลาะวิวาทก็เป็นจำเลยทั้งคู่ แต่ใครผิดน้อยผิดมากเป็นเรื่องที่ศาลจะตัดสินชี้ขาดอีก

4. ควรหาข้อยุติโดยการเจรจากันครับ จะจ่ายกันอย่างไร เท่าใด ก็ตกลงกันได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-05-12 15:13:10


ความคิดเห็นที่ 2 (2176594)

การโอนลอยรถยนต์

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน7ค-0733 กรุงเทพมหานคร จำเลยกับนายสมชายหรือจำรัส วงศ์สุชินร่วมกันฉ้อโกงเอารถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์ การที่จำเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยอ้างว่าซื้อจากนายสมชายซึ่งไม่ใช่เจ้าของย่อมไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้ราคารถยนต์ 120,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถใช้รถยนต์และค่าเสื่อมสภาพรถยนต์นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 เดือน 28 วัน เป็นเงิน23,466 บาท และต่อไปเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์และชำระค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์

จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วที่ตลาดนัดเสนา ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับนายสมชายฉ้อโกงโจทก์เป็นความเท็จ โจทก์กับพวกรวม 2 คน นำรถยนต์พิพาทมาเสนอขายแก่จำเลย ณ สถานที่ประกอบการค้าของจำเลยในราคา 100,000 บาท จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์กับพวกมีสิทธิในรถยนต์โดยชอบ จำเลยได้รถยนต์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยได้ขายรถยนต์ดังกล่าวในตลาดนัดรถยนต์ตามทางการค้าของจำเลยให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่ารถยนต์พิพาทคือรถยนต์แลนเซอร์ หมายเลขทะเบียน 7ค-0733กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นของบริษัทนอร์ตัน (ประเทศไทย) จำกัดต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2529 บริษัทดังกล่าวได้ขายแก่นายนาวินเตียวรัตนกุล ในราคา 110,000 บาท แต่ไม่ได้โอนใส่ชื่อผู้ซื้อในคู่มือการจดทะเบียนรถ เพียงแต่ได้มอบเอกสารชุดโอนลอยให้ไว้ตามแบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ของกรมตำรวจ ครั้นต้นเดือนมีนาคม 2529 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายนาวิน ในราคา 120,000 บาท และรับคู่มือการจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารชุดโอนลอยมาด้วย

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกรถยนต์พิพาท และค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีหมายเลขแดงที่ 10229/2529ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายจำรัสหรือสมชายธรรมยศ กับพวก จำเลย ซึ่งโจทก์ฟ้องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรว่าร่วมกันกับพวกฉ้อโกงรถยนต์พิพาทของโจทก์นายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะจัดการขายรถให้โจทก์ จนโจทก์หลงเชื่อ ยอมมอบรถยนต์พิพาทให้ไปพร้อมทะเบียนรถและเอกสารชุดโอนศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำคุกนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศร คนละ1 ปี 6 เดือน เช่นนี้ แสดงว่าโจทก์มิได้ร่วมกับนายสมชายหรือจำรัสและนายดินหรืออดิศรขายรถยนต์พิพาทแก่จำเลยจริงแต่เป็นเรื่องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทจากโจทก์ไปขายแก่จำเลย เมื่อจำเลยรับซื้อเอารถยนต์พิพาทจากบุคคลดังกล่าวซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาท จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สำหรับข้อที่จำเลยแก้ฎีกาว่าซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยซื้อบริเวณตลาดนัดรถยนต์ จึงไม่ต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์พิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดว่า "บุคคลผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริต ในท้องตลาด ไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา" เห็นว่าการที่จำเลยซื้อรถจากนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรที่ฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทของโจทก์มาขายที่ร้านค้าของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุมการค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ 120,000 บาท ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถ และค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทไป จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สมมาตร พรหมานุกูล - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ - สมศักดิ์ วิธุรัติ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2535

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-05-12 19:24:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล