ReadyPlanet.com


ถูกข่มขู่และแจ้งหลักฐานอันเป็นเท็จแก่เจ้านายจนต้องถูกให้ออกจากงาน


สวัสดีครับ ขอเรียนปรึกษาดังนี้ครับ

 แฟนของผมถูกเพื่อนที่เคยทำงานที่เดียวกันและได้ออกไปทำงานที่อื่นแล้ว โทรมาหาบุคคลที่สามซึ่งเป็นเพื่อนเก่ากันและยังทำงานอยู่ที่ทำงานเดียวกันกับแฟนผม โดยข่มขู่ว่าให้แฟนไปกราบขอโทษเรื่องราวที่เคยทะเลาะและด่าโต้ตอบกันกับแฟนผมภายใน 1 ชั่วโมงถ้าไม่เช่นนั้น จะเปิดโปงเรื่องการทุจริตในที่ทำงานของแฟนผมแก่เจ้าของบริษัท ซึ่งแฟนผมยืนยันว่า ไม่มีเรื่องการทุจริตและคาดว่าหลักฐานที่ส่งมาจะเป็นหลักฐานเท็จอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ เพื่อนสนิทในที่ทำงานของแฟนก็ถูกบุคคลผู้นี้ fax หลักฐานเป็นลายมือข้อความกล่าวหาว่าเพื่อนของแฟนทุจริตจนถูกเจ้านายบังคับให้ลาออกมาแล้ว (อันนี้ผมคาดว่าความจริงการบังคับให้ลาออกนี้เจ้านายก็มีส่วนผิด มิได้มีการพิสูจน์หรือเรียกไปซักถามเลย ให้เขียนใบลาออกและบอกเลิกจ้างทางวาจาอย่างเดียว) และจนกระทั่งตอนนี้ก็มิได้มีกลักฐานใดๆส่งมา แต่ก็ทำให้แฟนไม่เป็นอันทำงานและกลัวถูกไล่ออกจากการส่งหลักฐานเท็จกลั่นแกล้ง จึงขอเรียนปรึกษาดังนี้ครับ

1.เบื้องต้นผมจะพาแฟนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนได้ไหมครับ เป็นหลักฐานว่ามีคนข่มขู่โดยพอจะรู้ว่าเป็นใคร

2.ถ้าบุคคลผู้นั้นส่งเอกสารอันเป็นเท็จมา จนทำให้แฟนต้องถูกเจ้านายบังคับให้ลาออกจากงานโดยไม่มีหลักฐานอันเป็นเอกสารว่ากระทำความผิดจริง และไม่ได้รับการสอบสวนและพิสูจน์ อย่างนี้คนนั้นจะมีความผิดฐานละเมิด ทำให้อับอาย และเสียทรัพย์ไหมครับ เพราะต้องออกจากงานและขาดรายได้ ผมบอกกับแฟนไปว่า ถ้าเจ้านายบังคับให้ลาออก อย่าเซ็นใบลายออก ให้อยู่จนกว่าเค้าจะไล่ออก เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราเต็มใจลาออกเอง อย่างนี้เราจะมีความผิดไหมครับ และถ้ายื่นส่งฟ้องศาลกรณีที่ถูกใส่ความนี้ จะมีมูลพอรับฟ้องไหมครับ

3.ช่วงที่ต้องถูกออกจากงานและอยู่ในคดีความ สามารถฟ้องทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากทั้งผู้ที่ใส่ความ และทางเจ้านายได้ไหมครับ

 

อยากเรียนปรึกษาเบื้องต้นเพียงเท่านี้ โดยอยากให้ระบุมาตรา ความผิด และโทษ ทั้งผู้ที่ใส่ความ และนายจ้างที่ให้ออกจากงานโดยไม่ชอบธรรมด้วยครับ ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เทวิน ทะพงค์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-07 13:57:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2195902)

1.เบื้องต้นผมจะพาแฟนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนได้ไหมครับ เป็นหลักฐานว่ามีคนข่มขู่โดยพอจะรู้ว่าเป็นใคร

ตอบ ได้ครับ ในความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ

มาตรา 392 ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการ ขู่เข็ญต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพัน บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ถ้าบุคคลผู้นั้นส่งเอกสารอันเป็นเท็จมา จนทำให้แฟนต้องถูกเจ้านายบังคับให้ลาออกจากงานโดยไม่มีหลักฐานอันเป็นเอกสารว่ากระทำความผิดจริง และไม่ได้รับการสอบสวนและพิสูจน์ อย่างนี้คนนั้นจะมีความผิดฐานละเมิด ทำให้อับอาย และเสียทรัพย์ไหมครับ เพราะต้องออกจากงานและขาดรายได้ ผมบอกกับแฟนไปว่า ถ้าเจ้านายบังคับให้ลาออก อย่าเซ็นใบลายออก ให้อยู่จนกว่าเค้าจะไล่ออก เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราเต็มใจลาออกเอง อย่างนี้เราจะมีความผิดไหมครับ และถ้ายื่นส่งฟ้องศาลกรณีที่ถูกใส่ความนี้ จะมีมูลพอรับฟ้องไหมครับ

ตอบ  ก็หย่าลาออก ตามที่คุณเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว ให้เขาบอกเลิกจ้าง แล้วค่อยไปฟ้องนายจ้าง เรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สำหรับคนที่ส่งเอกสารเท็จมาป่วนนั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและสามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 423 ได้

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้าง ที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้าง ชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการ เลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 423    ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้
 

ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

3.ช่วงที่ต้องถูกออกจากงานและอยู่ในคดีความ สามารถฟ้องทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากทั้งผู้ที่ใส่ความ และทางเจ้านายได้ไหมครับ

ตอบ คำตอบตามข้อ 2.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-14 17:13:12


ความคิดเห็นที่ 2 (2195904)

ขู่เข็ญทำให้เกิดความกลัวความตกใจ
ผู้เสียหายอยู่ในบ้านกับบุตรสาว จำเลยที่ 1 มาทำให้เกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ โดยวิธีมาร้องเรียกผู้เสียหายที่หน้าบ้านว่า "เฮ้ย มึงไม่แน่จริงนี่หว่าเฮ้ยถ้ามึงแน่จริงมึงออกมาซิวะ มึงทำไมไม่ออกมาวะ ออกมาโดนแน่"ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่หน้าบ้านตนเองซึ่งอยู่เยื้องบ้านผู้เสียหาย พูดว่า "ให้มันอยู่แต่ในบ้าน อย่าให้มันออกมา ถ้ามันออกมาเอาแม่มันเลย" การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม มาตรา 392 จำคุกคนละ 1 เดือนปรับคนละ 1,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1203/2542 (อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-14 17:16:27


ความคิดเห็นที่ 3 (2195905)

เรียกค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ในคดีเกี่ยวกับแรงงานข้อหานายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นั้น เมื่อศาลแรงงานพิจารณาได้ความว่า นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในกรณีที่เห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างมีความเข้าใจอันดีต่อกันแล้วและสามารถร่วมงานกันได้ต่อไป แต่หากศาลเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป ศาลจะกำหนดค่าเสียหายเพราะเหตุนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกจ้างได้ แม้นายจ้างจะเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเข้าทำงานได้ก็ตามแต่การกลับเข้าไปทำงานอาจไม่เป็นผลดีและอาจเกิดปัญหากับลูกจ้างในอนาคต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8629/2550(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-14 17:20:33


ความคิดเห็นที่ 4 (2195923)

หมิ่นประมาทละเมิดเรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และฟ้องคดีนี้ เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษา ส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยและจำเลยไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 423 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 5,000,000 บาท 
        
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4595/2543(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-14 18:53:03



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล