ReadyPlanet.com


ปรึกษาทนายความ เรื่อง เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร


อยู่กับสามีไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีลูกสาว  2 คน  คนโตอายุ 10 ปี  คนเล็กอายุ 3 ขวบปัจจุบันทำธุรกิจร่วมกันแต่สามีนอกใจ(มีเมียน้อย) ต้องการเลิกกับสามีแล้วเราสามารถทำยังไงถ้าเราต้องการให้เขารับผิดชอบและส่งเสียลูกทั้ง 2 คนโดยอ้างถึงกฏหมายได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นงลักษณ์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-07 08:12:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2195535)

คำแนะนำของ ทนายความ

สามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจึงไม่ใช่สามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางกฎหมาย การเลิกกับสามีจึงไม่ต้องอะไรในทางกฎหมายเลิกกันได้เลย

มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้ จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรหรือคำพิพากษาของศาล
เด็กที่เกิดมาโดยที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว ถ้าต้องการให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมี 3 วิธีคือ บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อใดก็ได้ บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร  ขอให้ศาลมีคำสั่ง

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
สำหรับกรณีของผู้ถาม เมื่อบิดาไม่รับผิดชอบไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ และในทางปฏิบัตอาจทำเป็นคำฟ้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปในคราวเดียวกันได้ครับ เพราะเป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ให้การศึกษาตามฐานานุรูป

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบ ด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

เรียกคืนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

 

 ถ้าพ่อและแม่ของเด็กได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว แต่ในหนังสือหย่ามิได้ทำบันทึกว่าใครจะเป็นผู้จ่ายค่าเลี้ยงดูลูกไว้  การที่แม่เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายของลูกมาโดยตลอด  โดยสามีไม่ยอมรับผิดชอบใด ๆ  แม่ของเด็กจะกลับมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูลูกในส่วนที่แม่ได้จ่ายไปแล้วจากพ่อได้บ้างหรือไม่ และถ้าฟ้องได้  ใครจะเป็นผู้ฟ้องได้

บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์  เมื่อหย่ากันและมิได้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ออกค่าเลี้ยงดูบุตร บิดาและมารดาจึงต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วยกัน  ซึ่งมีลักษณะของการเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  ดังนั้นในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น


สามีภริยาที่ได้หย่าขาดกันแล้วและได้ตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของบิดาหรือมารดาก็ตาม เมื่อไม่ได้มีข้อตกลงไว้ด้วยว่าจะให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว  การที่มารดาได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียว จนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว มารดาจึงยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อน นับแต่วันหย่า จนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากบิดาได้ เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามกฎหมาย  แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม 


ส่วนจำนวนเงินค่าอุปการเลี้ยงดูบุตรนั้นจะฟ้องเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ตาม  จะเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ตามความเหมาะสม


ส่วนกำหนดเวลาการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะเรียกได้นานแค่ไหนนั้น  ในทางกฎหมายเรียกว่าอายุความฟ้องร้องคดี  คดีที่ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่บุตรผู้เยาว์พึงได้รับจากบิดามารดา เพื่อการเลี้ยงชีพให้บุตรสามารถมีชีวิตดำรงอยู่ได้ตลอดไป จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และรวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ด้วย จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้ชำระ
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปเพียงฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ตนได้ชำระเงินไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ (ซึ่งคนละลักษณะกับคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครองที่มีอายุความเพียง 1 ปี)


และคดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ซึ่งมีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายจึงนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของจำนวนเงินต้นที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น จะคิดดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมายคือร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่มีการฟ้องร้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ


ส่วนผู้ที่จะฟ้องนั้น  เนื่องจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น จะเป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูนอกจากจะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้กำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีได้แล้ว   ยังกำหนดให้ในระหว่างบิดาหรือมารดายังสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าว  คือฟ้องได้เองด้วย


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-13 16:16:53


ความคิดเห็นที่ 2 (2195568)

แต่งงานไม่จดทะเบียนเรียกค่าเสียหายไม่ได้


การที่หญิงชายแต่งงานกันโดยไม่ได้มีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกัน แต่มีการให้เงินทองแก่กันซึ่งไม่อาจเรียกว่าเป็นสินสอด เนื่องจากไม่ได้ให้แก่บิดามารดาหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงไปจดทะเบียนสมรสกับชายต่อหน้านายทะเบียน เมื่อหญิงชายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา เงินที่ให้แก่กันไม่ใช่ทรัพย์สินที่มอบให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นจึงไม่ใช่ของหมั้น เมื่อหญิงไม่ยอมร่วมหลับนอนกับชายก็เป็นสิทธิเพราะไม่มีการสมรสตามกฎหมายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-13 17:01:32


ความคิดเห็นที่ 3 (2195618)

บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร

อยู่กินฉันสามีภริยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คน สามีฟ้องภริยาว่าใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวบุตรมิชอบ ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองโดยให้สามีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ต่อสามีภริยาทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้สามีไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร  ให้บุตรไปอยู่กับสามี หากผิดสัญญาบังคับได้ทันที ศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาสามียื่นคำร้องต่อศาลว่าภริยาผิดสัญญา ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าสามีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร คดีนี้ได้ความว่า สามียังไม่ได้ไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ดังนั้น สามีจึงยังไม่เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของบุตร จึงไม่อาจบังคับคดีให้สามีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-13 19:10:16


ความคิดเห็นที่ 4 (2200845)

ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเกิดหน้าที่แก่บิดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่6996-6997/2550 เมื่อศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรแล้ว หน้าที่ของบิดาก็เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายคือหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากนั้นเกิดสิทธิในการใช้อำนาจปกครองด้วยซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของบุตรได้ด้วย ในคดีนี้ สามีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เด็กหญิง ญ. (บุตรนอกกฎหมาย)เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน และขอให้ตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร  และอุปการะเลี้ยงดู ส่วนภริยา(นอกกฎหมาย)ฟ้องแย้งขอให้บิดา(สามี)เด็กจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง  การฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั่งเอง ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนจึงจะมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาเด็กในภายหลังเป็นการเสียเวลา

            

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-30 14:12:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล