ReadyPlanet.com


เกี่ยวกับ พรบ.ล้างมลทิน ปี 2550


เรียนถามท่านผู้รู้

     คือผมเคยติดคุก 6 เดือน ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อปี 49 ตอนนี้ผมสอบครูได้ และทางเขตก็เรียกตัวเพื่อบรรจุ ผมสามารถที่จะบรรจุเป็นครูได้ไหมครับ พรบ.ล้างมลทินจะคลอบคลุมผมด้วยไหมครับ เพราะเขาบอกว่าไม่เป็นบุคคลเคยต้องโทษจำคุก หรือผิดศีลธรรมอันดี



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้อยากเป็นครู :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-06 20:12:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2195224)

ถ้าคุณพ้นโทษในคดีก่อน (ปี 49) ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 คุณก็ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทินฯ 2550 กฎหมายระบุให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน

คำถามต่อมาว่า จะบรรจุเป็นครูได้หรือไม่?  ตอบว่าตามกฎหมายถือว่าคุณไม่เป็นบุคคลเคยต้องโทษจำคุกจึงไม่ขาดคุณสมบีัติในข้อนี้

ผิดศีลธรรมอันดี

สำหรับคุณสมบัติข้อนี้มีความหมายกว้าง ซึ่งน่าหนักใจว่า คุณอาจไม่ผ่านคุณสมบัตินี้ก็ได้ แต่อย่้างไรก็ตาม ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดไม่ต้องกังวลครับ

 

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550

มาตรา 4 ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-12 18:47:05


ความคิดเห็นที่ 2 (2195257)

 ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ 2550

 ความผิดที่ศาลจำคุกจำเลยและโจทก์ขอให้เพิ่มโทษในคดีนี้ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

     คำพิพากษาศาลฎีกาที่  860/2553

 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่      โจทก์
 

          เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งทนายความให้ตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          จำเลยยื่นคำร้องว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ขอให้งดเพิ่มโทษ โดยจำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้น อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

          เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้
________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 265, 334, 335 (1) วรรคแรก ฐานปลอมเงินตรา จำคุก 12 ปี ฐานปลอมเอกสารราชการ จำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 24 กระทง จำคุก 24 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 36 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 48 ปี 8 เดือน จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงจำคุก 24 ปี 4 เดือน ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 348,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

          จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์

          คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จำเลยยื่นคำร้องว่า ในวันสอบคำให้การจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่มีทนายความ ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยแต่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จำเลยและทำการสืบพยานโจทก์ไป จำเลยได้โต้แย้งต่อศาลชั้นต้นตลอดมา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฟัง และสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จ อันมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิจารณาพิพากษาคดีของจำเลยใหม่

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่อีก ให้ยกคำร้อง
          จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

          ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2550 ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยไม่ต้องการทนายความและขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง จำเลยลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาว่าไม่ถูกต้อง ต่อมามีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้าน ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองแล้ว ให้ยกคำร้องและให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์

          จำเลยฎีกาคำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีของจำเลยใหม่หรือไม่ เห็นว่า คำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 อ้างว่า ในวันสอบคำให้การ จำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่มีทนายความ ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยแต่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จำเลยและทำการสืบพยานโจทก์ไป โดยจำเลยได้โต้แย้งต่อศาลชั้นต้นตลอดมา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฟัง และสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จอันมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีของจำเลยใหม่ ดังนี้ คำร้องของจำเลยดังกล่าวพอแปลเจตนารมณ์ได้ว่า จำเลยประสงค์ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ศาลชั้นต้นไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่า จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้จำเลยตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลยซึ่งหากจำเลยเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จึงล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2552 ว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ โทษที่โจทก์นำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษซึ่งจำเลยได้กระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 จึงถูกลบล้างไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้งดเพิ่มโทษให้แก่จำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลรับฎีกาคำสั่งของจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 จำเลยยื่นคำร้องมีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา โดยยื่นภายในกำหนดเวลาที่ขอขยาย จึงรับเป็นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงเห็นควรวินิจฉัยและมีคำสั่งคำร้องของจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อน เห็นว่า แม้ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานรับของโจรของศาลชั้นต้น และจำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

          พิพากษายืน โดยไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลย 36 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 18 ปี 3 เดือน

( ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช - สิทธิชัย พรหมศร - จักร อุตตโม )
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ - นายภาคภูมิ ปิยะตระภูมิ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - ไม่ปรากฏชื่อ
  
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2, 4
    

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-12 20:11:49


ความคิดเห็นที่ 3 (2196419)

ผมขอเรียนถามท่านหน่อยน้ะครับ .........

พอดีผมมีปัญหาเรื่องคดีความเกี่ยวกับการโดนแจ้งข้อหา กระทำชำเราและข่มขืนเด็กอายุตำกว่า 15 ปี  (หญิงอายุ 14 ปี) หากผมยอมรับ แล้วจ่ายค่าเสียหายผมจะติดกี่ปีมีสิทธิ์ไม่ติดคุกไหมครับ รอลงอาญาพอได้ไหม ช่วงนี้ผมเรียนไปด้วยน้ะครับ  ช่วยให้คำปรึกษาหน่อยหนักใจมากมาย ... แล้วหากผมโดนลงอาญา  ผมสามารถไปเป็นครูสอนได้ไหมครับ  ทำงานราชการได้ไหม ช่วยหาทางและบอกผมด้วย ท่านทนายผู้ใจดี

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิงร้ายชายเลว วันที่ตอบ 2011-07-16 21:14:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2196874)

ตอบคำถาม-กระทำชำเราและข่มขืนเด็กอายุตำกว่า 15 ปี  (หญิงอายุ 14 ปี)
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี กฎหมายกำหนดโทษตั้งแต่ 4 ปี - 20 ปี โทษขั้นต่ำคือ 4 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี แต่การกระทำความผิดฐานนี้ มักจะมีความผิดฐานอื่นรวมอยู่ด้วยเป็นไปได้ที่เมื่อลดโทษแล้วอาจยังต้องรับโทษจำคุกเกิน 3 ปี ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรอการลงโทษได้ตามมาตรา 56(ป.อาญา)

สำหรับคำถามอื่น...แล้วหากผมโดนลงอาญา  ผมสามารถไปเป็นครูสอนได้ไหมครับ  ทำงานราชการได้ไหม เป็นเรื่องของหน่วยงานที่มีระเบียบการรับบุคคลบรรจุเป็นข้าราชการ

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียว

หรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

(2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

(3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

(4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

(6) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก

เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-18 10:23:46


ความคิดเห็นที่ 5 (2196875)

จำเลยกับผู้เสียหายสมรสกันผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ
โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ     ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี  ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน  จำเลยอุทธรณ์   ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามใบสำคัญสมรสและหนังสือรับรองการสมรสท้ายฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสตูลทำการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม และโจทก์มิได้กล่าวแก้เป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่าจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานกระทำชำเรา สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8523/2552 (อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-18 10:25:59


ความคิดเห็นที่ 6 (2196877)

การกระทำชำเราที่ไม่ต้องรับโทษ
การกระทำชำเราที่ไม่ต้องรับโทษถ้าศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงสมรสกันมีเพียงการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 เท่านั้น การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชายอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แต่ในกรณีที่ชายกระทำชำเราเด็กหญิง ในขณะที่เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีกระทงหนึ่ง และอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีกระทงหนึ่ง เมื่อศาลได้อนุญาตให้ชายและเด็กหญิงสมรสกัน การกระทำของชายเฉพาะความผิดฐานกระทำชำเรา ในขณะที่เด็กหญิง อายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จึงไม่ต้องรับโทษ ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราในขณะที่เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ไม่เข้าเหตุที่จะไม่ต้องรับโทษ นอกจากนั้นการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราในขณะที่เด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารแม้ผู้นั้นจะยินยอม ดังนั้นชายจึงต้องรับโทษในความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4142/2552 (อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-18 10:27:57


ความคิดเห็นที่ 7 (2196882)

โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม
ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงอายุ 14  ปีเศษ การที่จำเลยมารับเด็กหญิงไปรับประทานอาหาร มารดาของเด็กหญิงก็รับรู้ และทราบว่าบุตราสาวของตนค้างคืนกับจำเลยที่บ้านจำเลย พฤติการณ์แสดงว่า มารดาของเด็กหญิงรู้เห็นยินยอมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ แต่จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15  ปี แม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็ตามก็เป็นความผิดตามมาตรา 277 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2550(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-18 10:37:34


ความคิดเห็นที่ 8 (2196983)

คดีที่ไม่อาจรอการลงโทษได้
มาตรา 56 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ... ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้” ผู้ที่กระทำความผิดศาลจะรอการลงโทษได้ก็ต่อเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน เว้นแต่เป็นโทษจำคุกสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ กรณีกฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่เคยได้รับโทษจำคุกมาแล้วเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีกอันเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยโดยให้เหตุผลว่ากรณีของจำเลยไม่อาจรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7349/2548 (อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-18 16:21:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล