ReadyPlanet.com


ใครรับผิดชอบ


ให้บุคลอื่นเช่าตึกแถวแล้วตัวเขาเอาไปให้เซเว่นเช่าช่วงต่อแต่ตอนทำสัญญาเราไม่ได้ระบุไม่ได้ระบุสัญญาเก่ียวกับอัคคีภัยถ้าเกิดไฟไหม้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแล้วถ้าเราจะขอทำสัญญาฉบับใหม่จะได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ แม่บ้าน :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-06 10:04:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2194574)

ถ้าเกิดไฟไหม้ใครับผิดชอบ

ตอบ  ใครเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไฟไหม้ก็ต้องรับผิดในฐานกระทำละเมิดครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-10 18:33:03


ความคิดเห็นที่ 2 (2194575)

เว้นแต่ว่าผู้เช่าจะพิสูจน์ได้ว่าเหตุไฟไหม้นั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6159/2551

          โรงงานซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยเช่าถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 เมื่อจำเลยไม่สามารถส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ โจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563

 

          คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อย เมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโรงงานมาตรฐานกับโจทก์พร้อมทั้งบริการในการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมมีกำหนด 3 ปี จำเลยได้ชำระเงิน 600,210 บาท ให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาเพื่อเป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์หักเงินดังกล่าวชำระได้ หากความเสียหายเกิดขึ้นเกินจำนวนเงินดังกล่าวจำเลยต้องชำระส่วนที่เกินนั้นแก่โจทก์จนครบ หากเกิดอัคคีภัยหรือวินาศภัยใดๆ ขึ้นกับโรงงานที่เช่า โจทก์และจำเลยตกลงให้สัญญาเช่าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง เว้นแต่โจทก์จะยินยอมเป็นหนังสือให้จำเลยคงมีสิทธิใช้โรงงานต่อไปได้ หากสัญญาเช่าระงับหรือสิ้นสุดลงและจำเลยส่งมอบโรงงานคืนแก่โจทก์โดยไม่ชำรุดเสียหายและโจทก์ได้รับมอบไว้แล้ว หากจำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าหรือค่าเสียหายอื่นใดแล้วโจทก์จะต้องคืนเงินมัดจำแก่จำเลย จำเลยได้เข้าไปใช้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ตามสัญญาแล้ว ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 2 อันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่าได้รับความเสียหายทั้งหมดจนไม่สามารถซ่อมแซมเพื่อใช้ปฏิบัติงานต่อไปได้จำเลยยังคงใช้โรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ซึ่งเหลืออยู่ปฏิบัติงานและชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ โจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ต่อไปโดยรับชำระเงินค่าเช่าจากจำเลย ต่อมาเกิดเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ได้รับความเสียหายทั้งหมดจนไม่สามารถซ่อมแซมเพื่อใช้ปฏิบัติต่อไปได้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงย่อมระงับสิ้นสุดลง การเกิดอัคคีภัยครั้งแรกเกิดจากขั้วหลอดไฟกับขาหลอดไฟเกิดการสะสมความร้อนจนพลาสติกขาหลอดไฟหลอมละลายลุกติดเป็นไฟตกไปถูกวัสดุที่ติดไฟง่ายจึงเกิดเพลิงไหม้ ส่วนครั้งที่ 2 เกิดจากการเปิดพัดลมติดฝาผนังทิ้งไว้ พัดลมเกิดความร้อนสะสมจนไฟลุกไหม้และลุกใส่สารไวไฟทำให้เกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าดูแลและควบคุมกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในกิจการของจำเลยผู้เช่า การเกิดเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานที่เช่าดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยโดยตรงจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยซ่อมแซมอาคารโรงงานทั้งสองหลังให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ตามปกติและส่งมอบให้แก่โจทก์ภายใน 60 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 3,165,038.02 บาท โจทก์นำเงินประกันความเสียหายมาหักชำระหนี้แล้วคงเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้น 2,564,828.02 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดคือวันที่ 9 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 208,392.27 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,773,220.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,564,828.02 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดเพลิงไหม้ที่โจทก์กล่าวอ้างถึงสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้นั้นเป็นข้อสันนิษฐานเอาเอง จำเลยใช้อาคารที่เช่าตามปกติ และสงวนรักษาเช่นเดียวกับที่เจ้าของพึงปฏิบัติ ไม่มีข้อตกลงตามสัญญาให้จำเลยต้องรับผิดในกรณีที่ความเสียหายไม่ได้เกิดจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินประกันไปหักชำระค่าเสียหายอาคารทั้งสองหลังสามารถซ่อมแซมไม่เกินหลังละ 300,000 บาท จำเลยบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวส่งมอบอาคารโรงงานทั้งสองหลังแก่โจทก์แล้ว โจทก์กลับไม่ยอมรับมอบและคืนเงินประกันให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยย้ายออกไปจากอาคารที่เช่าทั้งสองหลังแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์เข้าครอบครองดูแลทรัพย์สินที่เช่าโดยปริยาย โจทก์ทิ้งร้างไว้เป็นเหตุให้อาคารทั้งสองหลังชำรุดทรุดโทรมไปกว่าเดิมจึงเป็นความผิดของโจทก์ อาคารทั้งสองหลังยังมีสภาพไม่ถึงขนาดต้องรื้อทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่ หากความเสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลยถือได้ว่าพอหักกลบลบหนี้กับเงินประกันที่จำเลยได้ให้แก่โจทก์ไว้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยซ่อมแซมอาคารให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยยกข้อสัญญาเช่าขึ้นกล่าวอ้าง ฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีอันผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญา โจทก์จึงต้องฟ้องภายในอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์ที่เช่า แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนดดังกล่าว จึงขาดอายุความ แม้จ้ะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดก็ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับจากวันที่เกิดเหตุและทราบตัวผู้กระทำละเมิดโจทก์ทราบตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2537 โจทก์กลับละเลยไม่ฟ้องคดี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าโรงงานมาตรฐานในเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบัง 2 หลัง เนื้อที่ 2,106 ตารางเมตร มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึง 31 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ชำระเงิน 600,210 บาท ให้แก่โจทก์เป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ หากจำเลยมีหนี้ผูกพันต้องชำระให้แก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์หักเงินประกันชำระหนี้ได้ หากชำระแล้วยังไม่พอก็ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จนครบ โจทก์ได้ส่งมอบโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังให้แก่จำเลยแล้ว วันที่ 7 มีนาคม 2536 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 2 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำความเห็นว่า สาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากการอาร์คหรือสปาร์คของขั้วหลอดฟลูออเรสเซนต์กับขาหลอดของชุดหลอดฟลูออเรสเซนต์ทำให้เกิดการสะสมความร้อนจนพลาสติกขาหลอดหลอมละลายลุกติดเป็นเปลวไฟตกไปถูกกับวัตถุที่ไหม้ไฟได้ง่าย เช่น โฟมหรือกล่องกระดาษ ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 เวลากลางวัน เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานทำความเห็นว่าสาเหตุเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากการสะสมความร้อนในตัวพัดลมอันเนื่องมาจากความชำรุดตามสภาพการใช้งาน หรือเปิดใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ถึงจุดติดไฟแล้วตกลงไปลุกไหม้ทรัพย์สินใกล้เคียงจนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการดังกล่าวสรุปความเห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่าจำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ผู้แทนโจทก์ได้รับทราบรายงานดังกล่าววันที่ 19 กรกฎาคม 2537 และมีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมนำเงินประกันที่จำเลยวางไว้มาหักเป็นค่าเสียหาย

 

          มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในเบื้องต้นต้องวินิจฉัยก่อนว่า โรงงานมาตรฐานของโจทก์ทั้งสองหลังได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนานอำพล และนายอัมพร เบิกความว่า โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากสอดคล้องกับภาพถ่ายหมาย จ.1 และ จ.2 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าได้ย้ายที่ทำการไปอยู่แห่งใหม่แล้ว เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ดังนั้น โจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อยเมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

 

          เนื่องจากศาลชั้นต้นได้สืบพยานคู่ความมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ย้อนสำนวน มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีร้อยตำรวจเอกกิตติ ซึ่งรับราชการอยู่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดไฟไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์หลังที่ 2 สืบเนื่องจากการหลอมละลายของขั้วหลอดไฟหรือการสปาร์คสาเหตุมาจากการใส่ขั้วของหลอดดังกล่าวไม่แน่นหรือเกิดจากการใช้งานเป็นเวลานานทำให้พลาสติกที่ขั้วหลอดนั้นหลอมละลายเมื่อตกลงมาถูกวัสดุหรือกล่องกระดาษก็จะเกิดไฟลุกไหม้ และพันตำรวจตรีประสิทธิ์ รับราชการที่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ของโจทก์เกิดจากความร้อนสะสมที่ตัวมอเตอร์พัดลมจากการเปิดพัดลมไว้นานๆ หรือความชำรุดโดยสภาพของพัดลม เมื่อมีความร้อนมากๆ ทำให้ทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น  เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งได้เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.7 และ จ.10 ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นไปดังที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัยมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่

 

          มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนางราตรี หัวหน้างานบัญชีบริหารซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานรักษาการบัญชีทรัพย์สินได้ตีราคาอาคารโรงงานมาตรฐานของโจทก์โดยอาศัยรายงานทรัพย์สินปี 2535 และ 2536 ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยหักราคาซากและหักค่าเสื่อมราคาของแต่ละปีตามกฎกระทรวงการคลังแล้ว โจทก์ได้รับความเสียหาย 3,165,038.02 บาท ตามรายละเอียดการคำนวณมูลค่าโรงงานมาตรฐานเอกสารหมาย จ.16 แต่เนื่องจากหลังจากไฟไหม้แล้วยังมีวัสดุที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้คือโครงสร้างซึ่งเป็นเหล็ก ซึ่งเดิมโจทก์ได้ประเมินราคาซากไว้ 410,549.02 บาท แต่ภายหลังกล่าวอ้างว่าไม่มีมูลค่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างเหล็กดังกล่าวสามารถนำไปขายได้ราคา จึงเห็นควรกำหนดราคาซากเท่ากับที่โจทก์เคยตีราคาไว้ เมื่อหักจากเงินประกันที่จำเลยมอบไว้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าเลิกต่อกัน แต่โจทก์ขอนับแต่วันที่ 9 มกราคา 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลัง จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ

          พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

( ศิริชัย วัฒนโยธิน - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - กีรติ กาญจนรินทร์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 18:38:53


ความคิดเห็นที่ 3 (2194589)

 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าบ้านโจทก์เพื่อทำปั๊มน้ำมัน จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าอยู่แทนต่อมาจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและไหม้บ้านของโจทก์ จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2145/2525

          มูลละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกับที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาท ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยกระทำผิดพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังที่จะลงโทษจำเลยได้ คดีถึงที่สุด ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่าจำเลยมิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

           ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านโจทก์โดยประมาทนั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายใน คดีอาญาดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงต้องผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วย

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 เป็นบทบัญญัติถึงการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในความรับผิดเรื่องละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายส่วนแพ่ง โดยมิต้องคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าบ้านโจทก์เพื่อทำปั๊มน้ำมัน จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าอยู่แทนเพื่อทำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ควบคุมดูแล ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและไหม้บ้านของโจทก์ดังกล่าวจนหมดสิ้น จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท

          จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่เจ้าของทรัพย์ที่เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาท เพลิงเกิดไหม้ขึ้นโดยอุบัติเหตุจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 120,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วย

          โจทก์ที่ 1 ฎีกา


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้เกิดมูลละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกันกับการกระทำที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 4 (อัยการจังหวัดนครสวรรค์) เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายและน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้อื่นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 97/2523ของศาลมณฑลทหารบกที่ 4 (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในคดีอาญาดังกล่าวนั้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยที่ 2 เป็นคนถ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันลงสู่ถังน้ำมันของจำเลยที่ 2 คงมีแต่คำเบิกความของร้อยตำรวจตรีบุรี จันทร์งามว่าหากจำเลยที่ 2 ใช้มอเตอร์ดูดถ่ายน้ำมันแล้วไฟช๊อตก็จะเกิดเพลิงไหม้ได้และไม่มีพยานโจทก์ปากใดว่าจำเลยที่ 2 ใช้มอเตอร์ดูดถ่ายน้ำมัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังที่จะลงโทษได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด ดังนี้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทอันเป็นเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้บ้านของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าบ้านของโจทก์ที่ 1นั้นเมื่อฟังว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำละเมิดแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วย

          ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า การที่จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่งได้นั้นจะต้องปรากฏว่าคู่ความทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกันนั้น เห็นว่าในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้นบ้านของโจทก์ที่ 1 ถูกไฟไหม้ไปด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวนั้น ฉะนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงต้องผูกพันโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ด้วย


          อนึ่ง ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าการนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวนั้นบังคับถึงการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในความรับผิดเรื่องละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายส่วนแพ่งโดยมิต้องคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษและไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่กรณีของโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424


          พิพากษายืน

( สุชาติ จิวะชาติ - พิศิษฏ์ เทศะบำรุง - ประสม ศรีเจริญ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 19:16:07


ความคิดเห็นที่ 4 (2194608)

 ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้านแต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านกฎหมายมิได้วางบทสันนิษฐานล่วงเลยไปให้เป็นโทษแก่จำเลยผู้ครองเรือนต้องรับผิดในความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6908/2537

           ประกาศมหาวิทยาลัยเรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยเป็นเพียงข้อที่ผู้เข้าอยู่อาศัยควรปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามและพิสูจน์ได้ว่าผู้เข้าอยู่อาศัยกระทำให้ที่พักหรืออุปกรณ์เสียหาย ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้นคดีนี้แม้ฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้าน แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้าน กฎหมายมิได้วางบทสันนิษฐานล่วงเลยไปให้เป็นโทษแก่จำเลยผู้ครอบครองเรือนต้องรับผิดในความเสียหายโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
______________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์โจทก์จัดบ้านพักให้จำเลยพักอาศัย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 จำเลยทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านพักโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังฝ่าฝืนประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัย ข้อ 7 ที่ให้ผู้อยู่อาศัยในที่พักระมัดระวังการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง อย่าประมาทเลินเล่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการเหลียวแลเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดอัคคีภัยโดยง่ายโดยจำเลยปล่อยปละละเลยทิ้งไว้ ซึ่งวัตถุจุดไฟเช่นก้นบุหรี่หรือขี้บุหรี่ ไม่ดับให้สนิทก่อนออกจากบ้านพักเป็น เหตุให้วัตถุจุดไฟดังกล่าวตกไปถูกกับกองหมอนบริเวณกลางห้องชั้นล่างและลุกลามไหม้บ้านพักหลังอื่นด้วย พร้อมด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ภายในบ้านพักของโจทก์เสียหายรวม 9 รายการคิดเป็นเงินที่โจทก์ต้องซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมรวม 220,000 บาทจำเลยจะต้องชดใช้เงินต้นดังกล่าวและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นเงินดอกเบี้ย 31,244.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น251,244.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 251,244.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 220,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

          จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามประกาศของมหาวิทยาลัยและระมัดระวังในการเข้าพักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยอย่างวิญญูชนที่เข้าพักอาศัยพึงปฏิบัติทุกประการขณะเกิดเพลิงไหม้ จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้าน จำเลยใช้ความระมัดระวังดูแลความเรียบร้อยโดยดับไฟอันอาจจะเกิดอัคคีภัยในบ้านพักเรียบร้อยแล้ว จึงออกจากบ้านพักไป โจทก์ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยประมาทเลินเล่อโดยทิ้งวัตถุจุดไฟอะไร และเหตุเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากอะไร ค่าเสียหายสูงเกินไป หากมีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพคงเดิมใช้ทุนทรัพย์เพียงไม่เกิน 70,000 บาทฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบเหตุกระทำความผิดแล้วรู้ตัวผู้ที่จะรับผิดก่อนวันที่ 29 มิถุนายน 2530 ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านพักโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ได้ความจากนายเอนกลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งยามว่า วันเกิดเหตุนายเอนกเดินยามตรวจผ่านบ้านที่เกิดเหตุเห็นประตูบ้านและหน้าต่างปิดไว้เรียบร้อย จนเวลาประมาณ 20 นาฬิกาขณะนายเอนกยืนคุยอยู่กับเพื่อนยามที่ใต้ถุนแฟลตห่างบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร ก็เห็นควันไฟขึ้นมาจากหลังคาบ้านที่เกิดเหตุ เมื่อวิ่งไปดูก็พบว่าไฟไหม้ชั้นล่างบ้านที่เกิดเหตุและลุกไหม้ตามบันไดไม้ขึ้นไปชั้นบนไม่ปรากฏว่ามีคนอยู่ภายในบ้านจึงร่วมดับไฟกับยามและตำรวจดับเพลิง เห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านที่พิพาท และแม้มีประกาศมหาวิทยาลัยเรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยเอกสารหมาย จ.1 ข้อที่ 4 กล่าวใจความว่า"ต้องรับผิดชอบซ่อมหรือชดใช้ต่อการชำรุดเสียหายของที่พักหรืออุปกรณ์ในระหว่างที่อยู่อาศัย ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าได้เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อาศัยเอง" และข้อที่ 7 กล่าวว่า"ระมัดระวังการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง อย่าประมาทเลินเล่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการเหลียวแลเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ๆ" ก็ตาม ก็มีความหมายเป็นเพียงข้อที่ผู้เข้าอยู่อาศัยควรปฏิบัติตาม ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามและพิสูจน์ได้ว่าผู้เข้าอยู่อาศัยกระทำให้ที่พักหรืออุปกรณ์เสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น คดีนี้แม้ฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้านแต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านกฎหมายมิได้วางบทสันนิษฐานล่วงเลยไปให้เป็นโทษแก่จำเลยผู้ครองเรือนต้องรับผิดในความเสียหาย ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ว่าจำเลยได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านพักจากเพลิงไหม้ให้แน่ชัด

          พิพากษายืน
( อากาศ บำรุงชีพ - ชลิต ประไพศาล - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา )

                
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 19:56:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล