ReadyPlanet.com


กฎหมายล้มละลาย


 เรียน  สำนีักงานกฎหมายพีศิริ ทนายความ

           ผมขอถามเรื่องกฎหมายล้มละลาย ดังนี้ครับ

ข้อ1. บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ต้องติดคุกใช่ไหมครับ?

ข้อ 2. คนที่ล้มละลาย ปีอายุการล้มละลายกี่ปีครับ?

ข้อ3. ถ้านาย ก. มีหนี้สิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ยอมจ่าย แอบโอนทรัพย์สินให้คนอื่น โดยตัวเองต้องการให้ ถูกฟ้องล้มละลาย เพราะรู้ว่าคดีล้มละลาย ไม่มีการติดคุก แบบนี้ นาย ก. ก็สบายซิครับใช่ไหมครับ แล้ว กฎหมายล้มละลายมีผลดีผลเสียอย่างไรครับ?

ข้อ 4. ถ้าทุกคนรู้ว่าเมื่อโดนฟ้องล้มละลายแล้วไม่ติดคุก แบบนี้คนที่รู้ก็ไปกู็้้เงินคนอื่น แล้วไม่จ่ายก็สบายใช่ไหมครับ เพราะไม่ใช่คิดีอาญา ไม่ต้องติดคุกใช่ไหมครับ?

ผมขอรบกวนถามแค่นี้ก่อนนะครับ  ขอขอบคุณมากครับ

  



ผู้ตั้งกระทู้ สมชาย :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-20 13:57:28


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2203235)

ข้อ1. บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ต้องติดคุกใช่ไหมครับ?
ตอบ ตามคำถามของคุณเองข้อ 3 และข้อ 4

ข้อ 2. คนที่ล้มละลาย ปีอายุการล้มละลายกี่ปีครับ?

ตอบ  มาตรา 81/1 ภายใต้บังคับมาตรา 81/2 บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่

(1) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี

(2) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (3) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้

(3) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี

ในกรณีที่มีเหตุตาม (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว

ให้นำบทบัญญัติมาตรา 76 มาตรา 77 และมาตรา 78 มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลายตามมาตรานี้โดยอนุโลม

 

ข้อ3. ถ้านาย ก. มีหนี้สิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ยอมจ่าย แอบโอนทรัพย์สินให้คนอื่น โดยตัวเองต้องการให้ ถูกฟ้องล้มละลาย เพราะรู้ว่าคดีล้มละลาย ไม่มีการติดคุก แบบนี้ นาย ก. ก็สบายซิครับใช่ไหมครับ แล้ว กฎหมายล้มละลายมีผลดีผลเสียอย่างไรครับ?

เพิกถอนการโอน

มาตรา 113 การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง

มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้

ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

ข้อ 4. ถ้าทุกคนรู้ว่าเมื่อโดนฟ้องล้มละลายแล้วไม่ติดคุก แบบนี้คนที่รู้ก็ไปกู้เงินคนอื่น แล้วไม่จ่ายก็สบายใช่ไหมครับ เพราะไม่ใช่คิดีอาญา ไม่ต้องติดคุกใช่ไหมครับ?

มาตรา 24 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 30 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วลูกหนี้ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่า ได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด

(2) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้นๆ เป็นประกัน รายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน

ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร

ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจงแล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-06 14:38:47


ความคิดเห็นที่ 2 (2203240)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6448/2550


          เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้รับโอนได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากลูกหนี้ที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 114 (เดิม) และการที่ต่อมาผู้รับโอนได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกภายหลังมีการยื่นฟ้องลูกหนี้ที่ 1 ให้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 116 (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

          ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยกำหนดราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทสูงเกินไปในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้นั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งคัดค้านในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

          การชดใช้ราคาทรัพย์คืนเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงผู้รับโอนและผู้คัดค้านที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสอง ล้มละลายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2538 และพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2539

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47023 ตำบลหมื่นไวย (บ้านเกาะ) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 194/87 ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 ผู้โอน กับนางจิตรา  ผู้รับโอน เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างนางจิตรา  ผู้รับโอนกับนางพัชรา  และนายสมเจตน์  และเพิกถอนการจำนองระหว่างนางพัชรา  และนายสมเจตน์  ผู้จำนอง กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนอง ให้นางจิตรา  นางพัชรา  นายสมเจตน์  และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้รับโอนและผู้รับจำนองร่วมกันชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางจิตรา  โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง

          ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นสถาบันการเงินมีวัตถุประสงค์ประกอบการธนาคารพาณิชย์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการปล่อยสินเชื่อตามประเพณีการค้าของธนาคาร โดยมิทราบว่าลูกหนี้ที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกคำร้อง

          ระหว่างพิจารณา นางจิตรา  ผู้รับโอน ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายฐิติ  ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางจิตรา  ผู้รับโอนเข้ามาเป็นคู่ความแทน

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47023 ตำบลหมื่นไวย (บ้านเกาะ) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 194/87 ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 ผู้โอนกับนางจิตรา  ผู้รับโอน เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างนางจิตรา  ผู้รับโอน กับผู้คัดค้านที่ 1 และเพิกถอนการจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ให้นางจิตรา ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้รับโอนและผู้รับจำนองร่วมกันชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

          ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 (เดิม) ได้หรือไม่ ...เห็นว่า โจทก์และลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นพยานผู้ร้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับผู้รับโอน และการเพิกถอนการโอนย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายทุกคน ทั้งพยานดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันจึงเป็นพยานที่มีน้ำหนัก การที่ลูกหนี้ที่ 1 เคยกู้ยืมเงินจากผู้รับโอนมาปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืม นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกันพอสมควรไม่มากก็น้อย ทั้งเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันด้วย ย่อมเป็นปกติวิสัยที่จะต้องสนใจฐานะความเป็นอยู่ของกันและกัน โดยเฉพาะผู้รับโอนเป็นฝ่ายที่ให้กู้ยืมเงินเป็นเจ้าของเงินนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายต้องสนใจเป็นพิเศษประกอบกับการที่ผู้รับโอนได้นำเงินของตนเองไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนขายแก่ผู้รับโอน แสดงว่าลูกหนี้ที่ 1 มีฐานะทางการเงินไม่ดี เป็นเหตุผลแวดล้อมสนับสนุนให้พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งขึ้นว่าลูกหนี้ที่ 1 มีความประสงค์ที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์ดังกล่าวไปให้เสียเปรียบแก่ผู้รับโอนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่รู้อยู่ด้วยกัน อันเป็นกระทำโดยไม่สุจริต ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 มีนางพัชรา  และนายสมเจตน์  ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันที่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากผู้รับโอน เจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งให้ทราบว่ามีการอายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท พยานไม่เคยรู้จักลูกหนี้ที่ 1 และไม่ทราบว่าผู้รับโอนกับลูกหนี้ที่ 1 มีความสัมพันธ์กันอย่างไร คำเบิกความของพยานดังกล่าวมิได้ยืนยันว่าผู้รับโอนซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากลูกหนี้ที่ 1 โดยสุจริต ทั้งผู้รับโอนได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมาเบิกความเป็นพยานให้ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีพยานสนับสนุน ทำให้มีน้ำหนักน้อย แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะนำสืบว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากผู้รับโอนโดยสุจริต ก็เป็นคนละเรื่องกับการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับผู้รับโอนที่ทำไปก่อนนั้น จึงไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้พยานผู้คัดค้านที่ 1 มีน้ำหนักมากขึ้นแต่อย่างใด พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าผู้คัดค้านที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านางจิตราได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากลูกหนี้ที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 (เดิม) เมื่อนางจิตราได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและการโอนนั้นมิได้กระทำก่อนที่มีการยื่นฟ้องลูกหนี้ที่ 1 ให้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,500,000 บาท เป็นการไม่ชอบ เพราะความจริงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมีราคาเพียง 472,000 บาท เท่านั้น เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งคัดค้านในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย แต่การกำหนดราคาชดใช้แทนกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ก็ต้องกำหนดให้ถูกต้องกับราคาแท้จริงตามพยานหลักฐานในสำนวนด้วย การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ว่าราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดสูงเกินไปไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนนั้นเป็นเรื่องเกินกว่าสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก่อนในปัญหานี้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าราคา 1,500,000 บาท มีที่มาอย่างไร แต่ปรากฏตามรายงานความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทางสอบสวนได้ความว่า ลูกหนี้ที่ 1 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้รับโอนในราคา 600,000 บาท และผู้ร้บโอนขายต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในราคา 600,000 บาท ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47000, 47001 และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ประเมินราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นเงิน 600,000 บาท ดังนั้น ราคา 1,500,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 จำนองที่ดินจำนวน 3 แปลงแก่ผู้คัดค้านที่ 2 มิใช่ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเพียงแปลงเดียว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาแทน เป็นเงิน 1,500,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ตามรายงานความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสรุปเห็นราคาประเมินหลักประกัน ระบุราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทสอดคล้องตรงกันว่ามีราคา 600,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นราคาที่แท้จริงที่จะต้องชดใช้คืน ส่วนราคา 472,000 บาท เป็นราคาที่ผู้คัดค้านที่ 1 คำนวณในอัตราร้อยละ 80 ของวงเงินจำนอง จึงมิใช่ราคาที่แท้จริงที่จะต้องชดใช้คืน ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

          อนึ่ง การชดใช้ราคาทรัพย์คืนนี้เป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงผู้รับโอนและผู้คัดค้านที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47023 ตำบลหมื่นไวย (บ้านเกาะ) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่  194/87 ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 ผู้โอนกับนางจิตรา  ผู้รับโอนเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างนางจิตรา  ผู้รับโอนกับผู้คัดค้านที่ 1 และเพิกถอนการจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ให้นางจิตรา  ผู้รับโอนและผู้คัดค้านทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้รับโอนร่วมกับผู้คัดค้านทั้งสองชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-06 14:46:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล