ReadyPlanet.com


เก็บบัตรATMได้แต่เรื่องมันใหญ่กว่านั้นมาก


       นายดำเก็บบัตรATMได้กลางดึก บริเวณใกล้ที่ทำงานของตนเอง ซึ่งด้านหลังบัตรATMมีรหัสจดอยู่ และในบัตรATMมีวงเงินอยู่ประมาณ7หมื่นบาท แต่นายดำได้กดเงินสดออกมาจำนวน 2หมื่นบาท แล้วนำบัตรATMใบนั้นไปทิ้งไว้ที่เดิม  จากนั้นประมาณ1สัปดาห์ ตำรวจก็มาจับกุมตัวนายดำไปสอบสวนที่โรงพักโดยนายดำไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด และไม่ได้มีการคุมขังแต่ได้มีการไกล่เกลี่ยทำสัญญาผ่อนชำระคืนเงินให้แก่เจ้าของบัตรATMเดือนละ4พันบาท เป็นเวลา 5เดือน  แต่เนื่องจากการที่นายดำได้ทิ้งบัตรATMไว้ในคืนนั้นจึงทำให้มีบุคลที่สอง(นายแดง)นำบัตรไปกดต่อ โดยนายแดงได้โอนเงินที่เหลือในบัตรทั้งหมด5หมื่นบาทนั้นเข้าบัญชีตนเอง แต่ทางตำรวจยังไม่สารมารถจับกุมตัวนายแดงได้ ส่วนทางด้านนายดำก็ไม่ได้รู้จักหรือมีความสัมพันธ์อะไรกับนายแดงเลย


       หลังจากนายดำได้ผ่อนชำระใช้หนี้ไปได้2เดือนเป็นจำนวนเงิน 8พันบาท  ประมาณเดือนที่สามได้มีหมายจับมาจับนายดำและได้ถูกฟ้องจากเจ้าของบัตรATMว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดกับนายแดงกดเงินในบัตรATMไปทั้งหมด7หมื่นบาท ทั้งที่ความจริงนั้นนายดำได้กดออกมาเพียง2หมื่นบาทเท่านั้น และไม่ได้สมรู้ร่วมคิดหรือรู้จักกับนายแดงเลย แต่ก็ได้ประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดี ซึ่งนายดำปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าสมรู้ร่วมคิดกับนายแดงกดเงินออกมา7หมื่นบาทไป จนถึงวันนี้คดีได้มาถึงวันที่จะต้องแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีกันแล้ว ก็ยังจับตัวนายแดงมาไม่ได้
 


อยากจะสอบถามว่า.......
ว่าที่นายความของนายดำบอกว่าสู้คดีต่อไปก็ต้องติดคุกอยู่ดีนั้น จริงหรือไม่?
และพอมีโอกาสที่จะชนะคดีหรือไม่ติดคุกไหม ?
แล้วถ้าแพ้คดีหรือจะต้องติดคุกกี่ปี ? จะต้องใช้หนี้ทั้ง7หมื่นเลยไหม ?

และจากรูปคดีคงจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ว่าที่ทนายความของนายดำจึงเสนอว่าให้ไปไกล่เกลี่ยกับเจ้าของบัตรATM ว่านายดำจะยอมชำระเงินทั้งหมด7หมื่นบาท 

จะทำได้ไหม ? จะถือว่าสิ้นสุดคดีไหม? แล้วจะติดคุกไหม?


 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 



ผู้ตั้งกระทู้ นายดำ :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-21 03:48:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2204050)

ความผิดสำเร็จแล้ว แม้จะจับตัวนายแดงไม่ได้ก็ไม่มีผลทำให้การกระทำความผิดของคุณที่ไม่มีข้อต่อสู้ต้องระงับไปเพราะการชำเงินคืนให้กับผู้เสียหาย แต่อาจมีเหตุบรรเทาโทษให้ศาลมีเหตุปรานีลงโทษน้อยลงได้ ดังนั้น

1. ว่าที่นายความของนายดำบอกว่าสู้คดีต่อไปก็ต้องติดคุกอยู่ดีนั้น จริงหรือไม่?
 ตอบ เป็นความจริง แต่ศาลอาจเมตตาลงโทษสถานเบาได้เช่น โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ก่อน

2. และพอมีโอกาสที่จะชนะคดีหรือไม่ติดคุกไหม ?
ตอบ คำว่า "ชนะคดี" หมายความว่าศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยไปเพราะเหตุจำเลยไม่ได้กระทำความผิดนั้น ไม่มีครับ เราก็ยอมรับแล้วว่ากระทำความผิดจริง ส่วนจำนวนเงินไม่ใช่องค์ประกอบในการกระทำความผิด ดังนั้นความผิดจึงสำเร็จแล้วตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

3. แล้วถ้าแพ้คดีหรือจะต้องติดคุกกี่ปี ? จะต้องใช้หนี้ทั้ง7หมื่นเลยไหม ?

ตอบ  ติดคุกกี่ปี เป็นอำนาจของศาล อย่าให้ตอบแบบเดาเลย รับสารภาพก็อาจประมาณ 1 ปี ส่วนเรื่องเงิน นั้นเป็นความรับผิดทางแพ่ง ถ้าไม่ชำระหนี้เลย ผู้เสียหายมีสิทธิสืบทรัพย์บังคับคดีได้ภายใน 10 ปี แต่ถ้าตกลงชำระหนี้ ศาลอาจเมตตาลดโทษให้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-09 06:13:06


ความคิดเห็นที่ 2 (2204052)

ขโมยบัตรเครดิตผู้อื่นไปรูดซื้อสินค้ามีโทษอย่างไร?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6820/2552

          การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188

            การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

 ________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7

          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสาร” ไว้ว่า หมายความว่ากระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดจึงเป็นเอกสารตามบทนิยามดังกล่าว และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสาร ตามมาตรา 188 กฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่นเป็นสำคัญโดยเป็นการเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจต้องขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานหรือใช้ประโยชน์จากเอกสารดังกล่าว และมิได้บัญญัติโดยมุ่งหมายเฉพาะการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 1 ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ที่มุ่งคุ้มครองถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของเอกสาร ดังนั้น การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารสิทธิ ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวบุปผา บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ คือ ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จากนั้นจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กรรม หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของนางสาวบุปผาไปใช้ซื้อสินค้าจำนวน 2 รายการ ที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อ 2.3 และ 2.4 โดยในข้อ 2.3 มีใจความว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องวิดีโอแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า ส่วนในข้อ 2.4 มีใจความว่าภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 2.3 จำเลยนำบัตรเครดิตีวิซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามฟ้องโจทก์ เมื่อจำเลยฎีกาโต้แย้งทำนองว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าทั้งสองรายการที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลัง ซึ่งขัดแย้งกับฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

          อนึ่ง ภายหลังกระทำความผิดจำเลยได้นำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผาไปส่งมอบให้แก่พนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว เพื่อประกาศตามหาเจ้าของ และผู้เสียหายได้รับสินค้าของกลางคืนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยมานั้นหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดทั้งสองฐานเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นจำคุก 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

 ( บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย - ธานิศ เกศวพิทักษ์ - สิงห์พล ละอองมณี )

มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือ ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา  269/5   ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 269/7   ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-09 06:29:37


ความคิดเห็นที่ 3 (2204135)

 ใช้บัตรเครดิตวีซ่าปลอมชำระราคาสินค้า

ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลย 2 ปีก่อนลดโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5345/2550

          ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 17)ฯ กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรเครดิตอันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับ หลังจากจำเลยกับพวกกระทำผิดดังกล่าวแล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้บัตรเครดิตวีซ่าดังกล่าว และจำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมบัตรเครดิตอันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 265, 268 และริบบัตรเครดิตวีซ่าของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยรับข้อเท็จจริงบางประการและคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบบัตรเครดิตวีซ่าของกลาง คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยใช้บัตรเครดิตวีซ่าปลอมชำระราคาสินค้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลย 2 ปีก่อนลดโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยขอรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้บัตรเครดิตวีซ่าปลอมชำระราคาสินค้า เป็นการกระทบกระเทือนถึงธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินและความเชื่อถือของผู้ประกอบกิจการทั่วไปต่อการใช้บัตรเครดิตนับเป็นการกระทำที่มุ่งถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้อื่นพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอนกับมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวดังที่กล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2547 กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”

          พิพากษายืน

( ชัช ชลวร - วีระศักดิ์ เสรีเศวตรัตน์ - บวร กุลทนันทน์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-09 11:57:59


ความคิดเห็นที่ 4 (2204139)

 ขโมยบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินโดน 4 ปี(คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2512/2550)
จำเลยขอให้รอลงอาญา กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยลักเอาไปจากผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเป็นจำนวนถึง 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 92,640 บาท นับเป็นเงินจำนวนมาก กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-09 12:12:27



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล