ReadyPlanet.com


ที่ดิน


มีปัญหาเรื่องที่ดิน ข้างเคียงไม่ยอมรับแนวเขต และเค้าไปฟ้องต่อศาลจะครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ศาลจึงนัดไกล่เกลี่ย เรายอมยกให้ที่เค้าบางส่วน เพื่อให้มันจบๆ ตกลงกันเรียบร้อย ศาลจึงออกคำพิพากษายอมให้ เพื่อใช้ในการสอบแนวเขตที่ดินอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันรังวัดเค้าบอกว่าเค้าไม่เอาตามคำพิพากษายอมแล้ว แบบนี้จะได้หรือไม่ค่ะ และควรทำอย่างไรดี



ผู้ตั้งกระทู้ น้ำฟ้า :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-14 15:17:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2199959)

เมื่อได้มีการตกลงกันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลแล้ว ย่อมต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายหนึ่งอาจบังคับคดีไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ครับ

มาตรา 138 ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอม ความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนี ประนอมยอมความเหล่านี้ไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความ

ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาใช้บังคับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 23:01:12


ความคิดเห็นที่ 2 (2199963)

สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21/2548

          สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า โจทก์จะต้องก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมทั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือระบุให้โจทก์กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ การที่โจทก์หยุดการทำงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้
________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค่าจ้างโจทก์อยู่ 990,000 บาท และจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์เป็นงวด งวดแรกชำระ 450,000 บาท ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ งวดที่สองจะชำระให้อีก 540,000 บาท เมื่อโจทก์นำคนงานมาทำงานที่ค้างอยู่ครบ 3 สัปดาห์ โดยโจทก์ต้องนำคนงานมาทำงานภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ครั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2543 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ชำระเงินจำนวน 540,000 บาท แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้

          จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ

          ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 1 มิถุนายน 2543 โจทก์นำคนงานเข้าไปทำงานก่อสร้างเจดีย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยปาดังเบซาร์ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2543 จำนวนเงิน 540,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้งวดที่สอง โจทก์นำคนงานเข้าทำงานเต็มวันทั้งในวันที่ 2 และวันที่ 3 มิถุนายน 2543 และทำงานครึ่งวันในวันที่ 4 มิถุนายน 2543 จากนั้นได้หยุดการทำงานตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย จ.1 แจ้งให้โจทก์ก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมติดตั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม และให้โจทก์ทำบันทึกขอใช้เครนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน โดยให้โจทก์จ่ายค่าเช่าเครนชั่วโมงละ 1,000 บาท ทุกหนึ่งสัปดาห์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย ล.4 แจ้งหยุดการทำงานและบอกเลิกการทำงานตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ต่อเติมและแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ชอบ เป็นการประวิงและถ่วงเวลาการทำงานของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะโจทก์หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 ส่วนโจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมเพราะจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ต้องเช่าเครนสำหรับยกสิ่งของจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้ได้โจทก์จึงหยุดการทำงาน เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ตามปกติการก่อสร้างเจดีย์วัด การก่ออิฐและฉาบปูนเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งมีความสูง 59 เมตร ต้องใช้เครนซึ่งเป็นของวัด ก่อนเกิดเหตุพิพาทกันครั้งนี้จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ใช้เครนสำหรับยกสิ่งของได้ แต่หลังจากที่โจทก์นำคนงานเข้ามาทำงานในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ใช้เครนของวัดเพราะโจทก์ไม่ได้ติดต่อขอเช่า และจำเลยที่ 2 ยังเบิกความต่อไปว่า หลังจากโจทก์นำคนงานเข้าทำงานได้ 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติ โดยให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมซึ่งเป็นการก่อสร้างนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ ทำให้คำเบิกความของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า โจทก์จะต้องก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมตั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม และไม่มีข้อความว่าโจทก์ต้องเช่าเครนสำหรับยกสิ่งของจากจำเลยที่ 1 ในอัตราค่าเช่าชั่วโมงละ 1,000 บาท ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ระบุให้โจทก์กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ การที่โจทก์หยุดการทำงานเพราะเหตุดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน

( มนตรี ยอดปัญญา - วิบูลย์ มีอาสา - ประจักษ์ เกียรติ์อนุพงศ์ )

     

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-27 23:09:36


ความคิดเห็นที่ 3 (2199964)

สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาและการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามระยะเวลาและขั้นตอนตามคำพิพากษา ดังนั้น การจะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และ ข้อ 3 ได้ จะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6981/2547 (อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-27 23:15:10


ความคิดเห็นที่ 4 (2199970)

วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

    โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันหากไม่ปฏิบัติก็บังคับคดีกันไปเพื่อให้สมวัตถุประสงค์แห่งการทำสัญญาที่ต้องการให้ข้อพิพาทระหว่างกันระงับไปด้วยวิธีการดังกล่าว หาใช่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะทำให้ข้อกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นผลไปโดยคู่สัญญาไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1651/2547


          โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ระบุให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ตกลงชำระเงินให้จำเลย 200,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท หากจำเลยผิดนัด จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองได้ทันทีและถือเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการที่จำเลยจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์และโจทก์ก็จะชำระราคาให้แก่จำเลย การกำหนดระยะเวลา 6 เดือนไว้ จึงเป็นกำหนดเวลาให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามสัญญา หากไม่ปฏิบัติก็บังคับคดีกันไปเพื่อให้สมวัตถุประสงค์แห่งการทำสัญญาที่ต้องการให้ข้อพิพาทระหว่างกันระงับไปด้วยวิธีการดังกล่าว หาใช่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะทำให้ข้อกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นผลไปโดยคู่สัญญาไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากไม่เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันตามที่โจทก์จำเลยมีเจตนาในการเข้าทำสัญญามาแต่ต้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์วางเงินจำนวน 200,000 บาท ต่อศาลแล้ว แม้จะเกินเวลา 6 เดือน จำเลยจึงต้องรับเงินและมีหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินจำนวนสองแปลงแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์จะชำระเงินให้แก่จำเลย จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว? ต่อมาภายหลังพ้นกำหนด ๖ เดือน ตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยื่นคำร้องขอวางเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อศาลเพื่อให้จำเลยรับไป กับขอให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์แทน โดยอ้างว่าจำเลยผัดผ่อนและผิดนัดการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์วางเงินดังกล่าวเพื่อชำระแก่จำเลยและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์

          จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผิดนัดไม่ไปรับโอนที่ดินภายในกำหนด จำเลยจึงไม่จำต้องโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วออกใบแทนกับจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยได้ทำกันไว้

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากไม่รับโอนที่ดินภายในกำหนดเวลา ๖ เดือน หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ ระบุให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ภายใน ๖ เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ตกลงชำระเงินให้จำเลยจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท หากจำเลยผิดนัด จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองได้ทันทีและถือเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการที่จำเลยจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็จะชำระราคา รวมทั้งภาระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอื่น ๆ ให้แก่จำเลย เมื่อคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีวัตถุประสงค์ดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา ๖ เดือนไว้ จึงเป็นกำหนดระยะเวลาให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติก็บังคับคดีกันไปเพื่อให้สมวัตถุประสงค์แห่งการทำสัญญาที่ต้องการให้ข้อพิพาทระหว่างกันระงับไปด้วยวิธีการดังกล่าว หาใช่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะทำให้ข้อกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นผลไป โดยคู่สัญญาไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด เนื่องจากไม่เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันตามที่โจทก์จำเลยมีเจตนาในการเข้าทำสัญญามาแต่ต้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์วางเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อศาลแล้วแม้จะเกินเวลา ๖ เดือน จำเลยจึงต้องรับเงินและมีหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ในข้อนี้ชอบแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเหตุผลตามฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ปรีดี รุ่งวิสัย - ทองหล่อ โฉมงาม - สมศักดิ์ เนตรมัย )
ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี - นายคมกริช ภัทรพิทักษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์

              

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-27 23:25:09



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล