ReadyPlanet.com


ต้นไม้ข้างบ้าน


 ข้างบ้านดิฉันปลูกต้นมะขามใหญ่ แล้วแผ่กิ่งก้านมาทางบ้านดิฉัน ทำให้ใบมะขามร่วงมาทับหลังคา ตอนแรกนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่พอนานวันเข้า หลังคามันเริ่มแ่อ่นจากการทับถมของใบมะขาม และหลังคาเริ่มผุ บอกให้ข้างบ้านเค้าตัดออกแล้วเค้าไม่ตัดออก ดิฉันจะต้องทำอย่างไรค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ชลลดา :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-14 08:15:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2199826)

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำถามมีดังนี้

มาตรา 434    ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดีหรือบำรุงรักษาไม่ เพียงพอก็ดีท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ จำต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทนแต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
 

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความ บกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 16:06:30


ความคิดเห็นที่ 2 (2199830)

ความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้ปลูกในที่ดิน

ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลย ผู้ครองหรือเจ้าของต้นมะพร้าวต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4128/2528


 การไฟฟ้านครหลวง      โจทก์

          แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 จะบัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นไม้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตามแต่มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลยโจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพุทธศักราช 2501 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2525 ต้นมะพร้าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในความครอบครองร่วมกันของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ไม่บำรุงรักษาและตรวจสอบว่ารากของต้นมะพร้าวดังกล่าวและพื้นดินใกล้โคนมะพร้าวนั้นว่าอยู่ในสภาพแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของลำต้นรวมทั้งดอกผลและใบได้หรือไม่ จนเป็นเหตุให้ต้นมะพร้าวดังกล่าวล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าดึงรั้งเสาไฟฟ้าหั 1 ต้น เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของต้นมะพร้าวตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าหรือผู้ครอบครอง ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องไม่มีเหตุการณ์ตามฟ้องเกิดขึ้น หากจะมีก็มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสองเพราะต้นมะพร้าวที่โจทก์กล่าวอ้างได้รับการดูแลอย่างดีจากจำเลยทั้งสองมีความแข็งแรงมั่นคง เหตุที่ล้มก็เพราะเกิดจากลมพายุ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการบกพร่องในการปลูกต้นมะพร้าว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลย ซึ่งแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 434 บัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นมะพร้าวต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่โจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ครั้งนี้เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยอยู่นั่นเอง หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่

          พิพากษายืน

( สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์ - ยนต์ พิรวินิจ - สมประสงค์ พานิชอัตรา )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 16:12:46


ความคิดเห็นที่ 3 (2199834)

ความบกพร่องในการใช้ความระมัดระวังหรือบำรุงรักษาของผู้ครองในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1028/2505

          โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้เช่าที่ดินของวัดปลูกเรือนอาศัยอยู่จำเลยได้ปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่จำเลยเช่าแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาปกคลุมหลังคาเรือนโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินของวัดปลูกบ้านเรือนอาศัยติดต่อกัน จำเลยปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วง 3 ต้น ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ซึ่งจำเลยเช่าแผ่กิ่งก้านสาขาล้ำเข้ามาปกคลุมเรือนโจทก์ด้านหลัง ต้นมะม่วงต้นหนึ่งทอดเอนเข้ามาในระดับต่ำ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถสร้างกำแพงบ้านให้เสร็จไปได้ เพราะไปติดต้นมะม่วงเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายตามรายการคิดเป็นเงิน 4,000 บาท ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยตัดหรือรานต้นหรือกิ่งมะม่วงที่รุกล้ำในที่ดินที่โจทก์ครอบครองและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย

          จำเลยให้การสู้คดี และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

          คู่ความตกลงกันขอให้ศาลชี้ขาดในปัญหาข้อเดียวว่า "การที่โจทก์ครอบครองที่เช่าแล้วปลูกบ้านของโจทก์ลงในที่เช่า โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในประเด็นที่ว่าจำเลยได้ปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วงแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาปกคลุมหลังคาเรือนโจทก์หรือไม่" ถ้าวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง ถ้าวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยอมแพ้คดี

          ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี

          จำเลยทั้ง 2 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า พิพากษายืนในผล

          จำเลยที่ 1 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รูปคดีไม่ใช่เรื่องแดนแห่งกรรมสิทธิ์แต่เป็นเรื่องความบกพร่องในการใช้ความระมัดระวังหรือบำรุงรักษาของผู้ครองในการปลูกฤาค้ำจุนต้นไม้ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นเมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหาย ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ครองได้ ฯลฯ

          พิพากษายืน

( ไชยเจริญ สันติศิริ - พจน์ ปุษปาคม - สารกิจปรีชา )

  

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 16:17:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล