ReadyPlanet.com


ผู้จัดการมรดก


ขอเรียนถามว่า สามีเสียชีวิตแล้วและศาลมีคำสั่งให้ภรรยาเป็นผู้จัดการมรดก นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็ 5 ปีแล้ว ขณะที่สามีตายพ่อกับแม่สามียังมีชีวิตอยู่ และผู้ตายมีน้องอีก 1 คน  เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วภรรยาได้ผ่อนบ้านซึ่งเป็นชื่อสามีต่อ แต่ไม่ได้ยกบ้านหลังดังกล่าวให้แก่ทายาท ต่อมาพ่อสามี+น้องสาวสามีจะมาฟ้องขอแบ่งมรดกในบ้านหลังดังกล่าวได้หรือไม่ และถ้าภรรยาจะรีบไปโอนให้บุตรจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขอบคุณมากค่ะ (ปัจจุบันหลังโฉนดยังเป็นชื่อของสามีอยู่ค่ะ)



ผู้ตั้งกระทู้ ภรรยา :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-12 12:44:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2216903)

มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

กฎหมายบอกว่า เมื่อสามีคุณตาย (สามีจดทะเบียนสมรส) ทรัพย์สินของผู้ตายตกทอดแก่ทายาท

ทายาทโดยธรรมคือใคร??

มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
 

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635

 ขณะสามีของคุณถึงแก่ความตาย มีพ่อ+แม่+น้อง+ภริยา+บุตร

กฎหมายบอกว่า ผู้มีสิทธิรับมรดกได้คือ ผู้สืบสันดาน(บุตร) +บิดามารดา+ภริยา

มรดก กับ สินสมรส

ต้องแบ่งสินสมรส ระหว่างสามี ภริยาเสียก่อน ที่เหลือจึงจะเป็นมรดกของผู้ตาย

ตามคำถามคุณมุ่งถามประเด็นเรื่องบ้านที่ยังอยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อยู่ ดังนั้นจึงขอแนะนำดังนี้ครับ ที่ดินพร้อมบ้าน ถ้าได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส เมื่อยังมีภาระหนี้อยู่ย่อมต้องมีหน้าที่ชำระหนี้คนละส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อชำระหนี้แล้วที่เหลือนำมาแบ่งกันคนละครึ่ง ตกเป็นสินสมรสของภรรยา และมรดกของผู้ตาย

สำหรับมรดกของผู้ตายให้นำมาแบ่งกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน (บิดา+มารดา+บุตร+ภริยา)

ปัญหาว่าจะแบ่งอย่างไร?? เมื่อทรัพย์ยังมีภาระหนี้อยู่ ? ทางออกก็คงต้องอาจขายติดจำนองหรือตีราคาแล้วประมูลกันเองก็ได้ครับ

คำถามว่า ภริยา จะโอนให้บุตรได้หรือไม่ จะผิดกฎหมายหรือไม่?

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกคือ แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาท ถ้าผู้จัดการมรดกนำมรดกไปโอนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งโดยทำให้เสียหายแก่ทายาทคนใดคนหนึ่ง ทายาทคนที่ได้รับความเสียหายเขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในส่วนที่เขาควรได้รับคืนได้ นอกจากนั้น ผู้จัดการมรดกอาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ในความผิดฐานผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ได้นะครับ

สรุป พ่อ+แม่ ฟ้องได้ น้องสาวฟ้องไม่ได้เพราะเป็นทายาทผู้ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายครับ เนื่องจากเป็นทายาทชั้นถัดลงไป ถูกชั้นที่1 และที่ 2 ตัดไม่ให้ได้รับมรดกตาม

มาตรา 1630 ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทน ที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-16 00:44:05


ความคิดเห็นที่ 2 (2216907)

ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดกเป็นการถือครองแทนทายาทไม่ขาดอายุความ

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน เมื่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกไปให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งก็เป็นการแบ่งทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย จำเลยผู้รับโอนย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่รับโอนมา แม้ทรัพย์มรดกจะได้โอนเสร็นสิ้นนานเท่าใดก็ตาม แต่เป็นการจัดการมรดกที่ไม่ชอบถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และทายาทอื่นย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งมรดกใหม่โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7458/2553
 

          กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง และประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ดังนั้นแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันและคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากคดีหมายเลขที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนาย ย. หรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540

            เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

          ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนาย ย. และนาง น. ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนาย ย. และนาง น. อยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสในภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยนาย ย. ได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนาง น. ได้ 1 ใน 3 ส่วน
________________________________

          โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14242 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 6 ตารางวา พร้อมบ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวที่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 ให้กลับคืนสู่สภาพทรัพย์มรดกของนายยิ้ม ขอให้กำจัดมิให้จำเลยรับทรัพย์มรดกในส่วนของตนที่จะได้รับและให้กลับคืนสู่สภาพเป็นทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่โจทก์ทั้งสี่ต่อไป และขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14242 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนเมื่อวันที่13 สิงหาคม 2535 ให้กลับสู่สภาพทรัพย์มรดกของนายยิ้ม ผู้ตาย เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคน โดยให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำร้องในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สองประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน และคดีหมายเลขแดงที่1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายยิ้มหรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนางนองสินเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ้ม เมื่อวันที่ นางนองสินจึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนายยิ้มไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 และถือได้ว่า นางนองสินครอบครอบทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนายยิ้มทุกคน แม้ต่อมานางนองสินในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า เป็นทรัพย์มรดกของนายยิ้มให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนายยิ้ม ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายยิ้มและยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางนองสิน ก็ต้องถือว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความมรดก

          อนึ่ง ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายยิ้มและนางนองสิน ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนายยิ้มและนางนองสินอยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยนายยิ้มได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนางนองสินได้ 1 ใน 3 ส่วน สินสมรสส่วนของนายยิ้มตกเป็นกองมรดกของนายยิ้มที่จะตกแก่ทายาทโดยธรรมคือนางนองสิน นายโกสินทร์ โจทก์ที่ 4 และจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629, 1630, 1634 และ 1635 (1) คนละ 1 ใน 4 ส่วนของมรดกหรือ 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินพิพาท แต่เมื่อนายโกสินทร์ถึงแก่ความตายก่อนนายยิ้มเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้สืบสันดานของนายโกสินทร์จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายโกสินทร์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 1 ใน 18 ส่วนของที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1634 (2) โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น แต่เพื่อความสะดวกในการแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแทนการให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 18 ส่วน และให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 1 ใน 6 ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์ทั้งสี่นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ทั้งสี่เท่าที่ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยให้เป็นพับ


( บุญมี ฐิตะศิริ - สิทธิชัย พรหมศร - จักร อุตตโม )

ศาลจังหวัดนนทบุรี - นางมนทกานติ ช้างหัวหน้า
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายเฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์

    

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-16 00:57:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล