ReadyPlanet.com


แฟนเป็นชาวอังกฤษต้องการอย่าขาดภรรยาไทยที่ไม่ได้ติดต่อกันเกือบ3ปีแล้วทำไงดีคะ


แฟนดิฉันเป็นชาวอังกฤษเคยจดทะเบียนกับภรรยาคนไทยเมื่อปี2008มีลูกสาวด้วยกัน1คนแต่เมื่อสองปีก่อนผู้หญิงคนนั้นได้พาลูกสาวไปอยู่ที่อื่นโดยไม่มีที่อยู่สามารถติดต่อได้ ปัจจุบันดิฉันอยู่กับแฟน1ปีและมีลูกชายด้วยกันอายุ2เดือนแฟนต้องการทึ่จะแต่งงานจดทะเบียนกับดิฉัน แฟนดิฉันและดิฉันควรทำอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ขิง :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-29 14:56:16


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2209916)

สามีต่างด้าวมีสิทธิฟ้องหย่าได้ แต่ก็คงต้องฟังอีกฝ่ายหนึ่งก่อนว่าเขามีข้อต่อสู้อะไรหรือไม่? เช่น เหตุที่เขาหอบลูกหนีไปเพราะสามีต่างด้าว ทำร้าย หรือไล่ออกจากบ้านเป็นต้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ให้มาแม้เป็นความจริง แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ก็ต้องอาศัยพยานหลักฐานอีกมาก

และที่สำคัญก็คือ การที่สามีฟ้องหย่า ภริยามีสิทธิที่จะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย ที่เรียกว่า "ค่าทดแทน" เนื่องจาก ---(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
 

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
 

กรณีตามคำถามอาจอ้างเหตุฟ้องหย่าได้ตามนี้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
 

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-27 11:43:23


ความคิดเห็นที่ 2 (2209918)

การจดทะเบียนสมรสกฎหมายคุ้มครองให้คู่สมรสได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต่างมีหน้าที่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูทำให้อีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี กฎหมายคุ้มครองให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ สำหรับสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูมิได้เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าเท่านั้น
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4959/2552

          วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2548 อันเป็นวันฟ้อง เป็นต้นไป ค่าฤชาธรรมเนียมของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา

          ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องที่ ท.1197/2551 พิเคราะห์แล้ว โจทก์ต้องขอถอนคำฟ้องที่เริ่มต้นคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจะขอถอนคำฟ้องขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ระหว่างอยู่กินด้วยกันจำเลยเคยส่งเงินผ่านบัญชีของบุตรดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์เดือนละ 10,000 บาท ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 8,000 บาท กับเดือนละ 6,000 บาท ตามลำดับ ครั้นปี 2539 โจทก์กับจำเลยได้แยกกันอยู่ และตั้งแต่ปี 2547 จำเลยเกษียณอายุราชการและไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์อีกต่อไป จำเลยได้รับบำนาญหลังจากหักภาษีและค่าฌาปนกิจแล้วเป็นเงิน 23,000 บาทเศษ ส่วนโจทก์ไม่มีรายได้

          ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เบื้องแรกเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์แห่งการสมรสก็เพื่อที่จะให้ชายหญิงคู่สมรสได้อยู่กินฉันสามีภริยา ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และตามมาตรา 1598/38 ที่บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้ได้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพ หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่าดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ส่วนที่จำเลยอ้างเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า จำเลยและโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2539 และนับจากเวลาดังกล่าวโจทก์เองไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ และโจทก์ไม่มีอาชีพหรือรายได้ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เพียงใด เห็นว่า จำเลยมีรายได้จากบำนาญในอัตราเดือนละ 23,000 บาทเศษ และมีหนี้อีกหลายจำนวนที่จะต้องผ่อนชำระซึ่งบางจำนวนนำมาซื้อบ้านเพื่อใช้พักอาศัยกับหญิงที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา ทั้งต้องใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหญิงดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่สามารถเบิกจากทางราชการได้ อย่างไรก็ดี แม้จำเลยจะแยกไปอยู่กับหญิงดังกล่าว จำเลยก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยข้างต้น เมื่อคำนึงถึงความสามารถของจำเลยและพฤติการณ์ที่จำเลยมีภาระหนี้เนื่องเพราะไปอุปการะหญิงอื่น ตลอดจนฐานะของโจทก์ผู้รับซึ่งไม่มีรายได้และอาชีพ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในอัตราเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปโดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ด้วยเหตุผลว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์จนกว่าโจทก์หรือจำเลยถึงแก่ความตายหรือความเป็นสามีภริยาได้สิ้นสุดนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น คำพิพากษา วันที่ตอบ 2011-08-27 11:56:30


ความคิดเห็นที่ 3 (2209923)

เรียกค่าทดแทนจากภริยานอกกฎหมาย

อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสต่อมาสามีไปมีหญิงอื่นและจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายในกรณีนี้ใครมีสิทธิดีกว่ากันแล้วภริยาชอบด้วยกฎหมายจะเรียกค่าทดแทนจากภริยานอกกฎหมายได้หรือไม่ คำตอบก็คือเมื่อชายหญิงอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันทางกฎหมาย สำหรับหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสในภายหลังย่อมเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี ภริยานอกสมรสรู้แล้วยังอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไปถือว่าเป็นการละเมิดต่อภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยานอกกฎหมายได้


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6164/2552

          เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายเทพบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และเด็กชายเทพในอัตราเดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

          จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวนเงิน 20,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ทั้งที่รู้อยู่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แล้วว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากัน เป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่น คือ จำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 2 เมื่อรู้แล้วว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว หากรับการอุปการะเลี้ยงดูหรือรับการยกย่องฉันภริยาก็ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้ โดยถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

          ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้ขณะจำเลยที่ 2 เริ่มมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ในเดือนตุลาคม 2543 จึงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 และเมื่อได้ความด้วยว่า ประมาณปลายปี 2544 จำเลยที่ 2 ได้ย้ายกลับไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองจึงน่าจะห่างกันไปแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ยังคงได้รับการให้เกียรติจากญาติตลอดจนเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 1 ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ 20,000 บาท นั้น จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเห็นสมควรให้ตกเป็นพับ.

( พิศาล อัยยะวรากูล - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - ไชยยงค์ คงจันทร์ )
ศาลจังหวัดชัยภูมิ - นายสุชาย จอกแก้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์
 ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง              

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-27 12:05:10


ความคิดเห็นที่ 4 (2209925)

เรียกค่าทดแทนจากสามีและเมียน้อย

ภริยาเรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่นที่สามีอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา แม้ภริยาจะทราบว่าหญิงอื่นนั้นทำละเมิดต่อตนเกินหนึ่งปีก็ยังไม่ขาดอายุความ การที่ภริยาไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสามีและของหญิงอื่นแสดงว่าภริยาไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของบุคคลทั้งสอง และการที่ศาลอนุญาตให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเพราะเหตุสามียกย่องหญิงอื่น ดังนั้นภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากบุคคลทั้งสองได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-27 12:18:07


ความคิดเห็นที่ 5 (2209926)

เรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว

กฎหมายให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ค่าทดแทนพิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับเช่นสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อาชีพรับราชการ มีเกียรติในวงสังคม สมรสกับสามีนาน 10 ปี มีบุตรด้วยกันเป็นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-27 12:21:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล