ReadyPlanet.com


โดนหลอกให้ออกรถ(เช่าซื้อ)


 ขอปรึกษาหน่อยค่ะว่าควรทำอย่างไร  คือเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นหนูอายุ 20 ปีและอาศัยอยู่บ้านป้าเพราะพ่อแม่แยกทางกัน ป้าให้หนูเป็นผู้ออกรถให้ 1 คัน และให้หลานเขาเป็นผู้ค้ำ เงินที่ออกเป็นของเขา แล้วป้าบอกว่าเขาจะผ่อนเอง เขาออกรถเองไม่ได้ เพราะก่อนหน้านั้นเขาออกไปแล้ว และยังผ่อนไม่หมด ส่วนรถที่หนูออกให้ เขาได้เอาไปขายแล้ว และผ่อนเพียงงวดเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ผ่อนอีกเลย จนตอนนี้ทางบริษิท ใกล้จะฟ้องร้องแล้ว เพราะมันหมดสัญญาไปนานแล้ว หนูไม่รู้ว่าจะเอาผิดป้าได้อย่างไร และให้เขาชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าจะหาพยานและหลักฐานอะไรไปเอาผิดเขา ทำงานก็ได้เพียงเดือนละ 4000-5000 บาทเอง ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายให้ทางบริษัท ช่วยหาทางออกให้หน่อยนะคะ  ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ หนูเมย์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-28 02:02:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2208978)

ในกรณีของคุณขอแสดงความเห็นไว้ดังนี้

1. เมื่อคุณถูกฟ้อง ควรติดต่อทนายความต่อสู้คดีและร้องสอดโดยเรียกให้ป้ามาเป็นจำเลยร่วม ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อ

2. ปล่อยให้เขาฟ้องและศาลมีคำพิพากษา เมื่อคุณไม่มีอะไรให้เจ้าหนี้บังคับคดี 10 ปี ก็จบเพราะเจ้าหนี้ต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-24 14:16:59


ความคิดเห็นที่ 2 (2209014)

 ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ตัวแทนเชิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4446/2545
 

          ขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์และเสนอขายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงกันไว้ว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์จากโจทก์และนำมาชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างว่าหากโจทก์ตรวจสอบพบชื่อของจำเลยที่ 1 ในสมุดรับประกันและสอบถามไปก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์จากจำเลยที่ 2 ไม่เป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เพราะสิทธิหน้าที่และความรับผิดระหว่างตัวการกับตัวแทนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องว่ากล่าวเอาเองอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์
_______________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมายหรือสั่งการ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ซื้อรถยนต์กระบะซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ในราคา 280,500 บาท โดยในวันดังกล่าวโจทก์วางเงินจองไว้ 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ชำระราคาที่เหลืออีกจำนวน270,500 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ครอบครอง โดยจำเลยที่ 1 ออกสมุดรับประกันและคูปองตรวจสภาพรถยนต์อันเป็นบริการหลังการขายให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันดังกล่าวได้ ซึ่งโจทก์อาจนำออกให้ผู้อื่นเช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทพร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 280,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ให้โจทก์ในอัตราเดือนละ30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนหรือใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการจำหน่ายและรับเงินค่าซื้อขายรถยนต์ แต่จำเลยที่ 1จำหน่ายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระราคารถยนต์พิพาทครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 รับรถยนต์พิพาทพร้อมเอกสารจากจำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระราคาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีและแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ราคาจำนวน 280,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะจดทะเบียน และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนให้โจทก์หรือใช้ราคาแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน24 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

           โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โอนทะเบียนรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีน้ำเงิน หมายเลขเครื่อง 2 แอล - 9420726 หมายเลขแชสซี แอลเอ็น 85-7101772 พร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากโจทก์และชำระเงินคืนจำนวน 280,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน ดังกล่าวนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์หรือจนกว่าชำระเงินคืนเสร็จสิ้นแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 24 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 1 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทสมุดรับประกันภัย และบัตรตรวจสภาพรถยนต์ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ นายเกรียงไกร พิทักษ์ชัชวาลย์ ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินคดีแทนเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายปี 2539 จำเลยที่ 2 ติดต่อขอซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า จำนวน 3 คันจากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าว ณ สำนักงานของจำเลยที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร หากมีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อรถยนต์และจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์ได้แล้ว จำเลยที่ 2 จะส่งมอบเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1แล้วจำเลยที่ 1 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อจำเลยที่ 1 จึงได้มอบรถยนต์ใหม่ 3 คัน รวมรถยนต์คันพิพาทให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ที่มารับรถ พร้อมสมุดรับประกัน และนายเกรียงไกรเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดต่อซื้อรถยนต์ด้วยวิธีการดังกล่าวหลายครั้งการซื้อขายก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 ชำระราคาค่ารถยนต์ให้จำเลยที่ 1 ทุกครั้ง แล้วจำเลยที่ 1จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อต่อไป ส่วนลูกค้าผู้ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 จะทราบข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ พยานไม่ทราบ นายเกรียงไกรยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า หากโจทก์ตรวจสอบสมุดรับประกันและพบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และสอบถามมาก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ศาลฎีกาเห็นว่า นายเกรียงไกรผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลการขายบริการ และอะไหล่รวมทั้งดูแลด้านการเงินให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วย นายเกรียงไกรจึงย่อมจะต้องรู้ถึงข้อตกลงและวิธีการที่จำเลยที่ 1 และลูกค้าของจำเลยที่ 1 ยึดถือปฏิบัติระหว่างกันเป็นอย่างดีดังนั้น คำเบิกความของนายเกรียงไกรข้างต้นจึงมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่า มีข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่นายเกรียงไกรเบิกความไว้เป็นจริง แสดงว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์พิพาทและเสนอขายให้แก่โจทก์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์และนำเงินดังกล่าวมาชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างว่าหากโจทก์ตรวจสอบพบชื่อของจำเลยที่ 1 ในสมุดรับประกันและสอบถามไปก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ายังไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้โจทก์ฟังไม่ขึ้น เพราะสิทธิหน้าที่ และความรับผิดระหว่างตัวการกับตัวแทนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องว่ากล่าวเอาเองอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( อัธยา ดิษยบุตร - ปรีดี รุ่งวิสัย - สมศักดิ์ เนตรมัย )

 
  

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-24 15:35:48


ความคิดเห็นที่ 3 (2209024)

ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ตัวแทนโดยปริยายได้กระทำไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1664/2548
 

          จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ นางสาว ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ยังตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อน ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 752,356 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และจากต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยทั้งหมดคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มกราคม 2541) ให้รวมกันไม่เกิน 52,356 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท

          จำเลยที่ 2 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 5 ห้อง เป็นเงิน 4,200,000 บาท ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลตำบลแม่สอดด้วยตนเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จ นางสาวทิพวรรณหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำนวนหนี้ตามคำฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าพื้นหินขัดออกก่อน จำเลยที่ 1 จึงยังค้างค่าจ้างก่อสร้างอยู่เพียง 200,000 บาท มิใช่ 700,000 บาท นั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจำเลยที่ 2 จึงจะยอมให้มีการหักจำนวนเงินดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างกันได้ เพราะหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารพาณิชย์ไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เคยมาติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องตัวแทนเชิด จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ด้วย

          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์.

( พีรพล พิชยวัฒน์ - ธาดา กษิตินนท์ - องอาจ โรจนสุพจน์ )

ศาลจังหวัดแม่สอด - นางสาวนันทิยา สิริวรการวณิชย์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายสมศักดิ์ ตันติภิรมย์

        

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-24 16:12:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล